อุตฯไทยโชว์ฝีมือ เตียงผ่าตัดช้าง รายแรกของโลก น้อมถวายในหลวง

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย NoOTa, 17 ธันวาคม 2005.

  1. NoOTa

    NoOTa Super Moderator ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    20,125
    กระทู้เรื่องเด่น:
    349
    ค่าพลัง:
    +64,494
    ชมรมนักพัฒนาอุตสาหกรรมไทย คิดค้นเตียงผ่าตัดช้างเตียงแรกในโลก มูลค่า 3 แสนบาท ถวายในหลวงครองราชย์ครบ 60 ปี หวังช่วยชีวิตช้างบาดเจ็บ สัตวแพทย์ชี้ หากมีเตียงผ่าตัดช้างสามารถลดอาการบาดเจ็บและตายได้

    จากนี้ไปช้างที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณเท้า อาจจะไม่ถึงกับตายอย่างที่แล้วๆ มา เมื่อชมรมนักพัฒนาอุตสาหกรรมไทยได้คิดค้นเตียงสำหรับผ่าตัดช้างได้เป็นผลสำเร็จเป็นเตียงแรกของโลก เพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสทรงครองราชย์ครบ 60 ปี
    นายวุฒิวงศ์ โต๊ะทอง อายุ 59 ปี ประธานชมรมนักพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ผู้คิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ เพื่อคนที่ขาดโอกาสในสังคมไทย ทั้งผลิตขาเทียม ไม้เท้าคนชรา ไม้เท้าคนตาบอด และรถกำจัดขยะครบวงจรแจกฟรี เปิดเผยว่า เมื่อปี 2542-2544 เจ้าหน้าที่มูลนิธิช้างหลายแห่งได้ติดต่อเข้ามาที่ชมรม ให้ช่วยทำเฝือกและขาเทียมให้กับช้างที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่เหยียบกับระเบิดและขาหัก เนื่องจากทราบมาว่าชมรมสามารถทำเฝือกได้เอง แต่พอทำแล้วก็ไม่สามารถใส่ได้ เนื่องจากขาช้างติดเชื้อและเน่า ด้วยเหตุที่ช้างมีน้ำหนักมาก จับให้นอนไม่ได้ จึงทำความสะอาดได้ลำบาก ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เห็นช้างตายไปต่อหน้าต่อตา 3-4 เชือก จึงตั้งใจสร้าง "เตียงผ่าตัดช้าง" ขึ้น
    "ช้างบางเชือกแค่ขาหักแต่กลับต้องตาย เพราะไม่มีเครื่องมือรองรับการรักษาได้ ถ้ามีเครื่องช่วยยกให้ช้างนอนนิ่งๆ ได้ จะทำให้สัตวแพทย์รักษาได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะป่วยเป็นอะไรก็สามารถช่วยให้รอดได้อย่างแน่นอน เหมือนกับคน ถ้าขาหักไปนอนให้หมอใส่เฝือกไม่นานก็เสร็จ" นายวุฒิวงศ์ กล่าว
    นายวุฒิวงศ์ กล่าวต่อว่า เนื่องจากปีนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ครบ 60 ปี จึงตั้งใจสร้างเตียงผ่าตัดช้างขึ้นถวายเป็นพระราชกุศล เพราะช้างเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และที่ผ่านมาการรักษาช้างบาดเจ็บส่วนใหญ่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ช้างหลายเชือกต้องตายทั้งที่บาดเจ็บที่เท้าเท่านั้น จึงคิดค้นและประดิษฐ์เตียงนี้ให้สัตวแพทย์สามารถรักษาช้างได้ง่าย และเปิดทางรอดให้ช้างมากขึ้นด้วย หากโรงพยาบาลช้างต้องการเตียงนี้ สามารถติดต่อผ่านสำนักพระราชวังได้ แล้วชมรมนักพัฒนาอุตสาหกรรมไทยจะเป็นผู้จัดทำและส่งให้ถึงที่
