เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 12 สิงหาคม 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,287
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,610
    ค่าพลัง:
    +26,464
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันศุกร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,287
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,610
    ค่าพลัง:
    +26,464
    วันนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปยังวัดป่าเลไลยก์วรวิหารแต่เช้ามืด เพื่อเข้ากราบถวายสักการะพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระธรรมพุทธิมงคล (สอิ้ง สิรินนฺโท ป.ธ.๘) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค ๑๔ ซึ่งเป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่กระผม/อาตมภาพเคารพนับถือมานานกว่า ๓๐ ปี

    หลังจากนั้นก็เดินทางต่อไปยังวัดดอนเจดีย์ เพื่อถวายมุทิตาท่านเจ้าคุณพระสุพรรณวชิราภรณ์, ดร. (ประไพ ปุญฺญกาโม ป.ธ.๓) เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเรียนกันมาตั้งแต่สมัยประกาศนียบัตรกิจการคณะสงฆ์ พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา และพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการจัดการเชิงพุทธ

    หลังจากนั้นก็ได้เดินทางไปฉันเพลที่วัดอุทยาน ตำบลบางขุนกอง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แล้วเดินทางต่อไปยังวัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) เนื่องจากว่าได้รับฎีกาหลวง ให้ไปร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์นวัคคหายุสมธัมม์ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเป็นพิธีทั้งพราหมณ์และพุทธต่อเนื่องกัน คือเป็นการเจริญพระพุทธมนต์ที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "สวดนพเคราะห์"

    พราหมณ์จะสวดอัญเชิญเทวดานพเคราะห์ตั้งแต่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระเสาร์
    พระพฤหัส พระราหู พระศุกร์ และพระเกตุ โดยที่เริ่มจากพระสงฆ์สวดชุมนุมเทวดา ขึ้นนะโมฯ ๓ จบ ตามด้วยไตรสรณคมน์ คือพุทธังฯ ธัมมังฯ สังฆังฯ สะระณัง คัจฉามิ ต่อด้วยบทสัมพุทเธฯ บทนะโมการะอัฏฐะกะฯ บทมงคลสูตร เป็นต้น

    หลังจากนั้นพราหมณ์ก็จะสวดบูชาเทวดานพเคราะห์ (พระอาทิตย์) พระสงฆ์ขึ้นบทขัด ปูเรนตัมโพธิสัมภาเรฯ แล้วก็เจริญบทโมระปะริตตัง คือ อุเทตะยัญจักขุมาฯ อะเปตะยัญจักขุมาฯ ต่อด้วยบท วัฏฏกปริตร คืออัตถิ โลเก สีละคุโณฯ

    พราหมณ์สวดบูชาเทวดานพเคราะห์ (พระจันทร์) พระสงฆ์ก็ขึ้นบทขัด อะภะยะปะริตตัง คือ ปุญญะลาภัง มะหาเตชังฯ แล้วเจริญ ยันทุนนิมิตตังฯ
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,287
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,610
    ค่าพลัง:
    +26,464
    พราหมณ์สวดบูชาเทวดานพเคราะห์ (พระอังคาร) พระสงฆ์ขึ้นบทขัด ยัสสานุภาวะโต ยักขาฯ ต่อด้วยบทกรณียเมตตสูตร คือ กะระณียะมัตถะกุสะเลนะ ยันตัง สันตัง ปะทัง อะภิสะเมจจะฯ ไปจนจบ

    พราหมณ์สวดบูชาเทวดานพเคราะห์ (พระพุธ) พระสงฆ์ขึ้นบทขัด สัพพาสีวิสะชาตีนัง ต่อด้วย ขันธะปะริตตะคาถา คือ วิรูปักเขหิ เม เมตตังฯ ต่อด้วย ฉัททันตปริตัง คือ วะธิสสะเมนันติ ปะรามะสันโตฯ จนจบ

