เรื่องเด่น ระดับการพัฒนาของคน - สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 24 สิงหาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,319
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,274
    ค่าพลัง:
    +9,591
    238886384_1434795570224898_1026080703634117984_n.jpg


    ระดับการพัฒนาของคน

    …. “ พุทธศาสนาย้ำเรื่องนี้ คือ หลักความไม่ประมาท ท่านเตือนว่า แม้แต่เป็นอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน หรือพระสกิทาคามี จนถึงพระอนาคามี ตราบใดยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์แล้วอย่านอนใจอาจจะประมาทได้ตลอดเวลา มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่จะไม่ประมาทได้อย่างแท้จริง เพราะคนเรานี้ เวลามีความสุข อย่างหนึ่ง ยามประสบความสำเร็จ อย่างหนึ่ง หรือ คราวที่เกิดความรู้สึกภูมิใจว่าเรานี้ดีแล้ว อย่างหนึ่ง สามตัวนี้มักล่อให้หย่อน หรือไม่ก็หยุดเลย พูดสั้นๆว่า ตกหลุมความประมาท

    …. เมื่อประสบความสำเร็จหรือมีความสุขแล้วประมาทนั้นเห็นได้ชัด แต่คนที่มีความดี ถ้าเกิดความภูมิใจก็ต้องระวัง อย่างพระโสดาบัน ภูมิใจว่าเราได้บำเพ็ญความดีสำเร็จมาถึงแค่นี้ พอเกิดความพอใจอย่างนี้ ก็ชักจะเฉื่อย ไม่เร่งรัด ไม่กระตือรือร้น พระพุทธเจ้าตรัสเตือนพระอริยบุคคลที่เป็นอย่างนี้ว่า เธอเป็น “ปมาทวิหารี” แปลว่า “ผู้อยู่ด้วยความประมาท” ฉะนั้นอย่าได้นอนใจ ชาวพุทธต้องเดินหน้าเสมอ
    .
    …. ตามที่พูดมาในที่นี้ เราสามารถแบ่งมนุษย์ได้เป็น ๔ ระดับ โดยวัดจากมาตรฐานปุถุชน คือ
    .
    …. ๑. มนุษย์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานปุถุชนสามัญ คือพวกที่เจอทุกข์ก็ไม่ดิ้น ถูกภัยคุกคามก็ไม่ตื่นตัว ได้แต่ท้อแท้ ระทดระทวย จับเจ่า หรือไม่ก็นอนเฉื่อย เพราะติดยากล่อม เพลินไปเรื่อยๆ ส่วนในเวลาที่สุขสบายไม่ต้องพูดถึง ก็ยิ่งเพลิดเพลินหมกมุ่นมัวเมา เรียกว่า ทุกข์ก็ไม่ดิ้น สุขก็นอนซึม หรือ ทุกข์ก็ซม สุขก็ซึม
    .
    …. ๒. มนุษย์ปุถุชนสามัญ คือพวกที่ว่าถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย พอสบายก็ลงนอนเสวยสุขเฉื่อยลงไป
    .
    …. ๓. มนุษย์ที่พัฒนาแล้ว คือพวกที่ว่าเมื่อถูกทุกข์บีบคั้น หรือถูกภัยคุกคาม ก็ลุกขึ้นดิ้นรนขวนขวาย แต่แม้จะสุขสบายแล้วก็ยังเพียรสร้างสรรค์ต่อไป ไม่หยุด พวกนี้นับว่าเข้าสู่ทางของอารยชนแล้ว
    .
    …. ๔. มนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด คือ ยามทุกข์บีบคั้นหรือภัยคุกคามก็ไม่พลอยทุกข์ จิตใจยังปลอดโปร่งผ่องใสอยู่ได้ แล้วก็ขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำต่อไป หมายความว่า ในด้านการกระทำ ก็มีความเพียรพยายามสร้างสรรค์ และในด้านจิตใจ ก็มีความสุข ไม่ถูกทุกข์ครอบงำด้วย และแม้จะสุขแล้วก็ยังขวนขวายสร้างสรรค์ต่อไป
    .
    …. คนเราที่พัฒนาแล้วโดยมากก็ยังได้แค่ขั้นที่ ๓ คือถูกทุกข์บีบคั้น หรือภัยคุกคามก็ขวนขวายจริง แต่จิตใจไม่สบาย กระวนกระวาย ทุรนทุราย แม้ว่าจะไม่ประมาทก็จริง แต่ยังมีความเดือดร้อนใจ มีความเครียดในใจ ดังจะเห็นกันมากในปัจจุบันนี้ว่า ผู้ที่ขยันหมั่นเพียรจำนวนมากมีความทุกข์ในใจด้วย เป็นคนขยันจริง แต่เร่าร้อน เครียด ซึ่งแสดงว่า ยังพัฒนาไม่ถึงที่สุด
    …. ฉะนั้น คนในสมัยปัจจุบันนี้ ที่ว่าเป็นคนขยันหมั่นเพียร แต่จิตใจมีความเครียดมีความทุกข์นั้น จะต้องได้รับการแก้ไขให้พัฒนาต่อไปอีก ให้เป็นคนชนิดที่ว่า ทั้งๆ ที่ทุกข์ภัยบีบคั้นคุกคาม จิตใจก็ยังดีงามสุขสบายปลอดโปร่ง พร้อมกันนั้นก็เพียรพยายามสร้างสรรค์ต่อไป แม้ถึงยามสุขสบายก็ไม่หยุดหรือผัดเพี้ยน จะต้องระลึกไว้ว่า คนที่พัฒนาแล้วนั้น เขาจะเป็นอยู่หรือทำการอะไร ก็ไม่ได้ขึ้นต่อความสุขความทุกข์ แต่เขาขึ้นต่อปัญญา ปัญญาเป็นตัวรู้ว่าอะไรควรทำ หรือไม่ควรทำ และสติก็คอยบอกหรือคอยเตือน ให้เว้นสิ่งที่ควรเว้น และให้ทำสิ่งที่ควรทำตามที่รู้ด้วยปัญญานั้น นี่แหละเป็นหลักสำหรับวินิจฉัยระดับการพัฒนาของคน”
    .

    สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( ป. อ. ปยุตฺโต )
    ที่มา : ปาฐกถาธรรม แสดงในวันวิสาขบูชา เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๑ ณ เสถียรธรรมสถาน ภายหลังพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “เราจะกู้แผ่นดินกันอย่างไร?”

    ขอบคุณที่มา ธรรมะเพื่อทางพ้นทุกข์ โดย ท. ส. ปัญญาวุฑโฒ
     
  2. mrmos

    mrmos Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    13 ตุลาคม 2016
    โพสต์:
    1,190
    ค่าพลัง:
    +1,101

แชร์หน้านี้

Loading...