"มารสังยุต" ตโปกรรมสูตรที่ ๑

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ไมยราพ, 7 มกราคม 2012.

  1. ไมยราพ

    ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    ตติยวรรคที่ ๓

    สัมพหุลสูตรที่ ๑

    [๔๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่นครศิลาวดี ในแคว้นสักกะ ฯ
    ก็สมัยนั้นแล ภิกษุมากรูปด้วยกัน เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตน
    อันส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค ฯ

    [๔๗๙] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปนิรมิตเพศเป็นพราหมณ์มุ่นชฎาใหญ่ นุ่ง
    หนังเสือ แก่หลังโกง หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้า
    ไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงกล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ท่านบรรพชิตผู้-
    *เจริญทั้งหลายล้วนแต่เป็นคนหนุ่มกระชุ่มกระชวย มีผมดำ ประกอบด้วยความหนุ่ม
    แน่น ยังไม่เบื่อในกามารมณ์ทั้งหลายด้วยปฐมวัย ขอท่านจงบริโภคกามอันเป็น
    ของมนุษย์ อย่าละผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราวเลย ฯ
    ภิกษุเหล่านั้นตอบว่า ดูกรพราหมณ์ พวกเราย่อมไม่ละผลอันเห็นเอง
    วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว แต่เราทั้งหลายละผลชั่วคราววิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง ดูกร
    พราหมณ์ เพราะว่ากามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่าเป็นของชั่วคราว มีทุกข์
    มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายมีโดยยิ่ง ธรรมนี้มีผลอันเห็นเอง
    ให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นของควรเรียกกันมาดู ควรน้อมมาไว้ในตน อันวิญญูชน
    ทั้งหลายพึงรู้ได้เฉพาะตน ฯ
    เมื่อภิกษุเหล่านั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว มารผู้มีบาปจึงสั่นศีรษะ แลบลิ้น
    ทำหน้าขมวดเป็นสามรอย จดจ้องไม้เท้าหลีกไป ฯ

    [๔๘๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ
    ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ภิกษุเหล่านั้นครั้น
    นั่งแล้ว จึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ไม่
    ประมาท บำเพ็ญความเพียร มีตนอันส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้
    พระเจ้าข้า มีพราหมณ์คนหนึ่ง มุ่นชฎาใหญ่ นุ่งหนังเสือเป็นคนแก่ หลังโกง
    หายใจเสียงดังครืดคราด ถือไม้เท้าทำด้วยไม้มะเดื่อ เข้าไปหาข้าพระองค์ยังที่อยู่
    ครั้นแล้วได้กล่าวกะข้าพระองค์ว่า ท่านบรรพชิตผู้เจริญทั้งหลาย ล้วนแต่เป็นคน
    หนุ่มกระชุ่มกระชวย มีผมดำ ประกอบด้วยความหนุ่มแน่น ยังไม่เบื่อใน
    กามารมณ์ทั้งหลายด้วยปฐมวัย ขอท่านจงบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์ อย่าละ
    ผลอันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราวเลย พระเจ้าข้า เมื่อพราหมณ์กล่าวอย่างนี้แล้ว
    พวกข้าพระองค์ได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ดูกรพราหมณ์ พวกเราย่อมไม่ละผล
    อันเห็นเอง วิ่งไปสู่ผลชั่วคราว แต่พวกเราละผลชั่วคราว วิ่งไปสู่ผลอันเห็นเอง
    ดูกรพราหมณ์ เพราะกามทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เป็นของชั่วคราว มี
    ทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามทั้งหลายนั้นมีโดยยิ่ง ธรรมนี้มีผลอัน
    เห็นเอง ให้ผลไม่จำกัดกาล เป็นของควรเรียกมาดู ควรน้อมไว้ในตน อัน
    วิญญูชนทั้งหลายพึงรู้เฉพาะตน พระเจ้าข้า เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้แล้ว
    พราหมณ์นั้นสั่นศีรษะ แลบลิ้น ทำหน้าขมวดเป็นสามรอย จดจ้องไม้เท้า
    หลีกไป ฯ

    [๔๘๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั้นมิใช่พราหมณ์
    นั้นเป็นมารผู้มีบาป มาเพื่อกำบังตาเธอทั้งหลาย ฯ
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงภาษิตพระคาถา
    นี้ในเวลานั้นว่า

    ผู้ใดได้เห็นทุกข์มีกามเป็นเหตุแล้ว ไฉนผู้นั้นจะพึงน้อมใจ
    ไปในกามเล่า บุคคลผู้ทราบอุปธิว่า เป็นเครื่องข้องอยู่ในโลก
    แล้ว พึงศึกษาเพื่อกำจัดอุปธินั้นเสีย ฯ
     
  2. ไมยราพ

    ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    สมิทธิสูตรที่ ๒

    [๔๘๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่กรุงศิลาวดี ในแคว้นสักกะ ฯ
    ก็สมัยนั้นแล ท่านสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตนอัน
    ส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาค ฯ

    ครั้งนั้นแล ท่านสมิทธิผู้พักผ่อนอยู่ในที่ลับ มีความปริวิตกแห่งจิตเกิด
    ขึ้นอย่างนี้ว่า เป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็น
    พระศาสดาของเรา เป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้บวชในพระธรรมวินัย อัน
    พระศาสดาตรัสดีแล้วอย่างนี้ เป็นลาภของเราดีแท้ที่เราได้เพื่อนพรหมจรรย์อันมี
    ศีลมีกัลยาณธรรม ฯ

    [๔๘๓] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่านสมิทธิ
    ด้วยจิตแล้ว เข้าไปหาท่านสมิทธิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว จึงทำเสียงดังน่ากลัว
    น่าหวาดเสียวประดุจแผ่นดินจะถล่ม ณ ที่ใกล้ท่านสมิทธิ ฯ

    [๔๘๔] ลำดับนั้น ท่านสมิทธิเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับ
    ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ท่านสมิทธิครั้นนั่ง ณ
    ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว จึงได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นผู้ไม่ประมาท
    มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้ว อยู่ในที่ใกล้พระองค์ ณ ที่นี้ พระเจ้าข้า
    ข้าพระองค์อยู่ในที่ลับเร้น มีความปริวิตกแห่งจิตเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า เป็นลาภของ
    เราดีแท้ที่เราได้พระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นพระศาสดาของเรา เป็นลาภ
    ของเราดีแท้ที่เราได้บวชในพระธรรมวินัยอันพระศาสดาตรัสดีแล้วอย่างนี้ เป็น
    ลาภของเราดีแท้ที่เราได้เพื่อนพรหมจรรย์ อันมีศีลมีกัลยาณธรรม พระเจ้าข้า
    ขณะนั้น ก็ได้มีเสียงดังน่ากลัว น่าหวาดเสียวประดุจแผ่นดินจะถล่ม เกิดขึ้นใน
    ที่ใกล้ข้าพระองค์ ฯ

