ภาษาคาราโอเกะ

ในห้อง 'แปลธรรมะเป็นภาษาอื่นๆ' ตั้งกระทู้โดย ชนินทร, 22 มิถุนายน 2011.

  1. ชนินทร

    ชนินทร พลังจิตนานาชาติ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,725
    ค่าพลัง:
    +6,384
    ได้แนะนำวิธีการถอดเสียงภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถานกันไปแล้ว...

    คราวนี้มาลองดูกันว่าถ้าใช้เป็นภาษาคาราโอเกะ แบบที่นักวิชาการท่านได้ศึกษาค้นคว้ากันมาแล้ว... จะทำให้การถอดเสียงเหล่านั้นทำได้ง่ายขึ้นบ้างหรือไม่...

    ขอขอบคุณเว็บไซต์เหล่านี้ด้วยค่ะ...

    - The Royal Institute - Thailand

    - The Royal Institute - Thailand

    - The Royal Institute - Thailand
     
  2. ชนินทร

    ชนินทร พลังจิตนานาชาติ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,725
    ค่าพลัง:
    +6,384
    ภาษาคาราโอเกะ (๑) โดย รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ

    ภาษาคาราโอเกะ (๑)

    คําว่า "คาราโอเกะ" เป็นภาษาญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นใหม่ โดยนำคำว่า "คารา" (kara) ซึ่งแปลว่า "ว่างเปล่า" มาผสมกับคำยืมจากภาษาอังกฤษว่า "โอเกะ" (จากคำว่า orchestra) รวมความแล้วมีความหมายถึงเพลงที่มีแต่เสียงดนตรี ไม่มีเสียงนักร้อง แต่มีเนื้อร้องปรากฏเลื่อนไปตามส่วนล่างของจอ เพื่อให้คนที่ชอบร้องเพลงได้ร้องไปตามทำนอง และได้ดูภาพสวยๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกับเพลงนั้นๆ ก็ได้

    นักนิยมร้องเพลงทั่วโลกรวมทั้งเมืองไทยด้วยคงรู้จักกับคาราโอเกะ ที่ฝรั่งออกเสียงว่า "คาริโอกี" ได้ดีอยู่แล้ว

    วันนี้เราจะพูดกันเรื่องภาษาที่ปรากฏอยู่บนจอดังว่า

    ภาษาที่ปรากฏบนจอนั้นมีหลายอย่าง ถ้าเป็นเพลงของเจ้าของภาษาเอง ก็จะปรากฏภาษานั้นๆ โดยตรง เช่น เพลงไทยก็มีภาษาไทย เพลงฝรั่งก็มีภาษาฝรั่ง เพลงญี่ปุ่นก็มีภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ

    ภาษาแบบนี้ก็ถือว่าเป็นภาษาคาราโอเกะได้แบบหนึ่งเหมือนกัน เป็นความก้าวหน้าขึ้นมาจากการอ่านเนื้อเพลงจากแผ่นกระดาษที่เราเรียกกันว่า "ดูโฉนด" เป็นการปกปิดความบกพร่องของคนอยากร้องเพลงที่จำเนื้อเพลงไม่ได้ ภาษาแบบนี้มีความดีอีกอย่างหนึ่งที่คนอาจจะนึกไม่ถึง นั่นคือ ทำหน้าที่เป็นวาทยากร คอยบอกจังหวะการส่งเสียง ตัวอักษรยังไม่ขึ้น หรือยังไม่เปลี่ยนสีก็อย่าเพิ่งอ้าปากทีเดียว

    ภาษาคาราโอเกะที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีกก็คือ เมื่อคนอยากร้องเพลงต้องการร้องเพลงต่างภาษา แต่ไม่รู้ภาษานั้นๆ ก็มีการใช้ภาษาพื้นเมืองเลียนเสียงให้ เช่น ญี่ปุ่นอยากร้องเพลงฝรั่ง ก็มีเนื้อร้องเป็นอักษร Kalakana ให้ คนไทยอยากร้องเพลงฝรั่งก็มีเนื้อร้องที่ใช้อักษรไทยเลียนเสียงให้ เช่น

    "Love me lender love me sweet, never let me go."

