เรื่องเด่น อานิสงส์ของการเพ่งกสิณ

ในห้อง 'บุญ-อานิสงส์การทำบุญ' ตั้งกระทู้โดย MBNY, 28 กรกฎาคม 2007.

  1. MBNY

    MBNY Administrator ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2003
    โพสต์:
    6,864
    กระทู้เรื่องเด่น:
    10
    ค่าพลัง:
    +22,510
    Buddha-1200-001.jpg



    อานิสงส์ของการเพ่งกสิณ

    Advantage of Kasina's Meditation


    การทำสมาธิด้วยวิธีเพ่งกสิณ ถือว่าเป็นกรรมฐานอันดับหนึ่งที่ให้จิตมีอานุภาพเกิดขึ้นมากมายยิ่งกว่ากรรมฐานอย่างอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวอภิญญาอภินิหารทั้งหลาย ล้วนแต่เกิดขึ้นจากอำนาจของกสิณทั้งสิ้น ยกตัวอย่างอภิญญาที่เกิดขึ้นกับพระพุทธองค์และพระสาวกทั้งหลาย โดยมากจะเกิดด้วยอำนาจของกสิณ ทั้งที่เกิดขึ้นด้วยกสิณที่เจริญโดยตรงในชาตินี้ และทั้งที่เกิดโดยอ้อมจากกสิณในอดีตชาติส่งให้เกิดเมื่อบรรลุธรรมถึงที่สุดแล้ว ตามหลักฐานแล้วผู้เพ่งกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งมามีอานิสงส์ที่จะได้จากการเพ่งกสิณหลายอย่างด้วยกัน คือ


    อานิสงส์ข้อที่ 1 การเพ่งกสิณสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้เร็ว และตั้งมั่นอยู่ได้นานกว่ากรรมฐานอื่น ๆ ทั้งหมด ทั้งนี้เพราะการเพ่งกสิณเป็นการฝึกจิตด้วยวิธีการใช้กสิณเป็นสื่อเพื่อดึงจิตให้จับอยู่กับกสิณนั้น ๆ และเมื่อจิตจับอยู่กับกสิณนั้นนานๆ จิตจะสามารถเก็บเอาภาพของกสิณนั้นเข้าไปไว้ในสัญญาของเราได้ ภาพที่จิตของเราเก็บเอามาจากกสิณนั้น เราเรียกว่า นิมิต (Mental Image) ซึ่งถ้าหากจิตเก็บไว้ได้ดีภาพนั้นจะชัดเจนมาก เราสามารถจะนึกภาพให้เกิดขึ้นมาในใจแทนกสิณจริงได้เลย เหมือนกับเราท่องหนังสือสวดมนต์ 10 ถึง 20 หน้า ตอนแรกๆ เพียงอ่านอย่างเดียวก็แทบจะอ่านไม่ออกอยู่แล้ว แต่พอท่องกลับไปกลับมาบ่อย ๆ ภาพตัวหนังสือเหล่านั้นจะถูกเก็บเข้าไว้ในสัญญา (Perception) ของเรา เมื่อเก็บไว้ได้ชัดเจนมากๆ เราสามารถที่จะท่องบทสวดมนต์ได้ด้วยปากเปล่าอย่างถูกต้องทุกตัวอักษรเลย ไม่จำเป็นต้องดูหนังสืออีกก็ได้

    การฝึกจิตด้วยวิธีเพ่งกสิณก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราเพ่งมองแผ่นกสิณบ่อยๆ จิตของเราจะกำหนดภาพนิมิตกสิณนั้นไว้ในใจ และเมื่อเรารักษานิมิตนั้นไว้ให้ปรากฏเด่นชัดมากขึ้น และจิตจะนิ่งเป็นสมาธิอยู่กับภาพกสิณนั้นจนทำให้เกิดคุณภาพจิตที่เรียกว่าฌานเกิดขึ้นได้มากถึง 8 ฌาน ดังนั้น การเพ่งกสิณจึงทำให้จิตเป็นสมาธิได้เร็วและนิ่งอยู่ได้อย่างมั่นคงยาวนานกว่ากรรมฐานอื่น ๆ



    2. ไม่คิดฟุ้งซ่าน และไม่ง่วงนอนในเวลาทำสมาธิ ปกติคนเราเวลานั่งสมาธิไปได้สักพักหนึ่ง จะเกิดอาการคิดไปเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง หรือ ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะง่วงนอนและนั่งหลับอยู่เสมอ การง่วงนอนในเวลาทำสมาธิเป็นภาพที่เห็นจนคุ้นตาเปรียบเสมือนของคู่กับกรรมฐานเลยทีเดียว

    ส่วนการเพ่งกสิณจะไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องนี้มากนัก เพราะการเพ่งกสิณจะทำให้ได้เปลี่ยนอารมณ์สลับกันอยู่ตลอดเวลาระหว่างลืมตาเพ่งมองแผ่นกสิณ และหลับตานึกเพื่อจำภาพกสิณนั้นไว้ในสัญญาสลับกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้จิตได้ทำงานและได้พักผ่อนไปในตัว จึงทำให้จิตมีการเดินหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้จิตไม่มีเวลาในการคิดฟุ้งซ่านและจะตื่นตัวอยู่ตลอดเวลากับภาพนิมิตที่จำได้ จึงทำไม่เกิดอาการง่วงนอน
    ถ้าผู้เพ่งกสิณเฝ้าสังเกตดูจะรู้ว่า ในช่วงใดที่จิตของเราคิดไปที่อื่น หรือเริ่มมีอาการง่วงนอน ภาพนิมิตกสิณที่ปรากฏอยู่นั้นจะเลือนหายไปทันที ดังนั้น ผู้เพ่งกสิณจะรู้ตัวได้ว่า ขณะไหนตัวเองเริ่มมีอาการฟุ้งซ่านหรือง่วงนอน เพราะภาพนิมิตกสิณจะเป็นตัวบอกเหตุทำให้เปลี่ยนอารมณ์ได้ทัน จึงทำให้สมาธินิ่งได้นานกว่ากรรมฐานอื่น ๆ