    [๔๘๕] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สมิทธิ นั้นไม่ใช่แผ่นดินจะถล่ม นั้น
    เป็นมารผู้มีบาปมาเพื่อกำบังตาเธอ เธอจงไปเถิด สมิทธิ จงเป็นผู้ไม่ประมาท
    มีความเพียร มีตนอันส่งไปแล้วอยู่ในที่นั้นตามเดิมเถิด ฯ
    ท่านสมิทธิรับพระดำรัสแล้วลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มี
    พระภาค ทำประทักษิณแล้วหลีกไป ฯ

    [๔๘๖] แม้ครั้งที่สอง ท่านสมิทธิเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีตน
    อันส่งไปแล้วอยู่ในที่นั้นนั่นเอง แม้ในครั้งที่สอง ท่านสมิทธิไปในที่ลับเร้นอยู่ มี
    ความปริวิตกเกิดขึ้นอย่างนี้ ฯลฯ แม้ในครั้งที่สอง มารผู้มีบาปทราบความปริวิตก
    แห่งจิตของท่านสมิทธิด้วยจิตแล้ว ฯลฯ จึงทำเสียงดังน่ากลัว น่าหวาดเสียว
    ประดุจแผ่นดินจะถล่ม ณ ที่ใกล้ท่านสมิทธิ ฯ

    [๔๘๗] ลำดับนั้น ท่านสมิทธิทราบว่า ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาป จึงกล่าว
    กะมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า

    เราหลีกออกจากเรือนบวชเป็นผู้ไม่มีเรือนด้วยศรัทธา สติ
    และปัญญาของเรา เรารู้แล้ว อนึ่ง จิตของเราตั้งมั่นดีแล้ว ท่าน
    จักบันดาลรูปต่างๆ อันน่ากลัวอย่างไร ก็จักไม่ยังเราให้หวาด
    กลัวได้เลยโดยแท้ ฯ

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า ภิกษุสมิทธิรู้จักเรา ดังนี้
    จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง ฯ
     
  3. ไมยราพ

    ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    โคธิกสูตรที่ ๓

    [๔๘๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน อันเป็นสถานที่
    พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตกรุงราชคฤห์ ฯ
    ก็สมัยนั้นแล ท่านโคธิกะ อยู่ที่กาลศิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ฯ

    [๔๘๙] ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิต
    มั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ ภายหลังท่านโคธิกะได้เสื่อมจากเจโต-
    *วิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๒ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
    มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๒ ก็ได้เสื่อมจาก
    เจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๓ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความ
    เพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๓ ก็ได้เสื่อม
    จากเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๔ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความ
    เพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๔ ก็ได้เสื่อม
    จากเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๕ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความ
    เพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๕ ก็ได้เสื่อม
    จากเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๖ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มีความ
    เพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ได้บรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์ แม้ในครั้งที่ ๖ ก็ได้เสื่อม
    จากเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์นั้น แม้ครั้งที่ ๗ ท่านโคธิกะเป็นผู้ไม่ประมาท มี
    ความเพียร มีจิตมั่นคงอยู่ ก็ได้บรรลุเจโตวิมุติอันเป็นโลกีย์อีก ฯ

    ครั้งนั้นแล ท่านโคธิกะได้เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เราได้เสื่อมจากเจโต-
    *วิมุติอันเป็นโลกีย์ถึง ๖ ครั้งแล้ว ถ้ากระไรเราพึงนำศัสตรามา ฯ

    [๔๙๐] ลำดับนั้นแล มารผู้มีบาปทราบความปริวิตกแห่งจิตของท่าน
    โคธิกะด้วยจิตแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้
    กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
    ข้าแต่พระองค์ผู้มีจักษุ มีเพียรใหญ่ มีปัญญามาก รุ่งเรือง
    ด้วยฤทธิ์และยศ ก้าวล่วงเวรและภัยทั้งปวง ข้าพระองค์ขอ
    ถวายบังคมพระบาททั้งคู่ ข้าแต่พระองค์ผู้มีเพียรใหญ่ สาวก
    ของพระองค์อันมรณะครอบงำแล้ว ย่อมคิดจำนงหวังความ
    ตาย ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งความรุ่งเรือง ขอพระองค์จง
    ห้ามสาวกของพระองค์นั้นเสียเถิด ฯ
    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้ปรากฏในหมู่ชน สาวกของพระองค์
    ยินดีในพระศาสนา ยังไม่ได้บรรลุพระอรหันต์อันตัดเสียซึ่ง
    มานะ ยังเป็นพระเสขะอยู่ ไฉนจะพึงกระทำกาลเสียเล่า ฯ
    ก็เวลานั้น ท่านโคธิกะได้นำศัสตรามาแล้ว ฯ

    [๔๙๑] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า ผู้นี้เป็นมารผู้มีบาป จึง
    ได้ตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาว่า

    ปราชญ์ทั้งหลายย่อมทำอย่างนี้แล ย่อมไม่ห่วงใยชีวิต โคธิกะ
    ภิกษุ ถอนตัณหาพร้อมด้วยราก นิพพานแล้ว ฯ

    [๔๙๒] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัส
    ว่า ภิกษุทั้งหลาย เรามาไปสู่กาลศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ อันเป็นที่โคธิกกุลบุตร
    นำศัสตรามาแล้ว ฯ
    ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ฯ
    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุหลายรูปได้เข้าไปยังกาลศิลา
    ข้างภูเขาอิสิคิลิ ฯ
    พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นโคธิกะมีคออันพลิกแล้ว นอนอยู่
    บนเตียงที่ไกลเทียว ก็เวลานั้นแล ควันหรือหมอกพลุ่งไปสู่ทิศตะวันออก ทิศ
    ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ ฯ