    พราหมณ์สวดบูชาเทวดานพเคราะห์ (พระเสาร์) พระสงฆ์ขึ้นบทขัดอังคุลิมาละปะริตตัง คือ ปะริตตัง ยัมภะณันตัสสะฯ ต่อด้วย ยะโตหัง ภะคินิฯ ๓ จบ ตามด้วย โพชฌังคปริตร คือ โพชฌังโค สะติสังขาโตฯ ไปจนจบ

    พราหมณ์สวดสรรเสริญเทวดานพเคราะห์ (พระพฤหัสบดี) พระสงฆ์ขึ้นบทขัด ระตะนะสุตตัง ซึ่งยาวมาก ก็คือ ปะณิธานะโต ปัฏฐายะ ตะถาคะตัสสะ ทะสะ ปาระมิโยฯ เป็นต้น แล้วเจริญ ระตะนะสุตตัง คือ ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิฯ เต็มบท ซึ่งบทนี้ส่วนใหญ่แล้วจะสวดย่อ โดยตัดเอาในช่วงท้ายออก

    หลังจากนั้นพราหมณ์ก็สวดสรรเสริญเทวดานพเคราะห์ (พระราหู) พระสงฆ์ขึ้นบทขัด อัปปะสันเนหิ นาถัสสะ สาสะเนฯ แล้วเจริญบทอาฏานาฏิยปริตร หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าบทภาณยักษ์ - ภาณพระ คือ วิปัสสิสสะ นะมัตถุ จักขุมันตัสสะ สิรีมะโตฯ ไปจนจบ

    พราหมณ์สวดสรรเสริญเทวดานพเคราะห์ (พระศุกร์) พระสงฆ์ขึ้นบทขัด ยัสสานุสสะระเณนาปิฯ ต่อด้วยเจริญบท ธชัคคสูตร คือ ภูตะปุพพังอภิกขะเว เทวาสุระสังคาโมฯ ไปจนจบ

    พราหมณ์สวดสรรเสริญเทวดานพเคราะห์ (พระเกตุ) พระสงฆ์ขึ้นบทขัด ชยปริตัง คือ ชะยัง เทวะมะนุสสานังฯ แล้วเจริญบท ชยปริตัง คือ มะหาการุณิโก นาโถ หิตายะ สัพพะปาณินังฯ

    ปิดท้ายด้วยการเจริญบท มงคลจักราวาลใหญ่ คือ สิริธิติมะติเตโชฯ ต่อด้วย นักขัตตะยักขะภูตานังฯ แล้วลงด้วยภะวะตุ สัพฯ เป็นอันว่าเริ่มในตอน ๔ โมงเย็น ไปจบลงในตอนประมาณ ๑ ทุ่ม..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,287
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,610
    ค่าพลัง:
    +26,464
    จากนั้นพระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (ธงชัย ธมฺมธโช) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง ประธานในพิธี ได้กล่าวสัมโมทนียกถา กล่าวนำทุกท่านถวายพระพรชัยมงคลต่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จากนั้นก็ได้นำทั้งพระภิกษุสามเณรและฆราวาส เจริญจิตภาวนาถวายเป็นพระราชกุศล

    เสร็จแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ประธานฝ่ายฆราวาส ได้ถวายผ้าไตรพระราชทานต่อองค์ประธาน บรรดาผู้มีเกียรติต่าง ๆ ถวายผ้าไตรตลอดจนกระทั่งไทยธรรม แก่พระเถรานุเถระที่เข้าร่วมพิธีในวันนี้ทั้ง ๙๑ รูป ตามพระชนมายุของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

    แล้วจึงเป็นการกรวดน้ำ ถวายพระพร โดยองค์ประธานคือท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนีถวายอติเรก พวกเรารับภะวะตุ สัพฯ เสร็จพิธีแล้วถึงได้เดินทางกลับ ขามาก็ว่ารถติดสาหัสแล้ว ขากลับเนื่องจากว่าเป็นวันศุกร์และเป็นวันหยุดยาวด้วย รถก็ติดสาหัสพอกัน ทำให้กระผม/อาตมภาพต้องทำการบันทึกเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนบนรถยนต์ตามเคย หาไม่แล้วก็จะช้าจนเกินไป จะทำให้ญาติโยมทั้งหลายต้องรอนาน