    3. ทำให้ภาพนิมิตติดตาได้ง่าย จุดประสงค์ของการเพ่งกสิณนี้ เป้าหมายหลักก็คือ การเพ่งมองวัตถุเพื่อให้วัตถุที่เพ่งนั้นติดตา แล้วต่อไปจึงใช้ภาพที่ติดตานั้นไปทำประโยชน์ในทางสมาธิต่อไป โดยหลังจากที่ภาพกสิณติดมาในใจได้แล้ว จะส่งผลดีต่อการฝึกเป็นอย่างมาก เพราะจิตจะได้นิมิตเป็นตัวยึดทำให้ไม่ฟุ้งซ่าน และมุ่งตรงไปกับนิมิตนั้นจนกระทั้งจิตเกิดคุณภาพทางสมาธิได้อย่างสมบูรณ์ การที่กสิณเป็นสมาธิที่ติดตาได้ง่ายจึงมีผลดีมากต่อการทำสมาธิด้วยวิธีนี้


    4. ทำให้สัญญาดี มีความจำดี ไม่หลงลืมสติ อานิสงส์ข้อนี้ นับว่ามีความสำคัญมากเพราะเป็นการฝึกเข้าไปถึงศักยภาพภายในของแต่ละคนเลยทีเดียว ศักยภาพที่ว่านี้ คือ สัญญา หมายถึง ความจำของสัตว์โลกทั้งหมดนั่นเอง พระพุทธองค์ทรงอธิบายส่วนประกอบของสัตว์โลกไว้ว่า สัตว์โลกมีส่วนประกอบสำคัญหลักๆ อยู่ 5 ประเภท เรียกว่า ขันธ์ 5 คือ

    ร่างกายทั้งหมด เรียกว่า รูปขันธ์ (Body or Form)
    ความรู้สึกต่างๆ เรียกว่า เวทนาขันธ์ (Sensation)
    ความจำข้อมูลต่างๆ ไว้ได้ เรียกว่า สัญญาขันธ์ (Perception)
    ความคิดทั้งหมด เรียกว่า สังขารขันธ์ (Mental Activities)
    จิตที่รับอารมณ์ทั้งหมด เรียกว่า วิญญาณขันธ์(Consciousness)

    การเพ่งกสิณนี้เป็นการฝึกสัญญา หรือ ฐานความจำของเราให้ดี เมื่อสัญญาดีมีความชัดเจนแล้ว เวลารับอารมณ์อย่างอื่นอารมณ์นั้นๆ จะติดตาได้เร็ว และมีความชัดเจนเหมือนกับผ้าขาวบริสุทธิ์เมื่อมีสีอะไรมากระทบก็ติดได้ทันทีแล้วชัดเจนมาก ต่างจากผ้าที่สกปรกแม้จะย้อมกับสีอื่นก็ไม่อาจติดได้ดี เพราะมีของสกปรกหุ้มอยู่ เมื่อเราเพ่งกสิณฝึกสัญญาให้ดีมีความบริสุทธิ์แล้ว จิตจะรับอารมณ์ได้ดีและจำได้แม่นยำไม่หลงลืมง่ายๆ เมื่อมีความจำดีและจำได้มากๆ ท่านเรียกว่า มีข้อมูลทางสมอง (มโนสัญเจตนาหาร) มาก ทำให้สามารถดึงเอาออกมาศึกษาวิเคราะห์ด้วยตัวเองได้ ทำให้กลายเป็นคนฉลาดก็เพราะมีข้อมูลทางสมองมาก เหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องที่ถูกป้อนข้อมูลเข้าไปมากๆ ก็ใช้งานได้มาก


    5. สามารถทำรูปฌาน 4 ให้เกิดได้ง่าย คำว่า ฌาน ในที่นี้หมายถึง การเพ่ง (Gazing) เมื่อต่อกับคำว่ารูป จึงมีรูปเป็น "รูปฌาน" หมายถึงการเพ่งอยู่กับรูปธรรม หรือ รูปวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่งจนสภาวะจิตนิ่งได้ระดับที่มีคุณภาพดี ท่านเรียกจิตที่เพ่งได้ในระดับเหล่านี้ว่า ฌาน ในระดับต่าง ๆ โดยแบ่งออกเป็นการเพ่งที่อาศัยรูปธรรม 4 ระดับ เรียกว่า รูปฌาน 4 และจิตที่เพ่งอาศัยอรูปธรรมอีก 4 ระดับ เรียกว่า อรูปฌาน 4

    ในอานิสงส์ข้อนี้ ผู้เพ่งกสิณที่สามารถทำนิมิตติดตาได้แล้ว ภายหลังเมื่อหลับตาลงจะเพ่งกสิณ ภาพกสิณที่เก็บไว้ในนิมิตนั้นจะปรากฏเด่นชัดขึ้นมาในสัญญาและสดใสบริสุทธิ์มากกว่าภาพกสิณจริงหลายร้อยเท่า ทั้งนี้เป็นเพราะอานิสงส์จากข้อ 4 คือ มีสัญญาดี จึงทำให้นิมิตปรากฏง่ายและชัดเจน เมื่อเพ่งอยู่กับภาพนิมิตกสิณนั้นนานๆ จิตจะนิ่งได้ระดับการเพ่งที่เรียก ฌานในระดับต่างๆ ได้เร็ว ดังนั้น การเพ่งกสิณจึงสามารถทำให้เกิดรูปฌาน 4 ได้ง่าย พระพุทธองค์ทรงเรียกผู้เพ่งนิมิตกสิณนานๆ ว่า ฌานกีฬา แปลว่า ผู้เล่นฌาน หมายถึง เล่นอยู่กับการเพ่งนิมิตกสิณต่างๆ นั่นเอง

    นอกจากนี้คำว่า ฌาน ยังหมายถึงการเผาได้ด้วย หมายถึง ฌานเป็นตัวเผานิวรณ์และกิเลสต่างๆ ให้เหือดแห้งไป ตั้งแต่นิวรณ์ไปจนถึงตัณหาและอุปาทาน (ความต้องการทางกามคุณและความยึดติดเหนี่ยวรั้งไว้) คำว่า ฌาน เป็นคำชนิดเดียวกับ "ฌาปนกิจ" ที่เราใช้ในการเผาศพ แต่ "ฌาน" นี้ใช้ในการเผากิเลสให้หมดไป

    บางคนอาจตั้งคำถามขึ้นมาใจว่า ถ้า ฌาน หมายถึงการเผากิเลส แล้วทำไม? พวกฤาษีที่ได้ฌานจึงไม่อาจเผากิเลสให้หมดไปได้ คำถามนี้ก็ต้องตอบว่า เพราะท่านฤาษีทั้งหลาย เป็นพวกชนิดที่หวังได้อัตตาอมตะ หวังได้ชีวิตถาวรอมตะอยู่ ยังมีความเข้าใจผิดอยู่ ดังนั้น แม้จิตจะเผากิเลสได้เบาบางมากแล้ว แต่ก็ยังไม่หมดเชื้อของอวิชชา เมื่อหมดอายุขัยจากการเป็นพรหมแล้ว ท่านจึงยังต้องกลับมาเกิดใหม่ได้อีก