    [๔๙๓] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร
    ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นไหม ควันหรือหมอกนั้นพลุ่งไปสู่ทิศตะวันออก ทิศ
    ตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ เมื่อภิกษุ
    เหล่านั้นกราบทูลรับพระดำรัสแล้วจึงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นมารผู้มีบาป
    เที่ยวแสวงหาวิญญาณของโคธิกกุลบุตร ด้วยคิดว่า วิญญาณของโคธิกกุลบุตรตั้ง
    อยู่ ณ ที่ไหน ดูกรภิกษุทั้งหลาย โคธิกกุลบุตร มีวิญญาณอันไม่ตั้งอยู่แล้ว
    ปรินิพพานแล้ว ฯ

    [๔๙๔] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปถือพิณมีสีเหลืองเหมือนมะตูมสุก เข้า
    ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
    ข้าพระองค์ได้ค้นหาวิญญาณของโคธิกกุลบุตร ทั้งในทิศ
    เบื้องบน ทั้งทิศเบื้องต่ำ ทั้งทางขวาง ทั้งทิศใหญ่ ทิศน้อย
    ทั่วแล้ว มิได้ประสบ โคธิกะนั้นไป ณ ที่ไหน ฯ

    [๔๙๕] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
    นักปราชญ์ผู้ใดสมบูรณ์ด้วยธิติ มีปรกติเพ่งพินิจ ยินดีแล้ว
    ในฌานทุกเมื่อ พากเพียรอยู่ตลอดวันและคืน ไม่มีความ
    อาลัยในชีวิต ชนะเสนาของมัจจุราชแล้ว ไม่กลับมาสู่ภพ
    ใหม่ นักปราชญ์นั้นคือโคธิกกุลบุตร ได้ถอนตัณหาพร้อม
    ด้วยราก ปรินิพพานแล้ว ฯ

    พิณได้พลัดตกจากรักแร้ของมารผู้มีความเศร้าโศก ในลำดับนั้น ยักษ์
    นั้นมีความโทมนัส หายไปในที่นั้นนั่นเอง ฯ
     
  4. ไมยราพ

    ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    สัตตวัสสสูตรที่ ๔

    [๔๙๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้-
    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับที่ต้นอชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำ
    เนรัญชรา ณ ตำบลอุรุเวลา ฯ
    ก็สมัยนั้นแล มารผู้มีบาปติดตามพระผู้มีพระภาค คอยมุ่งหาช่องโอกาส
    สิ้น ๗ ปี ก็ยังไม่ได้ช่อง ฯ

    [๔๙๗] ภายหลังมารผู้มีบาป จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
    ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

    ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้มาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้
    ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ หรือว่ากำลัง
    ปรารถนาอยู่ ท่านได้ทำความชั่วอะไรๆ ไว้ในบ้านหรือ เหตุ
    ไรท่านจึงไม่ทำมิตรภาพกับชนทั้งปวงเล่า หรือว่าท่านทำมิตร-
    *ภาพกับใครๆ ไม่สำเร็จ ฯ

    [๔๙๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
    ดูกรมารผู้เป็นเผ่าของบุคคลผู้ประมาทแล้ว เราขุดรากของ
    ความเศร้าโศกทั้งหมดแล้ว ไม่มีความชั่ว ไม่เศร้าโศก เพ่ง
    อยู่ เราชนะความติดแน่น กล่าวคือความโลภในภพทั้งหมด
    เป็นผู้ไม่มีอาสวะ เพ่งอยู่ ฯ

    [๔๙๙] มารทูลว่า
    ถ้าใจของท่านยังข้องอยู่ในสิ่งที่ชนทั้งหลาย กล่าวว่าสิ่งนี้
    เป็นของเรา แลว่าสิ่งนี้เป็นเราแล้ว สมณะ ท่านจักไม่พ้น
    เราไปได้ ฯ

    [๕๐๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
    สิ่งที่ชนทั้งหลายกล่าวว่าเป็นของเรานั้น ย่อมไม่เป็นของเรา
    และสิ่งที่ชนทั้งหลายกล่าวว่า เป็นเรา ก็ไม่เป็นเราเหมือน
    กัน แนะ มารผู้มีบาป ท่านจงทราบอย่างนี้เถิด แม้ท่านก็
    จักไม่เห็นทางของเรา ฯ

    [๕๐๑] มารทูลว่า
    ถ้าท่านรู้จักทางอันปลอดภัย เป็นที่ไปสู่อมตมหานิพพาน ก็จง
    หลีกไปแต่คนเดียวเถิด จะพร่ำสอนคนอื่นทำไมเล่า ฯ

    [๕๐๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
    ชนเหล่าใดมุ่งไปสู่ฝั่ง ย่อมถึงพระนิพพาน อันมิใช่โอกาส
    ของมาร เราถูกชนเหล่านั้นถามแล้ว จักบอกว่า สิ่งใดเป็น
    ความจริง สิ่งนั้นหาอุปธิกิเลสมิได้ ฯ

    [๕๐๓] มารทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหมือนอย่างว่ามีสระโบกขรณี
    ในที่ไม่ไกลแห่งบ้านหรือนิคม ในสระนั้นมีปูอยู่ ครั้งนั้น พวกเด็กชายหรือพวก
    เด็กหญิงเป็นอันมาก ออกจากบ้านหรือนิคมนั้นแล้วเข้าไปถึงที่สระโบกขรณีนั่นตั้ง
    อยู่ ครั้นแล้วจึงจับปูนั้นขึ้นจากน้ำให้อยู่บนบก พระเจ้าข้า ก็ปูนั้นยังก้ามทุกๆ
    ก้ามให้ยื่นออก พวกเด็กชายหรือเด็กหญิงเหล่านั้น พึงริดพึงหักพึงทำลายก้ามนั้น
    เสียทุกๆ ก้ามด้วยไม้หรือก้อนหิน พระเจ้าข้า ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น ปูนั้นมีก้าม
    ถูกริด ถูกหัก ถูกทำลายเสียหมดแล้ว ย่อมไม่อาจก้าวลงไปสู่สระโบกขรณีนั้น
    อีกเหมือนแต่ก่อน ฉันใด อารมณ์แม้ทุกชนิดอันเป็นวิสัยของมาร อันให้สัตว์
    เสพผิด ทำให้สัตว์ดิ้นรน อารมณ์นั้นทั้งหมด อันพระผู้มีพระภาคตัดรอน
    หักรานย่ำยีเสียหมดแล้ว บัดนี้ ข้าพระองค์ผู้คอยหาโอกาส ย่อมไม่อาจเข้าไปใกล้
    พระผู้มีพระภาคได้อีก ฉันนั้น ฯ