    ก็เขียนว่า

    "เลิฟ มี เทนเดอร์ เลิฟ มี สวีต, เนเวอร์ เลต มีโก"

    ส่วนใครจะออกสำเนียงเป็นฝรั่งได้แค่ไหนก็แล้วแต่การฝึก นักร้องเพลงสากลรุ่นเก่าๆ บางคนเขาก็ใช้วิธีนี้ โดยดู "โฉนด" ที่เขียนเป็นเสียงไทยนี่แหละ ส่วนจะเข้าใจความหมายหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ในสมัยปัจจุบันนี้ เพลงไทยของเราก็ก้าวหน้าขึ้นมาก หลังจากที่เราร้องเพลงของต่างชาติมานาน คราวนี้ต่างชาติก็หันมาร้องเพลงไทยกันบ้าง วิธีที่จะให้เขาร้องกันได้อย่างสบายก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่กลับกันเสีย เมื่อก่อนเราเลียนเสียงฝรั่งมาเป็นไทย คราวนี้เราก็เลียนเสียงไทยเป็นฝรั่ง โดยการใช้อักษรโรมันเข้ามาแทนที่

    คำว่า อักษรโรมัน อาจจะทำให้หลายคนงง พูดอย่างง่ายๆ ก็คือ ตัว a ถึงตัว z คนทั่วไปจะเรียกอักษร 26 ตัวนี้ว่า "ภาษาอังกฤษ" แต่นักภาษาจะเรียกอักษรชุดนี้ว่าอักษรโรมัน เพราะมิใช่เพียงภาษาอังกฤษภาษาเดียวเท่านั้นที่ใช้อักษรชุดนี้ ภาษาอื่นๆ ในยุโรปมากมายก็ใช้อักษรชุดนี้ เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน สเปน ฯลฯ บางภาษาอาจจะมีตัวพิเศษของตนเองบ้าง แต่ก็สามารถใช้อักษรตัวใดตัวหนึ่งในชุดนี้แทนได้ เช่น ภาษาเยอรมันมีตัว B ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็น ss ได้ นอกจากภาษาในยุโรปแล้ว ภาษาในเอเชียหลายภาษาก็ใช้อักษรโรมันด้วย เช่น เวียดนาม บาฮาซามาเลเซีย บาฮาซาอินโดนีเซีย ฯลฯ

    เมื่อคนทั่วไปเห็นตัว a ถึง z แล้วเรียกว่า "ภาษาอังกฤษ" จึงสอดคล้องกับภาษาคาราโอเกะสำหรับเพลงไทย เพราะนั้นคือการเลียนเสียงภาษาอังกฤษ ที่เรียกว่า Anglicization พูดง่ายๆ ก็คือ การทำให้เป็นภาษาอังกฤษ

    คราวหน้าเราจะมาดูกันว่า วิธีการดังว่านี้เขาทำกันอย่างไร

    ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
     
  3. ชนินทร

    ชนินทร พลังจิตนานาชาติ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,725
    ค่าพลัง:
    +6,384
    ภาษาคาราโอเกะ (๒) โดย รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ

    ภาษาคาราโอเกะ (๒)

    วิธีการถอดภาษาไทยให้เป็นภาษาอังกฤษ หรือ Anglicization มีง่ายๆ 3 วิธีคือ วิธีแรก ถ้าเสียงนั้นตรงหรือคล้ายกับภาษาอังกฤษคำใดก็จะใช้คำนั้นเลย วิธีที่สอง ถ้าหาคำอังกฤษมาใช้โดยตรงไม่ได้ก็ใช้วิธีเทียบกับคำใกล้เคียง วิธีที่สาม ถ้าเป็นคำทับศัพท์อยู่แล้ว ก็ใช้คำเดิมไปเลย

    ตัวอย่าง วิธีเขียนแบบแรก มี เช่น

    "ยัง" แทนว่า "young" "รถ" แทนว่า "rote"

    "ถูก" แทนว่า "took" "ซี้" แทนว่า "see"

    "หลัง" แทนว่า "lung" "สร้อย" แทนว่า "soy"

    "ดับ" แทนว่า "dub" "ลอง" แทนว่า "long"

    "จ๋อย" แทนว่า "joy" "กัน" แทนว่า "gun"

    "พิษ" แทนว่า "pit" "สิน" แทนว่า "sin"

    ตัวอย่างวิธีเขียนแบบที่สอง มี เช่น

    "น้ำ" แทนว่า "num" (เทียบกับ number)

    "เจ้า" แทนว่า "jow" (เทียบกับ how)

    "เขา" แทนว่า "kow" (เทียบกับ how)

    "วัน" แทนว่า "wun" (เทียบกับ nun)

    "กลับ" แทนว่า "glub" (เทียบกับ club)