    6. สามารถใช้กสิณเป็นฐานของฌานขั้นที่ 5 ได้ (อากาสานัญจายตนะ - ขั้นกำหนดอากาศ - Gazing at Space) อานิสงส์ข้อนี้นับว่าสำคัญมาก ถ้าคนผู้ไม่เคยเพ่งกสิณชนิดใดชนิดหนึ่งมาก่อนเลย จะไม่สามารถทำอรูปฌานใดๆ ได้ เพราะอรูปฌานจะต้องเจริญต่อจากกสิณ 9 ชนิดอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น (ยกเว้นอากาสกสิณ) อยู่ๆ จะเจริญอรูปฌานโดยตรงไม่ได้

    บุคคลผู้ที่ฝึกจิตด้วยกรรมฐานอื่นๆ มา เช่น อานาปานสติ (Mindfulness on Breathing) หรือ อสุภกรรมฐาน (Corpses Meditation) คือ กรรมฐานที่เพ่งซากศพ เป็นต้น แม้บางกรรมฐานจะทำฌานได้ถึงฌาน 4 ก็จริง แต่ก็ไม่สามารถนำกรรมฐานเหล่านั้น มาเป็นฐานเพื่อกำหนดจิตให้ขึ้นสู่อารมณ์ขั้นอรูปฌานได้ ทั้งนี้ก็เพราะอารมณ์ของอรูปฌานนั้น จะต้องอาศัยกสิณ 9 ชนิดเป็นฐานให้เสียก่อนจึงจะเจริญได้ เหมือนกับอุเบกขา (พรหมวิหาร) ผู้ที่จะเจริญอุเบกขาได้จะต้องเจริญพรหมวิหาร 3 ข้อแรก คือ เมตตา (Friendliness) กรุณา (Compassion) และมุทิตา (Sympathetic Joy) มาเป็นฐานเสียก่อน ต่อจากนั้นจึงจะเจริญอุเบกขา (Neutrality) ต่อได้ ผู้ฝึกจิตด้วยกรรมฐานอื่นๆ มาก็ไม่สามารถเจริญอุเบกขาได้เช่นกัน

    ดังนั้น นิมิตกสิณทั้ง 9 ชนิดจึงมีความสำคัญต่อผู้ปฏิบัติกรรมฐานเพื่อเจริญสมาบัติ 8 เป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่เพ่งกสิณมาจะทำอรูปฌานให้เกิดไม่ได้

    การใช้นิมิตกสิณเป็นฐานของฌานขั้นที่ 5 นั้น จะต้องฝึกกสิณจนเป็นปฏิภาคนิมิตได้เสียก่อน ต่อจากนั้นจึงขยายนิมิตนั้นให้เต็มขอบตา โดยขยายให้เป็นสีเดียวล้วนๆ แล้วเปลี่ยนจิตจากการกำหนดสีของกสิณนั้นไปกำหนดอากาศทับซ้ำเข้าบนนิมิตกสิณนั้นอีกต่อหนึ่ง จิตจะเปลี่ยนจากการกำหนดสีของกสิณมากำหนดอากาศว่างๆ ทับบนกสิณอีกต่อหนึ่ง

    ต่อจากนั้นให้ใช้อากาศนั้นเป็นฐานของการกำหนดฌานขั้นที่ 6 ต่อไปอีก คือ เปลี่ยนจิตจากการที่กำหนดอยู่กับอากาศนั้นหันมากำหนดยังจิตของตัวเอง (วิญญาณัญจายตนะ) ให้รู้ถึงการรับรู้ที่อยู่บนอากาศนั้น

    ต่อจากนั้นให้ใช้ฌานขั้นที่ 6 นั้นเป็นฐานของฌานขั้นที่ 7 ต่อไปอีก คือ เปลี่ยนจากการกำหนดดูจิตตัวเองมาเป็นพยายามดับการรับรู้ของจิตทั้งหมด พยายามที่จะไม่รับรู้อะไรทั้งหมด (อากิญจัญญายตนะ) โดยพยายามที่จะดับจิตตัวเอง เพื่อมิให้มีการรับรู้ใดๆ

    ต่อจากนั้นฌานขั้นที่ 7 นี้จะเป็นฐานในฌานขั้นที่ 8 ต่อไปอีก (เนวสัญญานาสัญญายตนะ) ได้เอง ฌานขั้นนี้ จิตจะไม่มีการรับรู้ใดๆ แล้ว ไม่มีความนึกคิด ไม่มีความทรงจำผุดขึ้นมาในใจ มีสภาวะจิตเหลืออยู่อย่างเบาบางมาก แต่ยังไม่ถึงกับดับได้ทั้งหมด

    และฌานขั้นที่ 8 นี้ จะเป็นฐานของนิโรธสมาบัติ หรือ สัญญาเวทยิตนิโรธได้อีก คือ ในขั้นนี้จิตจะดับไปทั้งหมด ไม่มีจิตใดๆ เหลืออยู่ในการรับรู้อารมณ์เลย สภาวะในขั้นนี้เป็นเหมือนการนิพพานจริงของพระอรหันต์ แต่สมาบัติในขั้นนี้เกิดในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นเพียงการชิมรสของพระนิพพานในปัจจุบันของพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่ได้ฌาน 8 มาเท่านั้น ทำให้ท่านทราบว่า อารมณ์ของนิพพานในการดับนั้นเป็นเช่นใด ก่อนจะนิพพานจริงเมื่อสิ้นอายุขัย

    ในการเข้าฌานถึงระดับนิโรธสมาบัตินี้ มีข้อจำกัดอยู่อย่างหนึ่งว่า จะต้องเป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์ที่ได้สมาบัติ 8 มาเท่านั้น ส่วนบุคคลธรรมดาแม้จะทำสมาธิมาถึงสมาบัติ 8 ได้ ก็จะไม่สามารถเข้านิโรธสมาบัติได้ ทั้งนี้ก็เพราะสภาวะจิตยังละกามสังโยชน์เบื้องสูงยังไม่ได้ หรือแม้แต่ท่านที่เป็นพระอนาคามีและพระอรหันต์เอง แต่ไม่มีฌานสมาธิไม่สามารถทำสมาบัติ 8 ได้ ก็จะเข้านิโรธสมาบัตินี้ไม่ได้เหมือนกัน