    [๕๐๔] ครั้นแล้ว มารผู้มีบาปได้ภาษิตคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อ-
    *หน่ายเหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
    ฝูงกาเห็นก้อนหินมีสีดุจมันข้น จึงบินเข้าไปใกล้ด้วยเข้าใจว่า
    เราทั้งหลาย พึงประสบอาหารในที่นี้เป็นแน่ ความยินดีพึงมี
    โดยแท้ ฯ
    เมื่อพยายามอยู่ไม่ได้อาหารสมประสงค์ในที่นั้น จึงบิน
    หลีกไป ฯ
    ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ก็เหมือนกามาพบศิลา ฉะนั้น
    ขอหลีกไป ฯ

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปครั้นกล่าวคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่าย
    เหล่านี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงหลีกจากที่นั้น ไปนั่งขัดสมาธิที่พื้นดิน
    ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค เป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมด
    ปฏิภาณ เอาไม้ขีดแผ่นดินอยู่ ฯ
     
  5. ไมยราพ

    ไมยราพ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    17 เมษายน 2009
    โพสต์:
    495
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +201
    มารธีตุสูตรที่ ๕

    [๕๐๕] ครั้งนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา
    จึงพากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจึงถามพระยามารด้วยคาถาว่า

    ข้าแต่คุณพ่อ คุณพ่อมีความเสียใจด้วยเหตุอะไร หรือ
    เศร้าโศกถึงผู้ชายคนไหน หม่อมฉันจักผูกผู้ชายคนนั้นด้วย
    บ่วง คือราคะ นำมาถวาย เหมือนบุคคลผูกช้างมาจากป่า ฉะนั้น
    ชายนั้นจักตกอยู่ในอำนาจของคุณพ่อ ฯ

    [๕๐๖] พระยามารกล่าวว่า
    ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้
    อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมาร
    ไปแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก ฯ

    [๕๐๗] ครั้งนั้นแล มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึง
    พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่าง
    นี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจักขอบำเรอพระบาทของพระองค์ ฯ

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงใส่พระทัยถึงคำของนางมารธิดาเหล่า
    นั้น เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ

    [๕๐๘] ลำดับนั้น มารธิดา คือนางตัณหา นางอรดี นางราคา จึง
    หลีกออกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของ
    บุรุษมีต่างๆ กันแล อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรนิรมิตเพศเป็นนางกุมาริกาคน
    ละร้อยๆ ฯ

    ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึงพากันนิรมิต
    เพศเป็นนางกุมาริกาคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้ว
    กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอ
    พระบาทของพระองค์ ฯ

    พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงใส่พระทัยถึงถ้อยคำของมารธิดา เพราะพระองค์
    ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ

    [๕๐๙] ลำดับนั้น มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา
    พากันหลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ร่วมกันคิดอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของ
    บุรุษมีต่างๆ กัน อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรพากันจำแลงเพศเป็นหญิงยังไม่เคย
    คลอดบุตรคนละร้อยๆ ฯ

    ลำดับนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา จึง
    พากันจำแลงเพศเป็นหญิงยังไม่เคยคลอดบุตรคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี-
    *พระภาคถึงที่ประทับ แล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ
    พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอบาทของพระองค์ ฯ

    ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์
    ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ

    [๕๑๐] ฝ่ายนางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันหลีกไป ณ ที่ควร
    ข้างหนึ่งแล้ว ร่วมคิดกันอย่างนี้ว่า ความประสงค์ของบุรุษทั้งหลายมีต่างๆ กัน
    อย่ากระนั้นเลย พวกเราควรจำแลงเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้วคราวเดียวคนละ
    ร้อยๆ ฯ

    ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันจำแลงเพศเป็นหญิง
    คลอดแล้วคราวเดียวคนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้ว
    กราบทูลพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอบำเรอ
    พระบาทของพระองค์ ฯ

    ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรง
    น้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ

    [๕๑๑] ลำดับนั้นแล นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากัน
    จำแลงเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้ว ๒ คราว คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มี-
    *พระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง
    เพราะพระองค์ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ

    [๕๑๒] ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากัน
    จำแลงเพศเป็นหญิงกลางคน คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
    ฯลฯ ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เพราะพระองค์
    ทรงน้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ

    [๕๑๓] ลำดับนั้น นางตัณหา นางอรดี นางราคา ฯลฯ จึงพากัน
    จำแลงเพศเป็นหญิงผู้ใหญ่คนละร้อยๆ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ
    ฯลฯ แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึง เพราะพระองค์ทรง
    น้อมพระทัยไปในความสิ้นอุปธิกิเลสอย่างยอดเยี่ยม ฯ

    [๕๑๔] ลำดับนั้น มารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากัน
    หลีกไป ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงพูดกันว่า เรื่องนี้จริงดังบิดาของเราได้พูด
    ไว้ว่า
    ชายนั้นเป็นพระอรหันต์ ผู้ดำเนินไปดีแล้วในโลก ไม่เป็นผู้
    อันใครๆ พึงนำมาด้วยราคะได้ง่ายๆ ก้าวล่วงบ่วงมารไป
    ได้แล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก ฯ

    ก็ถ้าพวกเราพึงเล้าโลมสมณะหรือพราหมณ์คนใดที่ยังไม่หมดราคะ ด้วย
    ความพยายามอย่างนี้ หทัยของสมณะหรือพราหมณ์คนนั้นพึงแตก หรือโลหิตอุ่น
    พึงพลุ่งออกจากปาก หรือพึงถึงกับเป็นบ้า หรือถึงความมีจิตฟุ้งซ่าน (จิตลอย)
    เหมือนอย่างไม้อ้อสดอันลมพัดขาดแล้ว ย่อมหงอยเหงาเหี่ยวแห้งไป แม้ฉันใด
    สมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงซูบซีดเหี่ยวแห้งไป ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ

    ครั้นแล้ว นางตัณหา นางอรดี นางราคา พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
    ถึงที่ประทับ แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

    [๕๑๕] นางตัณหามารธิดา ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้
    กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า

    ท่านถูกความโศกทับถมหรือ จึงได้มาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้
    ท่านเสื่อมจากทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้วหรือ หรือว่ากำลัง
    ปรารถนาอยู่ ท่านได้ทำความชั่วอะไรๆ ไว้ในบ้านหรือ
    เพราะเหตุไร ท่านจึงไม่ทำมิตรภาพกับชนทั้งปวงเล่า หรือว่า
    ท่านทำมิตรภาพกับใครๆ ไม่สำเร็จ ฯ