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เตียงผ่าตัดช้างเตียงนี้เป็นเตียงแรกของโลก ที่ทำขึ้นเพื่อรองรับการผ่าตัดช้าง ทำด้วยเหล็กกล้าน้ำหนักรวม 4 ตัน สูง 3.50 เมตร กว้าง 4.50 เมตร ใช้เวลาคิดค้นและประกอบนาน 3 เดือน มูลค่า 3 แสนบาท จากการทดสอบเครื่องจักรสามารถรองรับน้ำหนักได้มากกว่า 8 ตัน ในขณะที่ช้างน้ำหนักจริงแค่ 4-5 ตันเท่านั้น นอกจากนี้ อุปกรณ์ทุกชิ้นสามารถถอดประกอบได้ ใช้พลังงานคนหมุนเฟืองหรือมอเตอร์ก็ได้
    นายคำปุ่น พลมาตร อายุ 41 ปี หนึ่งในช่างเครื่องที่ประกอบเตียงผ่าตัดช้าง อธิบายวิธีการใช้งานเตียงนี้ว่า หากมีช้างบาดเจ็บสามารถถอดอุปกรณ์ออกเป็นชิ้นๆ แล้วขนขึ้นรถกระบะได้ทันที เวลาประกอบชิ้นส่วนจะเสียเวลาราวครึ่งชั่วโมง จากนั้นนำช้างมายืนหันข้างประกบเข้าหาเตียง โดยหันข้างที่ไม่ได้รับบาดเจ็บเข้าหาเตียง ใช้สายรัดที่ทำมาจากผ้าชนิดเดียวกับเข็มขัดนิรภัย มารัดตามส่วนต่างๆ นอกจากนี้ จะมีตาข่ายมาคล้องรอบตัวช้างอีกชั้นหนึ่ง ป้องกันช้างหลุดร่วง เมื่อรัดแน่นกระชับดีแล้วก็กดปุ่มไฮโดรลิกยกเตียงขึ้นตามองศาที่ต้องการ ตั้งแต่ 90-180 องศา ใช้เวลาราว 10 นาที หากช้างเกิดอุบัติเหตุในป่าไม่มีไฟฟ้า ก็สามารถใช้แรงคนหมุนไฮโดรลิกได้เช่นกัน โดยจะกินเวลานานกว่าปกติราว 45 นาที
    น.สพ.นิกร ทองทิพย์ อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการรักษาช้างที่ขาหักหรือต้องผ่าตัด จะเกิดปัญหามาก เพราะช้างมีน้ำหนักตัวมาก น้ำหนักจึงกดทับขา ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ขาช้ำ หรือหลังเข้าเฝือกเมื่อช้างลุก เฝือกยังไม่แข็งดีเฝือกก็จะแตก กลายเป็นปัญหาหนักขึ้น บางเชือกอักเสบมากจนต้องตายไปก็มี สำหรับเตียงนี้จะสามารถช่วยรองรับน้ำหนักช้าง อำนวยความสะดวกในการทำแผล และช่วยพยุงช้างหลังเข้าเฝือกได้ดี
    "เตียงนี้ทำขึ้นเหมือนกับเตียงผ่าตัดม้า เพียงแต่มีขนาดใหญ่กว่า จากการทดลองที่ผ่านมาทำให้เชื่อได้ว่า น่าจะสามารถใช้งานกับช้างได้จริงและใช้ได้ดีด้วย เพราะเตียงปรับได้หลายระดับ ช่วยลดอาการบาดเจ็บและการตายได้สูง รวมทั้งข้อผิดพลาดขณะบังคับให้ช้างนอน เพราะหากบังคับให้ช้างนอนผิดข้าง ดันไปทับข้างที่เป็นแผลก็จะยิ่งลำบากหากจะให้พลิกหันอีกข้าง" น.สพ.นิกร กล่าว ด้าน น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ นายสัตวแพทย์ช่วยราชการสำนักพระราชวัง กล่าวว่า เตียงผ่าตัดนี้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกของสัตวแพทย์ในการรักษาช้าง โดยเฉพาะกรณีที่ช้างได้รับบาดเจ็บ เช่น ถูกงาแทง รถชน จำเป็นต้องวางยาสลบ เครื่องมือนี้จะช่วยได้มาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้ช้างมีโอกาสรอดมากขึ้น มันขึ้นอยู่กับอาการของช้างด้วย อยากให้นำเตียงเหล่านี้ไปติดตั้งตามมหาวิทยาลัยที่มีโรงพยาบาลสัตว์ขนาดใหญ่ เพราะจะสามารถช่วยเหลือสัตว์ได้หลายชนิดไม่เฉพาะแต่ช้างเท่านั้น



    ที่มา : คมชัดลึก
     

แชร์หน้านี้

Loading...