    ดังนั้น สมาธิกสิณจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับนักปฏิบัติที่ต้องการความสำเร็จสูงสุดในทางสมาธิ เพราะเป็นฐานสำคัญที่จะนำจิตให้ขึ้นไปสู่สมาธิชั้นสูง คือ อรูปฌานได้ เพราะถ้าทำอรูปฌานไม่ได้แล้ว ก็ไม่สามารถทำสมาบัติให้ครบ 8 ได้ ดังนั้น ท่านจึงนิยามกสิณว่า กสิณ คือ บ่อเกิดแห่งฌานและสมาบัติ

    นอกจากนี้อำนาจของฌานสมาบัติ ยังมีผลต่อการบรรลุธรรมอีกด้วย ดังพุทธพจน์ที่ว่า ฌานสมาบัติมีอยู่เท่าใด การบรรลุธรรมก็มีได้เท่านั้น


    7. สามารถเนรมิตรูปต่างๆ และสีต่างๆ ขึ้นมาได้ อานิสงส์ข้อนี้ สำหรับผู้ฝึกเพ่งกสิณชนิดใดสำเร็จได้แล้ว และมีความชำนาญในกสิณนั้นมากๆ เรียกว่า มีวสี (Experience) ในกสิณนั้น ๆ แล้ว สามารถที่จะใช้อำนาจจิตที่ฝึกมาดีแล้วนั้นในการเนรมิตรูปต่างๆ และสีต่าง ๆ ตามชนิดกสิณที่ตนเองฝึกมาให้ปรากฏได้ เช่น ผู้เพ่งกสิณสีแดงสำเร็จ สามารถเพ่งวัตถุให้เป็นสีแดงตามที่เราต้องการได้ โดยจะให้ตนเองเห็นหรือให้คนอื่นเห็นด้วยก็ได้ ตราบเท่าเวลาที่เรากำหนดจิตให้ปรากฏ แต่เมื่อเราหยุดกำหนดหรือที่เรียกว่าคลายฤทธิ์แล้ว ทุกอย่างจะกลับมีสภาพปกติเหมือนเดิม

    จากความจริงข้อนี้ เราจะเห็นความจริงอีกข้อหนึ่งว่า แม้พระพุทธเจ้าจะมีอิทธิฤทธิ์มากมาย แต่พระองค์ก็ไม่เคยเนรมิตสิ่งใดให้กับสาวกคนใดเลย ทั้งนี้เพราะว่า สิ่งที่เนรมิตขึ้นมานั้นจะเห็นเป็นจริงอยู่ได้ตลอดเวลาเท่าที่เรากำหนดจิตให้เป็นเท่านั้น เมื่อคลายจิตแล้วทุกอย่างจะกลับเข้าที่เดิม

    ดังนั้น เรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ (Marvel of Psychic Power)ต่างๆ พระพุทธองค์สรรเสริญเพียงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ (Marvel of teaching) อย่างเดียว คือ ปาฏิหาริย์ที่สามารถสอนผู้อื่นให้เข้าใจธรรมะและบรรลุมรรคผลตามได้ ปาฏิหาริย์นอกนี้ไม่ทรงสรรเสริญ แม้ผู้ที่ทำได้เอง แต่ถ้าเมื่อใดที่สภาวะจิตตกต่ำลง ก็อาจเสื่อมจากฤทธิ์เหล่านี้ได้เช่นกัน

    แต่อำนาจฤทธิ์นี้จะมีประโยชน์มากสำหรับพระอริยสาวกในการประกาศพระศาสนา แม้พระพุทธองค์จะไม่ทรงแสดงต่อหน้าพระสาวกทั่วไป แต่ภายในพระองค์ทรงใช้อยู่ตลอดเวลาทั้งในการตรวจดูอุปนิสัยของผู้ฟังธรรม ทั้งในการแสดงธรรมต่อเหล่าเทวดา หรือแสดงเพื่อปราบพวกเดียรถีย์ เป็นต้น


    8. ทำให้ได้โลกียอภิญญา คำว่า โลกียอภิญญา (Worldly Super knowledge) หมายถึง อิทธิฤทธิ์ต่างๆ ที่ยังอาจเสื่อมได้ อานิสงส์ข้อนี้ สำหรับผู้ที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับอภิญญาต่างๆ อยู่ มีทัศนะผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มาก เช่น จะได้ยินบางคนพูดอยู่เสมอๆ ว่า ‘ไม่กล้านั่งสมาธิเพราะกลัวเหาะได้' ซึ่งการพูดเช่นนี้แสดงว่า ผู้พูดยังไม่เข้าใจในเรื่องของอภิญญาต่างๆ เลย ตามความเป็นจริงแล้ว การนั่งกรรมฐานที่สอนๆ กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันนี้ คือ อานาปานสติ แม้จะทำอานาปานสติจนได้ฌานหรือแม้แต่บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ ก็ไม่สามารถเหาะเหินเดินอากาศตามที่กล่าวได้ เพราะอานาปานสติไม่มีอานุภาพในด้านนี้

    กรรมฐานที่สามารถทำให้เกิดอภิญญาต่างๆ ได้นั้น โดยมากเป็นเพราะอานุภาพของกสิณทั้ง10 ชนิด และกสิณแต่ละชนิดก็ทำให้เกิดอภิญญาได้แตกต่างกันตามชนิดของกสิณนั้นๆ เช่น การเหาะเหินเดินอากาศจะต้องทำจากวาโยกสิณ คือ กสิณลม การเดินบนน้ำได้จะต้องทำได้จากปฐวีกสิณ คือ กสิณดิน การดำดินได้ก็จะต้องทำจากอาโปกสิณ คือ กสิณน้ำ การมีตาทิพย์ได้ ก็จะต้องทำจากโอทาตกสิณ คือ กสิณสีขาว หรือ เตโชกสิณ คือ กสิณไฟ เป็นต้น

    กสิณแต่ละชนิดทำให้เกิดอภิญญาได้ต่างกันตามศักยภาพของแต่ละกสิณ ดังเช่นอานุภาพของกสิณที่พระพุทธองค์ทรงใช้แสดงอภิญญาครั้งแสดงยมกปาฏิหาริย์เพื่อปราบพวกเดียรถีย์ ครั้งนั้นพระองค์ทรงแสดงท่อเปลวไฟและท่อสายน้ำพุ่งออกจากพระวรกายในส่วนต่าง ๆ สลับกัน เช่น ท่อไฟพุ่งออกทางช่องพระกัณณ์ด้านขวา ท่อน้ำพุ่งออกทางช่องพระกัณณ์ด้านซ้ายสลับกันเช่นนี้ไปตามองคาพยพส่วนต่างๆ การแสดงครั้งนี้ทรงใช้เพียงกสิณไฟ และกสิณน้ำสองอย่างนี้เท่านั้น