    [๕๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
    เราชนะเสนาคือปิยรูปและสาตรูป (รูปที่รักและรูปที่พอใจ)
    เป็นผู้ๆ เดียวเพ่งอยู่ ได้รู้ความบรรลุประโยชน์ และความ
    สงบแห่งหทัย ว่าเป็นความสุข ฯ
    เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ทำความเป็นมิตรกับชนทั้งปวง และ
    ความเป็นมิตรกับใครๆ ย่อมไม่อำนวยประโยชน์ให้แก่เรา ฯ

    [๕๑๗] ลำดับนั้น นางอรดีมารธิดาได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
    ภิกษุในพระศาสนานี้ มีปรกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่าง
    ไหนมาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ แล้ว เวลานี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖
    แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ซึ่งบุคคลผู้เพ่ง-
    ฌานอย่างไหนมาก ฯ

    [๕๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
    บุคคลมีกายอันสงบแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว เป็นผู้ไม่มี
    อะไรๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง มีสติ ไม่มีความอาลัย ได้รู้ทั่ว
    ซึ่งธรรม มีปรกติเพ่งอยู่ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้ ย่อม
    ไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ ฯ
    ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีปรกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่
    อย่างนี้มาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้แล้ว บัดนี้ได้ข้ามโอฆะที่
    ๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ ซึ่งภิกษุผู้
    เพ่งฌานอย่างนี้มาก ฯ

    [๕๑๙] ลำดับนั้นแล นางราคามารธิดา ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วย
    คาถาว่า

    พระศาสดาผู้เป็นหัวหน้าดูแลคณะสงฆ์ ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว
    และชนผู้มีศรัทธาเป็นอันมาก จักประพฤติตามได้แน่แท้
    พระศาสดานี้เป็นผู้ไม่มีความอาลัย ได้ตัดขาดจากมือมัจจุราช
    แล้ว จักนำหมู่ชนเป็นอันมาก ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน ฯ

    [๕๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
    ตถาคตมีความแกล้วกล้าใหญ่ ย่อมนำสัตว์ไปด้วยพระสัท-
    ธรรมแล เมื่อตถาคตนำไปอยู่โดยธรรม ไฉนความริษยา
    จะพึงมีแก่ท่านผู้รู้เล่า ฯ

    [๕๒๑] ลำดับนั้นแล มารธิดาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา
    พากันเข้าไปหาพระยามารถึงที่อยู่ ฯ

    พระยามารเห็นมารธิดา คือ นางตัณหา นางอรดี นางราคา มาแต่ไกล
    ครั้นเห็นแล้ว ได้กล่าวพ้อด้วยคาถาทั้งหลายว่า

    พวกคนโง่พากันทำลายภูเขาด้วยก้านบัว ขุดภูเขาด้วยเล็บ
    เคี้ยวเหล็กด้วยฟันทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะทำพระโคดมให้
    เบื่อเข้าต้องหลีกไป เป็นประดุจบุคคลวางหินไว้บนศีรษะแล้ว
    แทรกลงไปในบาดาล หรือดุจบุคคลเอาอกกระแทกตอ
    ฉะนั้น ฯ

    พระศาสดาได้ขับไล่นางตัณหา นางอรดี และนางราคา ผู้มีรูป
    น่าทัศนายิ่ง ซึ่งได้มาแล้วในที่นั้นให้หนีไป เหมือนลมพัด
    ปุยนุ่น ฉะนั้น ฯ
    จบวรรคที่ ๓
    -----------------------------------------------------
    รวมสูตรในวรรคที่สามมี ๕ สูตร คือ สัมพหุลสูตรที่ ๑ สมิทธิสูตรที่ ๒
    โคธิกสูตรที่ ๓ สัตตวัสสสูตรที่ ๔ มารธีตุสูตรที่ ๕ นี้ พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ
    ทรงแสดงแล้วกะมารธิดา ฯ

    จบมารสังยุต
    -----------------------------------------------------

    http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=15&A=4010&Z=4136&pagebreak=0
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 7 มกราคม 2012
  6. LungKO

    LungKO เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    590
    ค่าพลัง:
    +925
    ขอบคุณมากครับ คุณไมยราพ ยอดเยี่ยมจริง ๆ สาธุ สาธุ สาธุ
     
  7. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,719
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,138
    ค่าพลัง:
    +70,534
    ?temp_hash=d61a33484c4f32e7528a1b36f5d303d0.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  8. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,719
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,138
    ค่าพลัง:
    +70,534
    ?temp_hash=56880f109abe3d4cefab095a6eacd8bf.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • @IMG_1.1-28.jpg
      @IMG_1.1-28.jpg
      ขนาดไฟล์:
      642.7 KB
      เปิดดู:
      92
  9. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,719
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,138
    ค่าพลัง:
    +70,534
  10. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,719
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,138
    ค่าพลัง:
    +70,534
    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙
    สังยุตตนิกาย ขันธวารวรร

