เรื่องเด่น อัศจรรย์เหนือท้องฟ้า“พระธาตุท่าอุเทน”ริมลำน้ำโขง

ในห้อง 'ข่าวพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 27 สิงหาคม 2017.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,591
    วันอาทิตย์ ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2560, 13.04 น.


    อัศจรรย์เหนือท้องฟ้า“พระธาตุท่าอุเทน”ริมลำน้ำโขง

    e0b8a3e0b8a2e0b98ce0b980e0b8abe0b899e0b8b7e0b8ade0b897e0b989e0b8ade0b887e0b89fe0b989e0b8b2e0b89e.jpg

    “พระธาตุท่าอุเทน” เป็นพระพุทธสารีริกธาตุเจดีย์ ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำโขง ตั้งอยู่เลขที่ 87 หมู่ 5 ถนนศรีเมือง เขตเทศบาลตำบลท่าอุเทน จ.นครพนม สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย และยังเป็นพระธาตุประจำวันเกิด (วันศุกร์) ก่อด้วยอิฐถือปูนเป็นรูปสี่เหลี่ยม ฐานกว้างและยาวด้านละ 6 วา 3 ศอก สูง 33 วา(ประมาณ 66 เมตร) เล่ากันว่าเป็นศิลปกรรมและปูชนียวัตถุองค์หนึ่งที่จำลองแบบมาจากองค์พระธาตุพนม แต่มีสัดส่วนขององค์ธาตุที่เล็กกว่า และมีความสูงกว่าพระธาตุพนมที่สูงประมาณ 53.6 เมตร เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่ง “พระอาจารย์สีทัตถ์ ญาณสัมปันโณ” อัญเชิญมาจากย่างกุ้ง ประเทศพม่า(เมียนมาร์) สมัยท่านถือธุดงค์กรรมฐานจาริกไปในสถานที่ต่างๆ

    b8a3e0b8a2e0b98ce0b980e0b8abe0b899e0b8b7e0b8ade0b897e0b989e0b8ade0b887e0b89fe0b989e0b8b2e0b89e-1.jpg

    พ.ศ.2453 ต้นรัชกาลที่6 พระอาจารย์สีทัตถ์เป็นหัวหน้าชักชวนพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ประกอบด้วย ชาวจังหวัดหนองคาย สกลนคร นครพนม และพี่น้องจากประเทศลาว(สปป.ลาว) ช่วยร่วมกันสร้างพระบรมธาตุ เพื่อให้เป็นที่กราบไหว้สักการะบูชา เริ่มลงมือพร้อมกัน ในวันพุธ เดือน 3 แรม 9 ค่ำ ปีกุน ซึ่งตรงกับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2454 ด้วยการขุดและก่ออูบมุง(อุโมงค์) เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมกับนำแก้ว แหวน เงิน ทอง ของมีค่า ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาครวมอยู่ด้วย !!

    องค์พระธาตุเสร็จสมบูรณ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 18 มีนาคม 2458 ต่อจากนั้นได้ก่ออิฐถือปูน และก่อกำแพงแก้วล้อมรอบองค์พระธาตุ 3 ชั้น ใช้เวลาอีก 1 ปี รวมทั้งสิ้น 6 ปี จึงเสร็จเรียบร้อยบริบูรณ์ในปีมะโรง(2459)

    โดยงานสมโภชนมัสการพระธาตุท่าอุเทน จะมีขึ้นเป็นประจำทุกปี ในเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ (หลังงานนมัสการพระธาตุพนม) ชาวท่าอุเทนถือว่างานนมัสการองค์พระธาตุฯสำคัญมาก ทุกปีที่มีงานจะต้องเชิญชวนหมู่บ้านใกล้เคียงมาร่วมทำบุญ โดยจัดทำที่พัก หรือตูบ(ตูบ คือ เพิง) และเลี้ยงอาหาร แสดงวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทญ้อ ที่มีมาแต่โบราณ ส่วนมหรสพนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย !!

    ด้านการบูรณปฏิสังขรณ์ ครั้งแรกปี 2511 โดยศรัทธาของชาวอำเภอท่าอุเทน ต่อมาถึงปี 2540 กรมศิลปากรเข้าทำการบูรณะทั้งภายนอกและภายในองค์พระธาตุ และเพื่อความสะดวกในการซ่อมแซม จึงได้อัญเชิญยอดฉัตรที่เป็นทองคำบริสุทธิ์หนัก 21 บาท ลงมาเก็บรักษาในระหว่างซ่อมแซม แต่เพื่อให้ยอดฉัตรมีความสวยงามและทรงคุณค่ามากยิ่งขึ้น เจ้าคณะอำเภอท่าอุเทนในขณะนั้น พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป ร่วมกันบริจาคทองคำเพิ่มขึ้นอีก 150.38 บาท บวกกับของเดิม 21 บาท รวมเป็นน้ำหนัก 171.38 บาท !!