    พิธีการวันนี้ต้องบอกว่า พระเดชพระคุณพระธรรมวชิรานุวัตร, ดร. (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าคณะภาค ๑๔ ใจใหญ่มาก..! รับเป็นเจ้าภาพจัดที่วัดไร่ขิง (พระอารามหลวง) ซึ่งรวมพระสงฆ์ทั้งหมด ๙๑ รูป จาก ๒๓ จังหวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง สูงสุดถึงจังหวัดอุทัยธานี ต่ำสุดถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตะวันออกสุดถึงจังหวัดตราด ตะวันตกสุดถึงจังหวัดกาญจนบุรี ค่าใช้จ่ายนั้นไม่ต้องคิดถึง มากมายมหาศาลทีเดียว..!

    แต่ว่ามีสิ่งหนึ่งก็คือ พราหมณาจารย์ที่ทำพิธีนั้น ท่านใช้ภาษาไทยโบราณไม่ถนัด เนื่องจากว่าหลายคำนั้นปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว อย่างเช่นว่า ถ้องแถว รัชนีกร หรือว่า บริพาร เป็นต้น จึงทำให้มีการสะดุดติดขัด แล้วขณะเดียวกันก็ไม่ถนัดในการร่าย เนื่องเพราะไม่เข้าใจว่าการร่ายนั้น ก็คือเป็นการที่เรานำเอาร้อยแก้วที่คล้องจองกัน มากล่าวร่ายต่อเนื่อง ซึ่งภาษาไทยนั้น จะว่าไปแล้วก็สวยงามมาก

    อย่างเช่นว่า ศรีสิทธิ์พิศาลภพ เลอหล้าลบล่มสวรรค์ จรรโลงโลกกว่ากว้าง แผนแผ่นผ้างเมืองเมรุ ศรีอยุธเยนทร์แย้มฟ้า แจกแสงจ้าเจิดจันทร์ เพียงรพิพรรณผ่องด้าวฯ เป็นต้น
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,287
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,610
    ค่าพลัง:
    +26,464
    ซึ่งที่กระผม/อาตมภาพยกมาให้นี้เป็นการอ่าน ไม่ใช่การร่าย เนื่องเพราะว่าพระสงฆ์ขับลำด้วยเสียงอันยาวนั้นต้องอาบัติทุกกฎ เพียงแต่ว่าถ้าพราหมณาจารย์มีความคล่องตัวในการร่ายนั้น การสวดบูชาเทวดานพเคราะห์จะไพเราะเสนาะโสตเป็นอย่างยิ่ง ไม่สะดุดติดขัดเป็นจังหวะอย่างที่ผ่านมาในวันนี้

    แต่ว่าท่านก็ทำหน้าที่ของตนได้ดีมาก ก็คือ รู้จังหวะ รู้เวลา ตอนไหนควรที่จะสรรเสริญเทวดานพเคราะพ์ ตอนไหนที่จะขึ้นบทขัด แล้วตอนไหนที่จะเป่าสังข์ ตอนไหนที่จะแกว่งบัณเฑาะว์ ต้องบอกว่าไม่เสียทีที่ได้รับความไว้วางใจเชื้อเชิญมาให้ร่วมงานกับคณะสงฆ์ เพียงแต่ว่าถ้าซักซ้อมในการร่ายสักหน่อย ทุกอย่างจะสมบูรณ์ลงตัวมาก

    แต่ว่ามีหลายต่อหลายจังหวะที่อ่านคำว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ปัจจุบันนี้บรรดาเด็กที่ตกภาษาไทย จะอ่านเป็น สมเด็จพระนางเจ้า พระบรม (พระ-บะ-รม) ราชินีนาถ พระบรม (พระ-บะ-รม) ราชชนนีพันปีหลวงกันหมด แม้ว่าจะไม่ได้ออกเสียงวิสรรชนีย์ คือสระอะ ชัดเจนเหมือนที่กระผม/อาตมภาพเน้นให้ท่านทั้งหลายฟัง แต่ว่าเป็นการอ่านผิดหลักภาษาไทย เพราะคำนี้ต้องอ่านว่าพระบรม (พระ-บอ-รม) ซึ่งคำนี้ก็คล้ายคลึงกับ บวร (บอ-วอน) บพิตร (บอ-พิด)