    [​IMG]
    ๕. วักกลิสูตร
    ว่าด้วยการเห็นธรรมชื่อว่าเห็นพระพุทธเจ้า


    [๒๑๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน กลันทกนิวาปสถาน
    ใกล้พระนครราชคฤห์. สมัยนั้นแล ท่านพระวักกลิอาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกข-
    *เวทนา พักอยู่ที่นิเวศน์ของนายช่างหม้อ. ครั้งนั้น ท่านพระวักกลิ เรียกภิกษุผู้อุปัฏฐากทั้งหลาย
    มาแล้ว กล่าวว่า มาเถิดอาวุโส ท่านทั้งหลาย จงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ จงถวาย
    บังคมพระยุคลบาทด้วยเศียรเกล้า ตามคำของเราแล้ว ทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ
    เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียรเกล้า และ
    พวกท่านจงทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มีพระภาค
    ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาท่านวักกลิถึงที่อยู่เถิด. ภิกษุเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิ
    แล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า พระเจ้าข้า วักกลิ-
    *ภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์ด้วยเศียร
    เกล้า และทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ได้ยินว่า ท่านขอประทานพระวโรกาส ขอทูลเชิญพระผู้มี-
    *พระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ เสด็จเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่เถิด พระผู้มีพระภาคทรงรับ
    นิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.
    [๒๑๖] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงครองผ้าแล้ว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้า
    ไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ท่านพระวักกลิ ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกล ครั้นเห็น
    แล้ว ก็ลุกขึ้นจากเตียง. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระวักกลิว่า อย่าเลย วักกลิ
    เธออย่าลุกจากเตียงเลย อาสนะเหล่านี้ ที่เขาปูลาดไว้มีอยู่ เราจะนั่งที่อาสนะนั้น. พระผู้มีพระ-
    *ภาคประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ครั้นแล้ว ได้ตรัสถามท่านพระวักกลิว่า ดูกรวักกลิ
    เธอพอทนได้หรือ พอยังอัตภาพให้เป็นไปได้หรือ ทุกขเวทนานั้น ปรากฏว่าทุเลาลง ไม่กำเริบ
    ขึ้นหรือ. ท่านพระวักกลิกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทนไม่ไหว ไม่สามารถ
    ยังอัตภาพให้เป็นไปได้ ทุกขเวทนาของข้าพระองค์แรงกล้า มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย ทุกข-
    *เวทนาปรากฏว่ากำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย.
    พ. ดูกรวักกลิ เธอไม่มีความรำคาญ ไม่มีความเดือดร้อนอะไรบ้างหรือ?
    ว. พระเจ้าข้า ที่แท้จริง ข้าพระองค์มีความรำคาญไม่น้อย มีความเดือดร้อนอยู่ไม่น้อย
    เลย.
    พ. ดูกรวักกลิ ก็ตัวเธอเอง ไม่ติเตียนตนเองได้โดยศีลบ้างหรือ?
    ว. พระเจ้าข้า ตัวข้าพระองค์เอง จะติเตียนได้โดยศีลก็หาไม่.
    พ. ดูกรวักกลิ ถ้าหากว่า ตัวเธอเองติเตียนตนเอง โดยศีลไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น
    เธอจะมีความรำคาญและมีความเดือดร้อนอะไร?
    ว. พระเจ้าข้า จำเดิมแต่กาลนานมาแล้ว ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
    พระภาค แต่ว่าในร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังพอที่จะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้.
    พ. อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเปื่อยเน่าที่เธอเห็นนี้ จะมีประโยชน์อะไร? ดูกรวักกลิ
    ผู้ใดแล เห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นธรรม. วักกลิ
    เป็นความจริง บุคคลเห็นธรรม ก็ย่อมเห็นเรา บุคคลเห็นเราก็ย่อมเห็นธรรม. วักกลิ เธอจะ
    สำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?
    ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
    ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม
    เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
    ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
    พ. เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เที่ยงหรือไม่เที่ยง?
    ว. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?
    ว. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
    พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตาม
    เห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?
    ว. ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า.
    พ. เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ ย่อมทราบชัดว่า ฯลฯ
    กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสสอน ท่านพระวักกลิ ด้วยพระโอวาทนี้แล้ว ทรงลุก
    จากอาสนะ เสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฏ.
    [๒๑๗] ครั้งนั้นแล พระวักกลิ เมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกไปแล้วไม่นาน ได้เรียก
    ภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้ว กล่าวว่า มาเถิด อาวุโส ท่านจงช่วยอุ้มเราขึ้นเตียงแล้ว หามไป
    ยังวิหารกาฬสิลาข้างภูเขาอิสิคิลิ ก็ภิกษุผู้เช่นกับเรา ไฉนเล่า จะพึงสำคัญว่าตนพึงทำกาละ ใน
    ละแวกบ้านเล่า? ภิกษุอุปัฏฐากเหล่านั้น รับคำท่านวักกลิแล้ว อุ้มท่านพระวักกลิขึ้นเตียง หาม
    ไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ที่ภูเขาคิชฌกูฏตลอด
    ราตรีและวันที่ยังเหลืออยู่นั้น. ครั้งนั้น เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ มีฉวีวรรณ
    งดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้สว่างทั่วไปทั้งหมดแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ
    ได้ยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า
    วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น. เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า
    ก็วักกลิภิกษุนั้นหลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. เทวดาเหล่านั้น ได้กราบทูลอย่างนี้แล้ว
    ครั้นแล้ว ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้ว ก็หายไป ณ ที่นั้นเอง.
    [๒๑๘] ครั้นพอราตรีนั้นผ่านไป พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มา
    เถิด ภิกษุทั้งหลาย จงพากันเข้าไปหาวักกลิภิกษุถึงที่อยู่ ครั้นแล้วจงบอกวักกลิกภิกษุอย่างนี้ว่า
    อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคและคำของเทวดา ๒ องค์ อาวุโส
    ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐมยามผ่านไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ผู้มีฉวีวรรณงดงาม ทำภูเขาคิชฌกูฏให้
    สว่างทั่วไปทั้งหมด เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ยืนอยู่
    ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า
    วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า
    ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นดีแล้ว จักหลุดพ้นได้แน่แท้. อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาค
    ตรัสกะท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัวเลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่
    เธอ จักมีกาลกิริยาอันไม่เลวทรามแก่เธอ. ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
    เข้าไปหาท่านพระวักกลิถึงที่อยู่ ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะท่านวักกลิว่า อาวุโส วักกลิ ท่านจงฟัง
    พระดำรัสของพระผู้มีพระภาค และคำของเทวดา ๒ องค์.
    [๒๑๙] ครั้งนั้นแล ท่านพระวักกลิเรียกภิกษุอุปัฏฐากทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า มาเถิด
    อาวุโส ท่านจงช่วยกันอุ้มเราลงจากเตียง เพราะว่า ภิกษุผู้เช่นกับเรานั่งบนอาสนะสูงแล้ว จะ
    พึงสำคัญว่า ตนควรฟังคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคนั้นอย่างไรเล่า? ภิกษุเหล่านั้น รับคำของ
    ท่านพระวักกลิแล้ว ก็ช่วยกันอุ้มท่านพระวักกลิลงจากเตียงแล้ว กล่าวว่า ณ ราตรีนี้ เมื่อปฐม
    ยามล่วงไปแล้ว เทวดา ๒ องค์ ฯลฯ ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว
    เทวดาองค์หนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุ คิดเพื่อความหลุดพ้น
    เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า ก็วักกลิภิกษุนั้น หลุดพ้นแล้ว
    จักหลุดพ้นได้แน่แท้. อาวุโส วักกลิ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถึงท่านอย่างนี้ว่า อย่ากลัว
    เลย วักกลิ อย่ากลัวเลย วักกลิ จักมีความตายอันไม่ต่ำช้าแก่เธอ จักมีกาลกิริยาไม่เลวทราม
    แก่เธอ. พระวักกลิกล่าวว่า อาวุโส ถ้าเช่นนั้น ท่านจงช่วยถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มี
    พระภาคด้วยเศียรเกล้า ตามคำของผมด้วยว่า พระเจ้าข้า วักกลิภิกษุอาพาธ เป็นไข้หนักได้รับ
    ทุกขเวทนา เธอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า และยังได้สั่งมา
    กราบทูล อย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใด
    ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
    ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์. ข้าพระองค์
    ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง
    สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
    ความพอใจก็ดี กำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้. ภิกษุเหล่านั้น
    รับคำท่านพระวักกลิแล้วหลีกไป ครั้งนั้น เมื่อภิกษุเหล่านั้น หลีกไปไม่นาน ท่านพระวักกลิก็นำเอาศาตรามา.
    [๒๒๐] ครั้งนั้นแล ภิกษุเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วักกลิภิกษุอาพาธเป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา ท่านขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้าและยังได้สั่งมากราบทูลอย่างนี้ว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า รูปไม่เที่ยง ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์. ข้าพระองค์ไม่เคลือบแคลงว่า เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณไม่เที่ยง ไม่
    สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่สงสัยว่า สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ความพอใจก็ดี ความกำหนัดก็ดี ความรักใคร่ก็ดี ในสิ่งนั้น มิได้มีแก่ข้าพระองค์ ดังนี้.
    [๒๒๑] ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมารับสั่งว่า มาไปกันเถิดภิกษุทั้งหลาย เราจะพากันไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ซึ่งเป็นที่ที่วักกลิกุลบุตรนำเอาศาตรามา. ภิกษุเหล่านั้น รับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปยังวิหารกาฬสิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พร้อมด้วยภิกษุเป็นจำนวนมาก. ได้ทอดพระเนตรเห็น ท่านพระวักกลินอนคอบิดอยู่บนเตียงแต่ไกลเทียว. ก็สมัยนั้นแล ปรากฏเป็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอกลอยไป ทางทิศบูรพา ทิศปัศจิม ทิศอุดร ทิศทักษิณ ทิศเบื้องบน ทิศเบื้องต่ำ และอนุทิศ.
    ลำดับนั้นเอง พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายมองเห็นกลุ่มควัน กลุ่มหมอก ลอยไปทางทิศบูรพา ฯลฯ และอนุทิศหรือไม่? ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า.
    พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นแหละคือมารใจหยาบช้า ค้นหาวิญญาณของวักกลิกุลบุตรด้วยคิดว่าวิญญาณของวักกลิกุลบุตร ตั้งอยู่ ณ ที่แห่งไหนหนอ? ดูกรภิกษุทั้งหลาย วักกลิกุลบุตรมีวิญญาณไม่ได้ตั้งอยู่ ปรินิพพานแล้ว.