    แต่การที่จะทำอภิญญาให้เกิดได้ถึงขั้นนี้ พระอรรถกถาจารย์ กล่าวว่า เป็นงานหนักสำหรับผู้ปฏิบัติเป็นอย่างมาก ถ้าเปรียบเทียบกับผู้ปฏิบัติด้วยกันแล้ว เพียงแค่ผู้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดอุคคหนิมิตนั้นก็ยากอยู่แล้ว ต่อจากผู้ที่ทำอุคคหนิมิตได้นั้นจะทำให้เป็นปฏิภาคนิมิตได้นั้นก็ยาก แต่สำหรับผู้มีความมุ่งมั่นจริง และผู้มีบารมีมาเต็มเปี่ยมแล้วก็ไม่เกินวิสัยที่ท่านจะทำได้



    9. สามารถได้อภิภายตนะ 8 อย่าง คำว่า อภิภายตนะนี้ พวกเรามักจะไม่คุ้นหูกันเท่าที่ควรนัก เพราะไม่ค่อยมีการนำมาอธิบายกัน อภิภายตนะนี้ เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของจิตที่มีผลมาจากการเพ่งกสิณสีทุกสี คือ กสิณสีแดง สีเขียว สีเหลือง และสีขาว และนอกจากนี้ปฐวีกสิณ (กสิณดิน) ก็อาจทำได้บ้างเล็กน้อย ส่วนกสิณอื่นๆ นอกจากนี้ไม่สามารถทำให้เกิดอภิภายตนะใดๆ ได้เลย

    คำว่า อภิภายตนะ (Special Resistance) นี้ แปลว่า ภูมิคุ้มกันความบกพร่องทางอารมณ์ หรือ ภูมิคุ้มกันพิเศษทางอายตนะ หรือแปลง่ายๆ ว่า สัมผัสพิเศษ คือ มีความรู้สึกพิเศษที่แตกต่างไปจากคนทั่วไปเวลามองในสิ่งเดียวกัน เป็นภูมิคุ้มกันที่ทำให้จิตอยู่เหนืออารมณ์ทั้งปวงได้ โดยอารมณ์ต่างๆ จะไม่สามารถมีอิทธิพลครอบงำจิตของผู้มีอภิภายตนะได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นๆ จะมีลักษณะเช่นใดก็ตาม เพราะสภาวะจิตของผู้ที่ได้อภิภายตนะจะตัดสินอารมณ์ได้ก่อนเสมอ ก่อนที่อารมณ์เหล่านั้นจะมาครอบงำจิตของท่านได้ เช่น เวลาสัมผัสกับอารมณ์ครั้งใด ท่านจะตัดสินอารมณ์ได้อย่างละเอียดชัดแจ้ง แล้วเกิดความรู้สึกขึ้นมาในใจด้วยอาการ 3 ขั้นตอนเสมอว่า เรารู้แล้ว เราเห็นแล้ว เราเข้าใจธรรมชาติของสิ่งนี้แล้ว ก่อนที่ความไม่เข้าใจจะครอบงำจิต ทำให้หลงใหลยึดติดเพลิดเพลินไปตาม

    อภิภายตนะนี้ ตามที่ท่านอธิบายไว้มีทั้งหมด 8 อย่าง แต่อาจสรุปย่อๆ ได้ว่า ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นคนธรรมดา หรือ มีผู้ฌานวิเศษก็ตาม ถ้าได้อภิภายตนะแล้ว ในเวลาพบกับอารมณ์ไม่ว่า จะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ มีความสวยงาม หรือ มีความสกปรก หรือน่าเกลียด ทั้งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าหรือเห็นด้วยตาทิพย์ก็ตาม จะมีสีสดสวยเป็นทับทิมแดง สีเขียวมรกต สีเหลืองบุษราคัม หรือ สีขาวเป็นเพชร ที่สวยงามเพียงใดก็ตาม เช่น เพชรพลอยต่างๆ ผู้นั้นจะมีความรู้สึกในใจว่า เรารู้แล้ว เรารู้ความจริงของสิ่งนี้แล้ว เราเห็นความเป็นธรรมดาของมันแล้ว ดังนี้ผุดขึ้นมาในความคิด ทำให้ไม่หลงยึดติดกับสิ่งที่เห็นเหล่านั้นได้

    สรุปความว่า อภิภายตนะที่ได้จากการเพ่งกสิณสีนี้ จะทำให้แนวความคิดและทัศนะการมองของผู้ได้มีความชัดเจนขึ้น ไม่เอนเอียงไปในทางใฝ่หาตามความต้องการของกิเลส ทำให้วางใจได้ เพราะรู้และเข้าใจธรรมชาติของมัน


    10. สามารถบรรลุสุภวิโมกข์ได้ ข้อนี้ก็เป็นความสามารถพิเศษเฉพาะกสิณสีเช่นเดียวกับข้ออภิภายตนะ ส่วนกสิณอื่นๆ ไม่สามารถได้อานิสงส์ข้อนี้

    คำว่า สุภวิโมกข์ (Beautifully or Liberation) แปลว่า หลุดพ้นได้ง่ายแม้มองเห็นสิ่งสวยงาม ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เราสามารถสร้างภาพนิมิตของกสิณสีขึ้นมาในใจได้ และเห็นภาพนิมิตเหล่านั้นมีความสวยงามมากกว่าภาพที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าเป็นหลายร้อยเท่า

    ดังนั้น ถึงแม้สิ่งที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าซึ่งคนทั่วไปเห็นว่าเป็นของสวยงาม แต่สำหรับผู้ที่ได้นิมิตกสิณที่สวยงามกว่านั้น จะมีความรู้สึกธรรมดา และยังสามารถทำให้บรรลุธรรมได้ด้วย แทนที่จะยึดติดหลงใหลเหมือนคนทั่วไป

    นอกจากนี้ คำว่า สุภวิโมกข์ ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ ทำให้บรรลุธรรมได้ง่าย (Easily Liberation) อันเป็นผลมาจากอภิภายตนะด้วยเหมือนกัน


    11. สามารถเจริญวิปัสสนาต่อเพื่อบรรลุมรรคผลได้ สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ก็คือข้อนี้ ได้แก่ การนำจิตที่มีศักยภาพเต็มที่แล้วนั้นมาใช้เป็นฐานสำหรับเจริญวิปัสสนาต่อเพื่อให้เข้าใจความจริงของชีวิตและรู้แจ้งแทงตลอดได้ อันจะทำให้สิ้นกิเลสหลุดพ้นจากการผูกมัดของกิเลสทั้งปวง ดำเนินไปสู่ทางที่ถูกต้อง คือ มรรคผล และดับได้อย่างสนิท อันเป็นการสิ้นสุดการเดินทางในวัฏสงสารที่ยาวนาน อันเต็มไปด้วยทุกข์นานาประการนี้ได้อย่างนิรันดร เป็นบรมสุขตลอดกาล