    ดังนั้น..ในเรื่องของภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาประจำชาติของเรานั้น ควรที่จะอ่านให้ถูกต้อง แล้วขณะเดียวกันก็ต้องรู้ความหมายด้วย ไม่เช่นนั้นแล้วบางทีเราก็จะไม่เข้าใจว่าภาษาไทยคำนี้แปลว่าอะไร แล้วก็พลอยทำให้อ่านผิดไปด้วย

    โดยเฉพาะภาษาไทยของเรานั้น มีทั้งภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร ตลอดจนกระทั่งภาษาชาติอื่น ๆ แทรกอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมาพัฒนาจนเป็นภาษาไทยของเรา ซึ่งในสมัยก่อนนิยมใช้กันมาก แต่ว่าสมัยนี้ใช้น้อยลง ทำให้คนรุ่นหลังที่ไม่เคยชิน ไม่สามารถที่จะอ่านออกเสียงได้อย่างถูกต้องและไพเราะ
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    20,287
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,610
    ค่าพลัง:
    +26,464
    แล้วภาษาไทยก็ยังมีกวีตานุมัติ คือเสียงที่เป็นไปตามที่กวีเห็นว่าสมควร อย่างเช่นคำว่า บิตุรงค์ เมื่อเข้าไปอยู่ในโคลงกลอนแล้ว อย่างเช่นว่า อันทรงฤทธิ์บิตุรงค์ของลูกรักฯ เราต้องอ่านให้เข้ากับคำว่าฤทธิ์ บิตุรงค์จึงต้องอ่านเป็น บิด-ตุ-รง เป็นต้น

    เรื่องพวกนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันให้มากกว่านี้ หาไม่แล้ว ภาษาไทยของเราที่ไพเราะทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ ทั้งประกอบไปด้วยฉันทลักษณ์ต่าง ๆ ก็จะผิดเพี้ยนไป แล้วทำให้คนรุ่นหลังขาดความเข้าใจ เข้าไม่ถึงอรรถรสของภาษา จนด้วยภาษา ไม่สามารถที่จะอ่านได้ถูกต้องยังไม่พอ ปัจจุบันนี้เด็กรุ่นหลังไม่สามารถที่จะแต่งโคลงฉันท์กาพย์ กลอนต่าง ๆ ได้กันแล้ว

    แม้กระทั่งบรรดาลูก ๆ ของกระผม/อาตมภาพเอง เมื่อเวลาเรียนชั้นมัธยม ถึงเวลาครูให้แต่ง ไม่ว่าจะเป็นอินทรวิเชียรฉันท์ วสันตดิลกฉันท์ต่าง ๆ ก็จะต้องส่งอีเมล์หรือว่าส่งไลน์ มาขอให้หลวงพ่อช่วยแสดงฝีมือให้ เมื่อกระผม/อาตมภาพแต่งไปให้แล้ว ก็ต้องย้ำแล้วย้ำอีกว่าจะต้องอ่านให้คล่องปาก ชนิดที่หลับตาท่องได้ ไม่อย่างนั้นถึงเวลาไปสะดุดติดขัด ครูบาอาจารย์จะรู้ว่าเราไม่ได้แต่งเอง เป็นต้น

    แม้ว่าจะเป็นการสนับสนุนเด็กในทางที่ผิด แต่ว่าไม่เช่นนั้นแล้ว เด็กก็จะไม่มีการบ้านส่ง จึงจำเป็นที่จะต้องทำการบ้านให้ลูก เหมือนอย่างกับพ่อแม่สมัยนี้ที่บางคนทำไป แล้วครูก็เขียนกลับมาเล่มสมุดว่า "ขอร้องคุณพ่อคุณแม่อย่าได้ช่วยนะคะ เพื่อที่จะให้เด็กมีความสามารถอย่างแท้จริง" เป็นต้น

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันศุกร์ที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)

     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...