    จบ สูตรที่ ๕.
     
  11. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,719
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,138
    ค่าพลัง:
    +70,534


    [​IMG]

    เมื่อวานนี้ต้องบอกว่ากระผม/อาตมภาพโดนขันธมารแกล้ง ตั้งใจจะบอกจะกล่าวเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติธรรม ปรากฏว่าอยู่ ๆ ก็น้ำมูกไหลโจ๊กเลย ไหลชนิดกระดาษทิชชู่เปียกเป็นก้อน แต่กระผม/อาตมภาพก็ตัดสินใจแล้วว่า "อย่างดีก็แค่ตาย" จึงตั้งใจว่าไปเรื่อย ปรากฏว่าพอบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนเสร็จ ไม่รู้ว่าน้ำมูกหายไปไหน ? ไม่มีเอาดื้อ ๆ ก็คือลักษณะเหมือนกับว่าจะตายลงไปเดี๋ยวนั้น แต่พอเราพร้อมที่จะตายก็ถอยไปเอง

    นี่คือลักษณะของมารที่ทดสอบพวกเรา มารจะใช้คนทุกคน ของทุกชิ้น สัตว์ทุกตัว ในการทดสอบกำลังใจของเรา มาทุกเวลา ทุกนาที ทุกวินาที ทั้งหลับ ทั้งตื่น ทั้งยืน ทั้งนั่ง ไม่เคยเว้น เผลอเมื่อไรโดนสอบเมื่อนั้น แล้วพวกเราก็สอบตกกันเป็นประจำ..!

    ข้อสอบใหญ่ ๆ ก็แค่ รัก โลภ โกรธ หลง ๔ ข้อเท่านั้นเอง แต่แตกแขนงไปเป็นล้าน ๆ ข้อย่อย ข้อไหนเราเคยชนะแล้ว เคยทำได้แล้วจะไม่มาอีก แต่ถ้าหากว่าเผลอเมื่อไรก็ตะแบงข้างมา คำตอบเดียวกันแต่มาคนละแนว

    ถ้าอยู่ในลักษณะอย่างนี้ จะต้องตั้งสติรับให้ทัน โดยเฉพาะคนที่เรารักที่สุด จะสร้างความสะเทือนใจให้เราได้มากที่สุด บางทีเขาก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาพูด สิ่งที่เขาทำนั้น ทำให้เราเสียใจ ทำให้เราน้อยใจ ทำให้เราโกรธ เพราะว่าตัวเขาเองถูกมารดลใจให้ทำอย่างนั้น

    แม้กระทั่งข้าวของที่ไม่มีชีวิตจิตใจ มารก็เอามาทดสอบได้ ทำงานเหนื่อย ๆ เดินเข้าบ้านมา เจอข้าวของเกะกะไปทั้งบ้าน โมโห..เตะโครมเข้าให้..! โกรธทั้ง ๆ ที่ของไม่มีชีวิตจิตใจ ก็กองอยู่ตามปกติอย่างนั้นแหละ แต่มารดลใจให้คนในบ้านเอามาวางทิ้งกองไว้ตรงนั้น

    ในเมื่อเป็นไปในลักษณะอย่างนี้ ขอให้ระวังให้มาก แต่อย่าเห็นมารเป็นศัตรู มารเป็นครูที่ขยันที่สุด ทดสอบเราอยู่ตลอดเวลา ถ้าใครได้รับการทดสอบ ขอให้รู้ว่าท่านมีคุณค่าเพียงพอที่เขาจะสอบ ถ้าไม่มีราคาพอ เขาไม่สอบให้เสียเวลาหรอก เพราะว่าสอบไปก็ตก..เสียเวลาเปล่า ๆ

    บางทีแม้กระทั่งผม ก็โดนใช้เป็นสิ่งของที่มารเอาไปทดสอบคนอื่น ผมเดินมาจากโรงครัว ปกติก็ต้องเลี้ยงหมา เจอหน้าหมาก็ทักทายตามปกติ "เป็นอย่างไรบ้างจ๊ะที่รัก ? กินอะไรมาบ้างหรือยัง ?" ปรากฏว่าดันมีแม่ชีอยู่ใกล้ ๆ แถวนั้น ฟุ้งซ่านไปหลายวันเลย คิดว่าหลวงพ่อพูดกับตัวเอง อยากจะบอกว่าเอ็งลดตัวลงไปราคาเท่ากับหมาก็ใช่ที่..! ก็ปล่อยฟุ้งซ่านไป..!