    ในข้อนี้มีผู้ยังไม่เข้าใจได้กล่าวตำหนิว่า สมถกรรมฐานเช่นการเพ่งกสิณนี้ ไม่สามารถทำให้เกิดปัญญาได้ ไม่ควรฝึก แต่ได้ชักชวนว่าควรฝึกวิปัสสนาจะดีกว่าเพราะทำให้สิ้นกิเลสได้ เรื่องนี้ผู้เขียนจะไม่ตอบเอง แต่จะสรุปจากพระไตรปิฎกเล่มที่ 20 ข้อ 43 หน้า 10 มาตอบแทนว่า สมถะกับวิปัสสนาอย่างไหนควรเจริญหรือไม่อย่างไร?

    พระพุทธองค์ตรัสว่า คนที่ยังมีจิตวุ่นวายอยู่ จะทำวิปัสสนาให้เกิดได้นั้นเป็นอฐานะ คำว่า อฐานะ แปลว่า เป็นไปไม่ได้ ท่านเปรียบเหมือนน้ำที่ขุ่น แม้คนที่มีตาดีก็ไม่สามารถมองเห็น กุ้ง หอย ปู ปลา ภายใต้น้ำได้ เพราะน้ำขุ่น ต่อเมื่อเราทำน้ำนั้นให้ใสแล้ว คนที่มีตาดีจึงสามารถมองเห็น กุ้ง หอย ปู ปลา ภายใต้น้ำได้ เพราะน้ำใสแล้ว

    คนที่ยังมีจิตขุ่นมัวด้วยกิเลส ก็จะทำวิปัสสนาให้เห็นแจ้งความจริงไม่ได้เช่นกัน ต่อเมื่อเราทำจิตให้นิ่งสงบผ่องใสด้วยสมถกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจนได้ฌาน และฌานนั้นเป็นตัวข่มกิเลสให้สงบลง จิตใจจะผ่องใส ต่อจากนั้นปัญญาก็จะมีโอกาสผุดขึ้นมาพิจารณาความจริงของโลกและชีวิตได้ และมีโอกาสบรรลุธรรมได้ในที่สุด

    ความจริงเรื่องฌานสมาธิหรือสมถกรรมฐาน ที่จะทำเป็นฐานเพื่อต่อยอดด้วยวิปัสสนานี้ ถ้าจะพูดให้ถูกจริงๆ ต้องพูดว่า ฌาน(สมถะ)ทำให้ออกผลมาเป็นวิปัสสนาจึงจะถูก เพราะว่าฌาน(สมถะ)นี้เป็นเหตุ วิปัสสนาเป็นผล วิปัสสนา(ปัญญาที่เข้าใจความจริง)เกิดได้ก็เพราะจิตได้รับการฝึกมาอย่างบริสุทธิ์แล้วด้วยฌาน(สมถะ)จึงทำให้เกิดปัญญาขึ้นมา เหมือนเราพูดว่า ปลูกต้นไม้เพื่อให้ต้นไม้นั้นเป็นฐานแล้วค่อยต่อยอดทำให้ผลเกิดทีหลังอย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะต้นไม้เมื่อเจริญเติบโตดีแล้วไม่จำเป็นต้องรอเวลาไปต่อยอดให้ผลเกิดภายหลังก็ได้ เมื่อมีความสมบูรณ์ได้ที่แล้ว มันก็ออกผลของมันขึ้นมาเองได้ไม่ต้องรอเวลาต่อยอด เรื่องนี้ถ้าจะพูดให้ถูกควรพูดว่า ปลูกต้นไม้ให้สมบูรณ์แล้วจะทำให้ออกผลมาได้เอง ดังนี้จึงจะถูก เหมือนกับการพูดเรื่องฌานกับวิปัสสนา

    ดังนั้น การทำสมาธิให้จิตสงบด้วยการเพ่งกสิณ (หรือสมถกรรมฐานอื่น ๆ) จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะขาดไม่ได้ เพราะจิตของคนเรานั้น มีลักษณะที่หยาบกระด้างบังคับได้ยาก คิดไปในเรื่องต่างๆ ได้อยู่ตลอดเวลา เมื่อถูกฝึกให้นิ่งสงบอยู่กับกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งจนบังคับได้แล้ว จิตจะนุ่มนวล (เป็นมุทุกะ - Soft) สามารถบังคับได้ เหมาะที่จะนำไปใช้งานได้ทุกอย่าง (เป็นกัมมนิยะ - Adaptability) เหมือนทหารที่แข็งแรงจากการได้ฝึกมาอย่างโชกโชนแล้ว ก็อาจที่จะสู้รบกับข้าศึกศัตรูได้ทุกรูปแบบเหมือนกัน

    นอกจากปัญหาเรื่องนี้แล้ว ยังมีบางคนกลัวว่า เมื่อเพ่งกสิณแล้วจะไปยึดติดกับนิมิตกสิณจะทำให้เสียสติได้
    เรื่องของนิมิต (Mental Image) นี้ จะต้องเข้าใจไว้ก่อนว่านิมิตที่พูดๆ กันนี้ มีอยู่ 2 ชนิด ด้วยกัน คือ

    1. นิมิตที่เป็นรูปภาพ และความรู้สึกต่าง ๆ ที่ปรากฏขึ้นมาในเวลานั่งสมาธิ และ ความฝันที่ปรากฏให้เห็นในเวลานอนหลับ เหล่านี้ท่านเรียกว่า นิมิต

    2. ภาพนิมิตของกสิณทั้งหมดที่ปรากฏขึ้นมาในใจในเวลาเพ่งกสิณ ท่านก็เรียกว่า นิมิต เช่นเดียวกัน
    นิมิตประเภทแรกนั้น ท่านเรียกว่านิมิตแทรก ที่ปรากฏขึ้นมารบกวนสมาธิ เป็นสิ่งที่จะขจัดทิ้งหรือไม่ต้องสนใจให้มากนัก เหมือนกับความฝันที่ปรากฏขึ้นมารบกวนการนอนหลับ ความจริงแล้วการนอนที่ดีที่สุด คือ การหลับโดยที่ไม่ฝันเลยเหมือนการนอนหลับของพระอรหันต์ เมื่อนอนหลับไม่ฝันจะทำให้ได้พักผ่อนเต็มที่ แต่ถ้าฝันทั้งคืนเวลาตื่นมาตอนเช้าก็จะเกิดอาการเมื่อยล้าเหมือนกับไม่ได้นอนทั้งคืน
    นิมิตประเภทแรกที่แทรกเข้ามารบกวนสมาธินี้ก็เช่นเดียวกัน แต่นิมิตประเภทนี้