    ต่อมาปี 2542 หลังปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุเสร็จสิ้นลง จัดให้มีงานสมโภชนมัสการและยกฉัตรทองคำประจำปี ก็ปรากฏเหตุการณ์ที่น่าอัศจรรย์ กล่าวคือก่อนเวลาที่จะยกฉัตร เวลานั้นแดดจ้าร้อนจัดมาก(10.30-12.00 น.) พอจะยกฉัตรขึ้นสู่ยอดพระธาตุ เกิดอากาศมืดครึ้ม เหมือนมีสิ่งบังบดดวงอาทิตย์ มีลมพัดเฉื่อยๆเย็นสบาย ครั้นยกฉัตรประดิษฐานบนยอดเรียบร้อย ก็ปรากฏมีแสงแดดแผดจ้าอีกครั้ง เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้คนที่ไปร่วมงาน มีความเคารพศรัทธา เล่าลือกันว่าถ้าผู้ใดมีเรื่องเดือดร้อนใจ และมีเหตุการณ์คับขัน อธิษฐานขอให้องค์พระธาตุท่าอุเทนช่วย มักจะประสบผลสำเร็จทุกครั้ง !!

    มีการบอกเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ว่า “หลวงปู่สีทัตถ์” สร้างพระธาตุท่าอุเทน ด้วย “หินแก้วนางฝาน(ธาตุกายสิทธิ์)” โดยท่านสร้างขึ้นมาเหมือนองค์พระธาตุพนมในยุดต้น ทั้งที่ฐานรองรับก็เพียงขุดหลุมแล้วใส่หินนางเรียง หรือหินแก้วนางฝาน เป็นฐานรองรับองค์พระธาตุเท่านั้น ปัจจุบันแม้จะมีอายุยาวนานถึง 100 กว่าปี ยังไม่มีทรุดแต่ประการใด !!

    จึงนับว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์มิใช่น้อย เพราะการนำเอาหินแก้วนางฝานหรือแก้วนางเรียง อันเป็นธาตุกายสิทธิ์ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อแรกเห็นตัวหินจะอ่อนนุ่มจนสามารถตัดให้ขาด จึงเรียกกันว่า”แก้วนางฝาน” อานุภาพของแก้วนางฝานกล่าวกันว่ามีอำนาจทางชุ่มเย็นและเป็นสิริมงคลล้างอาถรรพณ์ทั้งหลายทั้งปวงได้ !!

    “แก้วนางฝาน” หรือ “แก้วนางเรียง” ก็คือ “หินเขี้ยวหนุมาน” ชนิดหนึ่ง คนโบราณเล่าว่ามีอำนาจทางคงกระพัน ป้องกันอัคคีภัย ในสมัยก่อนการหาแก้วนางฝานหรือแก้วนางเรียงนั้นยาก เพราะสมัยนั้นยังไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ การพบแล้วนำแก้วนางฝานมารองรับองค์พระธาตุได้นี้ นับว่าเป็นบุญบารมีอภินิหารอันแก่กล้าของหลวงปู่สีทัตถ์ !!

    “ยอดฉัตรพระธาตุท่าอุเทน” ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 105 ปี ทำให้เสื่อมโทรมตามกาลเวลา จึงเกิดโครงการ “หุ้มทองคำยอดฉัตรฝังเพชรพระธาตุท่าอุเทน” โดยวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ อาคาร100 ปี ที่วัดบวรนิเวศวิหาร กทม. มี สมเด็จพระวันรัต เป็นประธานสงฆ์รับการถวายทองคำยอดฉัตรพระธาตุท่าอุเทน ถัดมาวันที่ 10 กันยายน สมเด็จพระวันรัต ก็จะเป็นประธานรับการถวายทองคำ ณ วัดพระธาตุท่าอุเทน นครพนม อีกครั้ง จากนั้นจะทำพิธีเททองหล่อทองคำยอดฉัตร ในวันที่ 5 ตุลาคม ก้าวถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08.00 น. ก็จะเป็นพิธียกยอดฉัตรทองคำฝังขึ้นสู่พระธาตุท่าอุเทน !!

    ชาวท่าอุเทนมั่นใจว่าในวันยกยอดฉัตรจะต้องเกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์เหมือนครั้งที่ผ่านมาแน่นอน !!



    ขอขอบคุณที่มา
    http://www.banmuang.co.th/news/region/89133
     

แชร์หน้านี้

Loading...