    เพราะฉะนั้น..เรื่องแบบนี้ถ้าเราไม่ระวัง รัก โลภ โกรธ หลงจะเข้ามาง่ายมาก มาร ๕ อย่างไม่เคยเว้นในการทดสอบเรา ฉวยโอกาสใช้ทั้งวาระบุญและวาระกรรม ในการขัดขวางเราทุกวิถีทาง วาระบุญเข้ามา ก็กอบโกย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มาให้อย่างเต็มที่ เพื่อให้เราติดอยู่แค่นั้น วาระกรรมเข้ามา ก็กระหน่ำซ้ำเติมเรา ให้ทุกข์จนกระทั่งหาทางออกไม่เจอ

    พูดง่าย ๆ ว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง ในเมื่อเป็นในลักษณะอย่างนี้ ถ้าหากว่าเราไม่ตั้งสติระมัดระวัง โอกาสที่สอบตกก็จะมีสูงมาก คนรักกันปานจะกลืน พูดผิดหูหน่อยเดียว..โกรธ ไม่พูดไม่คุยกันไปเป็นอาทิตย์ก็มี

    ในเรื่องของมารนั้น ประกอบไปด้วยกิเลสมาร ก็คือ รัก โลภ โกรธ หลง ในใจของเราเอง ชักนำให้เราคิด ให้เราพูด ให้เราทำแต่ในสิ่งที่ผิด

    ขันธมาร คือร่างกายนี้เป็นมาร ถึงเวลาจะทำความดีก็เจ็บไข้ได้ป่วยเสียอย่างนั้น บางรายสมัยเป็นฆราวาสเมาหัวราน้ำ นอนตากน้ำค้างเป็นวันเป็นคืน ไม่เห็นเป็นอะไร พอบวชเข้ามาก็ป่วยเช้าป่วยเย็น มีหลายท่านที่ตั้งใจสึกไปเพื่อรักษาตัว พอมาลาสึก ผมบอกว่า "ท่านเชื่อไหม ? ถ้าท่านสึกนี่ ไม่ต้องรักษาหรอก จะหายดีทันทีเลย" ปรากฏว่าไม่เชื่อ สึกไปแล้วก็หายจริง ๆ ไม่ต้องรักษา เพราะว่าโดนขันธมารทดสอบ

    เทวปุตตมาร เป็นเรื่องของเทวดาหรือครูบาอาจารย์มาทดสอบ บางทีก็มาพยากรณ์มรรคผลให้บ้าง บางทีก็มาทำให้หวาดกลัวบ้าง ทำให้โกรธบ้าง แล้วแต่สถานการณ์ตอนนั้น ถ้าเราก้าวข้ามไปได้ ท่านก็เท่ากับเป็นครูมาสอบเรา ถ้าเราก้าวข้ามไปไม่ได้ ท่านก็กลายเป็นมารมาขวางเราจากความดี

    มัจจุมาร ความตายมาขวาง บางคนถ้าหากว่าทำความดีแล้ว จะเข้าถึงธรรมได้อย่างรวดเร็ว มารไม่รู้ว่าจะขวางอย่างไร พอดีมีกรรมปาณาติบาตใหญ่เข้ามา ก็ช่วยตัดให้ตายไปเลย

    อภิสังขารมาร บุญบาปมาขวาง ติดอยู่ในสุข ติดอยู่ในบุญ ติดอยู่ในความดี ติดอยู่ในรูปฌาน ติดอยู่ในอรูปฌาน หลุดพ้นไม่ได้ทั้งนั้น

    ส่วนในเรื่องของบาป ไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าจะผิดศีลผิดธรรมอะไร ก็มีอบายภูมิเป็นที่ไป เป็นสัตว์นรกแล้ว ก็ต้องมาชดใช้ที่แดนเปรต ต้องชดใช้ที่แดนอสุรกาย ต้องชดใช้ที่แดนสัตว์เดรัจฉาน เวียนว่ายตายเกิดเป็นระยะเวลายาวนานจนนับไม่ถ้วน ห่างไกลความดีไปได้นานขนาดนั้น เขาถึงได้เรียกว่ามาร ทั้ง ๆ ที่เป็นความดีก็เป็นมารได้ เพราะว่าเราไปยึดติด ส่วนในด้านความชั่วนั้น เป็นมารก็ถือว่าเป็นปกติอยู่แล้ว เรารู้..เราเข้าใจได้

    ดังนั้น...ในแต่ละวันให้พวกเราระมัดระวังให้มากเอาไว้ คิดทุกอย่างที่จะพูด คิดทุกอย่างที่จะทำ ไม่อย่างนั้นแล้วมีโอกาสโดน "สอย" สูงมาก พูดผิดหู หรือโพสต์ผิดตาหน่อยเดียว โกรธจนไม่มองหน้ากันไปเลย ถ้ารู้ตัวก็ขอขมากันได้ อีกไม่กี่วันออกพรรษา ก็มีปวารณาตัวต่อกัน ถึงเวลาก็ขอขมากัน ว่ากล่าวตักเตือนกัน ท่านทั้งหลายต้องปวารณากันในวันออกพรรษา ส่วนตัวผมเองต้องไปในวันตักบาตรเทโว ออกจากกรรมฐานมาค่อยมาปวารณากับท่านทั้งหลาย
    .........................................
    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    ผู้ก่อตั้งสำนักสงฆ์เกาะพระฤๅษี
    ........................................
    #รู้ว่าดีก็ทำ #รู้ว่าชั่วก็ละ #ไม่เกาะทั้งดีทั้งชั่ว
     

แชร์หน้านี้

Loading...