    ก็เป็นเครื่องบอกเหตุที่ดีได้อย่างหนึ่งว่า เราได้มีการฝึกจิตก้าวหน้าไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ใช่จุดหมายปลายทางที่เราต้องการ เปรียบเหมือนเราอยู่ที่กรุงเทพต้องการเดินทางไปเชียงใหม่ เมื่อออกเดินทางจากกรุงเทพไปแล้วจะพบอยุธยา ชัยนาท นครสวรรค์ ไปตามลำดับ การพบเห็นอยุธยาก็จะเป็นเครื่องบอกเหตุว่า เราออกจากจากกรุงเทพไปไกลเท่าไรแล้ว เหลืออีกเท่าไรจะถึงเชียงใหม่ หรือไปถึงนครสวรรค์ก็จะรู้ไปอีกระดับหนึ่ง แต่ในเรื่องนี้ อาจมีผู้เข้าใจผิดคิดว่านครสวรรค์เป็นเชียงใหม่แล้วหยุดอยู่ที่นครสวรรค์นั้นก็ได้ สำหรับคนที่ไม่รู้

    การพบเห็นนิมิตต่างๆ ในสมาธิก็เช่นเดียวกัน ท่านบอกว่า เป็นนิมิตฝ่ายดี เพราะเป็นเครื่องบอกเหตุถึงความก้าวหน้าของการฝึกจิต ไม่ว่าเราจะฝึกจิตมาด้วยกรรรมฐานใดๆ ก็ตาม นิมิตเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นอย่างแน่นอนไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เห็นนิมิตนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่เราจะต้องเข้าใจก่อนว่า นิมิตเหล่านี้ ท่านเรียกว่าวิปัสสนูปกิเลส แปลง่ายๆ ว่า นิมิตแทรกเข้ามา ซึ่งบางครั้งอาจทำให้คนที่ไม่เข้าใจนิมิตหลงผิดคิดว่าตนเองบรรลุธรรมแล้วก็มี ถ้าแปลตามรูปศัพท์แล้ว ก็แปลว่า อุปกิเลสของวิปัสสนา หรือสิ่งที่จะมาปิดบังการรู้แจ้ง หรือจะแปลว่า นิมิตที่จะมาทำให้เข้าใจผิดก็ได้

    วิปัสสนูปกิเลสหรือนิมิตแทรกนี้ เรียกตามศัพท์อีกอย่างหนึ่งว่า ธัมมุทธัจจวิคตหิตมานัส แปลให้งงเล่นๆ ว่า ใจที่ถูกชักนำให้เขวด้วยธรรมอุทธ์ แต่ถ้าจะแปลเอาความหมายง่าย ๆ คือ วิธีที่จิตของผู้ปฏิบัติอาจถูกสิ่งที่ปรากฏขึ้นมาในเวลาทำกรรมฐานชักนำให้ออกนอกลู่นอกทางของการตรัสรู้ได้ เหมือนนครสวรรค์ชักนำให้บางคนเข้าผิดคิดว่าเชียงใหม่

    นิมิตแทรกที่มีผู้เข้าใจผิดบ่อยที่สุด คือ นิมิตโอภาส คือ แสงสว่าง เมื่อเห็นแสงเกิดขึ้นมาในใจ บางคนคิดว่าตนเองบรรลุธรรมแล้วก็มี ซึ่งจริงๆ เป็นเพียงนิมิตโอภาสอย่างหนึ่งในบรรดาวิปัสสนูปกิเลสทั้ง 10 อย่างนั้น ผู้ปฏิบัติจึงไม่ควรดีใจกับสิ่งที่พบเห็นจนกลายเป็นความเข้าใจผิดไป

    ส่วนนิมิตประเภทที่สอง เป็นนิมิตที่สำคัญจะต้องทำให้เกิดขึ้นมาในใจให้ได้นั้น นั่นคือ นิมิตกสิณ เรียกว่าอุคคหนิมิต หรือ ปฏิภาคนิมิตจากกสิณ นิมิตประเภทนี้จะต้องสร้างขึ้นมาในใจเพื่อให้จิตมีที่ยึดเหนี่ยว และเป็นตัววัดคุณภาพจิตไปในตัวด้วย คือ ถ้านิมิตมีความชัดเจนและเป็นสีเดียวกันกับกสิณจริงได้แล้ว แสดงว่า จิตเป็นสมาธิได้ดี นิ่งจนได้ในระดับที่น่าพอใจแล้ว ยิ่งทำได้จนถึงขั้นที่สามารถบังคับได้ด้วยแล้ว ยิ่งแสดงว่า จิตมีความสมบูรณ์เต็มที่ พร้อมที่เกิดปัญญาผุดขึ้นมาในใจพิจารณาความจริงได้ทุกอย่าง และสามารถทำลายกิเลสทั้งปวงให้สูญสิ้นไปจากจิตใจได้ด้วยเช่นกัน

    ดังนั้นนิมิตชนิดใดๆ ก็ตาม ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้เสียสติได้ เพราะมันเกิดขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นตัวบอกเหตุของสภาวะจิตเท่านั้น ถ้าเข้าใจธรรมชาติความจริงของมันแล้ว ก็จะหมดปัญหาในเรื่องนิมิตนี้ได้




    ที่มา :
    www.kasina.org
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 15 ตุลาคม 2017
  2. ren

    ren เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กันยายน 2005
    โพสต์:
    426
    ค่าพลัง:
    +2,646
    เคยไปฝึก 1 ครั้งเดียว ชอบมาก พระอาจารย์น่ารัก
    แต่ที่ไม่ได้ไปอีกเพราะเวลาไม่อำนวย
    ใครมีเวลาแนะนำให้ไปน่ะจ๊ะ
    ดีจ้า
     
  3. ren

    ren เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กันยายน 2005
    โพสต์:
    426
    ค่าพลัง:
    +2,646
    ฝึกกสินนี้สนุกคะ ดินก็แข็ง ๆ ลมก็ฟู่ๆ
     
  4. สังขารไม่เที่ยง

    สังขารไม่เที่ยง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 สิงหาคม 2007
    โพสต์:
    5,943
    ค่าพลัง:
    +24,697
    อยากลองฝึกมั่งจังเลยค่ะ
     
  5. ปถุชนคนดี

    ปถุชนคนดี เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    298
    ค่าพลัง:
    +214
    อยากฝึกมั่งอ่ะๆๆๆ
     
  6. wee3250

    wee3250 เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กันยายน 2007
    โพสต์:
    7,319
    ค่าพลัง:
    +5,564
    เพื่อนๆในนี้มีแต่คนเก่งๆทั้งนั้นเลยนะครับ
    โมทนาด้วยคนครับ
     
  7. kosabunyo

    kosabunyo เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    274
    ค่าพลัง:
    +1,045
    เพ่งมาก ๆ ระวังปวดหัว ปวดตา นะครับ โมทนาสำหรับท่านที่ทำได้
    บุญ บารมีเก่าคงจะส่งผลแล้ว อฐิษฐานเอาเองก็แล้วกัน
     
  8. อินเดียร็อก

    อินเดียร็อก เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    264
    ค่าพลัง:
    +164
    ใครสร้างไฟได้แล้วมั้งครับ
     
  9. เซียนเหินทะยานคลื่น

    เซียนเหินทะยานคลื่น เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    201
    ค่าพลัง:
    +312
    ผมไม่เห็นอะไรขึ้นเลยอะ แย่จัง
     
  10. oomsin2515

    oomsin2515 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤษภาคม 2008
    โพสต์:
    2,934
    ค่าพลัง:
    +3,393
    กุศลผลบุญใด ๆ ก็ตามที่ข้าพเจ้าได้ทำมาแล้ว ตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันนี้ ข้าพเจ้าขออุทิศให้<O:p</O:p


     
  11. Pmos

    Pmos สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 มีนาคม 2009
    โพสต์:
    5
    ค่าพลัง:
    +6
    อนุโมทนาบุญด้วย นะครับ.......
    พอดี กะลังเริ่มฝึกอยู่คร้าบ....เพิ่งหัดเดิน....คร้าบ
     
  12. ธิดารัตน์

    ธิดารัตน์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 กุมภาพันธ์ 2009
    โพสต์:
    1,939
    ค่าพลัง:
    +4,568
    อนุโมทนาสาธุค่ะ

    ได้ความรู้มากๆเลยค่ะ

    สามารถฝึกเองโดยไม่ต้องฝึกกับพระอาจารย์หรือเปล่าคะ

    เพราะว่าแถวบ้านรู้สึกไม่มีการฝึกอบรมน่ะค่ะ
     
  13. new_mansum

    new_mansum เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 มกราคม 2010
    โพสต์:
    3,793
    ค่าพลัง:
    +5,396
    อยากฝึกมั่งจังครับ
    เห็นน้องที่มอ อยากให้ฝึกเหมือนกันครับ
     
  14. สองเสาร์

    สองเสาร์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2011
    โพสต์:
    254
    ค่าพลัง:
    +124
    อนุโมทนาบุญด้วยคะ
    สาธุ สาธุ สาธุ
    ขอให้ท่านเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปคะ
     
  15. baimaingam

    baimaingam เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    634
    ค่าพลัง:
    +880
    ขอโมทนาสาธุด้วยครับ...
    ...หันหลังคืนฝั่ง พ้นจากทะเลทุกข์...
    ...ทุกสิ่งอยู่ที่จิต ทุกสิ่งล้วนว่างเปล่า...
    ...ปลูกพืชฉันใด ย่อมได้ผลฉันนั้น...
     
  16. Sir-Pai

    Sir-Pai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 เมษายน 2010
    โพสต์:
    1,157
    ค่าพลัง:
    +3,358
    อนุโมทนาบุญนะครับ

    ไว้ผมจะฝึกบ้างแต่คงไม่ได้อะไรหรอก นอกจากสมาธิ
     
  17. ช่อม่วง

    ช่อม่วง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    16 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    165
    ค่าพลัง:
    +313
    ใครที่อยาก ฝึก เริ่มเลยค่ะ แต่ ต้อง มีครูบาอาจารย์ แนะนำ ด้วยนะคะ
    ขออนุโมทนาเป็นอย่างสูง กับทุกท่านด้วยค่ะ
     
  18. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,398
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,633
    ใครเพ่งแล้วปวดหัวปวดตา
    ให้ลองผ่อนคลายกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งหมด รวมถึงกล้ามเนื้อที่ใช้ขยับเปลือกตาด้วยครับ
    ให้เหมือนตอนที่เรานอน ไม่ต้องไปบังคับให้หลับตาสนิท
    แค่ปล่อยไปเท่านั้น ไม่ต้องไปบังคับกล้ามเนื้อใบหน้าใด ๆ

    จากนั้นก็เพ่งกสิณ
    วิธีเพ่งกสิณ ก็เหมือนกับเรานึกถึงใบหน้าคนที่เรารักนั่นแหละครับ
    การที่เรานึกถึงใบหน้าคนที่เรารัก หรือ จะเรียกว่าเรากำลังเพ่งใบหน้าคนที่เรารักก็ได้
    วิธีการแบบเดียวกัน ไม่ใช่ไปใช้สายตาเพ่ง แต่เป็นการใช้ใจเพ่ง หรือ นึกถึงเท่านั้น
     
  19. Grace Mongkhonsin

    Grace Mongkhonsin สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มีนาคม 2019
    โพสต์:
    56
    ค่าพลัง:
    +22
    คุยเพื่อกิจอันใดคะ ทำไมต้องเลือกคุยเฉพาะบุคคลที่ได้ฌาน4 เท่านั้นด้วยคะ ถ้าไม่ใช่กิจเพื่อช่วยงานพระศาสนา ดิฉันจะไม่ส่งเมลไปหาคุนเด้ดขาดคะ ดิฉันเลยขั้นฌาน4 มานานแล้วคะ เชิญตรวจสอบทางญานในคุนได้ ว่าดิฉันเป้นใคร ให้มองที่รุปโปรไฟล์ดิฉัน แล้วจะรุ้คำตอบ เฉพาะคนที่ดิฉันอนุญาติเปิดให้เห้นเท่านั้น จึงจะดูญานในดิฉันได้คะ เปิดให้ท่านดูได้ทุกอย่างในใบหน้าของดิฉัน ผุ้เป้นสหายร่วมสังฆกรรมพุทธศาสนาที่มีญานหยั่งรู้เท่านั้น จึงจะทราบได้คะ สาธุ
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    47,086
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,044

แชร์หน้านี้

Loading...