    "ร้อย" แทนว่า "roy" (เทียบกับ joy)

    "ลอย" แทนว่า "loy" (เทียบกับ joy)

    ตัวอย่างวิธีเขียนแบบที่สาม มี เช่น

    "ปิ๊กอัพ" แทนว่า "pick up"

    "ติ๊บ" แทนว่า "tip"

    "เครดิต" แทนว่า "credit"

    "บาท" แทนว่า "baht" สำหรับคำนี้ถือโอกาสใช้คำภาษาอังกฤษที่เป็นตัวแทนของคำว่า "บาท" อยู่แล้ว

    วิธีการอื่นๆ ที่นิยมใช้กันก็คือ

    สระยาวใช้ตัว h หรือ r เป็นเครื่องช่วย เช่น

    "งาน" แทนว่า "ngarn" "อยาก" แทนว่า "yahk"

    เสียงออ ใช้ or หรือ au หรือ aw เป็นตัวแทน เช่น

    "คร" แทนว่า "korn" "บอก" แทนว่า "bauk"

    "ก็" แทนว่า "gaw" "ต้อง" แทนว่า "taung"

    เสียงอัว ใช้ au เป็นตัวแทน เช่น "ท่วม" แทนว่า "taum"

    เสียงไอ ใช้ ai เป็นตัวแทน เช่น "ไม่ได้" แทนว่า "mai dai"

    เสียงอี ใช้ ee เป็นตัวแทน เช่น "ดี" แทนว่า "dee"

    เสียงอึ เสียงอือ ใช้ eu เป็นตัวแทน เช่น "ยึด" แทนว่า "yeud"

    เสียงเอือ ใช้ ur เป็นตัวแทน เช่น "เพื่อน" แทนว่า "purn"

    เอาละ ทีนี้ลองใช้ภาษาคาราโอเกะร้องเพลงนี้ดูซิ

    NGARN-GAW-TAUNG-TOOK-NGOD

    NUM-TAH-TAUM-ROTE

    TEE-PAUN-MAH-LAI-PEE

    MAUNG-PICK-UP-TOOK-YEUD

    ROTE-KREUN-TOOK-YEUD

    BAI BAI PURN SEE

    WUN LUNG TAH MEE WAY LAH

    JA-SEUAH-EHG-KEUN-MAH

    CLUB-MAH-EEK-TEE

    ลองร้องไปก่อน แล้วคราวหน้าจะใส่ภาษาไทยให้

    ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
     
  4. ชนินทร

    ชนินทร พลังจิตนานาชาติ ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    1,725
    ค่าพลัง:
    +6,384
    ภาษาคาราโอเกะ (๓) โดย รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ

    ภาษาคาราโอเกะ (๓)

    ภาษาคาราโอเกะคราวที่แล้วนั้น ผู้เขียนลอกมาจากหน้าจอจริงๆ ไม่ได้เขียนขึ้นเอง คราวนี้ขอเฉลยว่ามาจากท่อนหนึ่งของเพลง "เศรษฐกิจหารสอง" ดังนี้

    งาน ก็ ต้อง ถูก งด

    NGARN-GAW-TAUNG-TOOK-NGOD

    น้ำ ตา ท่วม รถ

    NUM-TAH-TAUM-ROTE

    ที่ ผ่อน มา หลาย ปี

    TEE-PAUN-MAH-LAI-PEE

    มอง ปิ๊ก อัพ ถูก ยึด

    MAUNG-PICK-UP-TOOK-YEUD

    รถ เครื่อง ถูก ยึด

    ROTE-KREUNG-TOOK-YEUD

    บ๊าย บาย เพื่อน ซี้

    BAI-BAI-PURN-SEE

    วัน หลัง ถ้า มี เว ลา

    WUN-LUNG-TAH-MEE-WAY-LAH

    จะ ซื้อ เอ็ง คืน มา

    JA-SEUAH-ENG-KEUN-MAH

    กลับ มา อีก ที

    GLUB-MAH-EEK-TEE

    ขอให้สังเกตว่าเป็นความพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเทียบกับเสียงภาษาอังกฤษให้ได้โดยไม่สนใจความหมาย และไม่สนใจว่าจะใช้สูตรอย่างคงเส้นคงวาหรือไม่ ทั้งนี้ เพราะผู้ผลิตมิได้มีจุดประสงค์เรื่องการสร้างกฎเกณฑ์ทางภาษา หรือเขียนตามกฎเกณฑ์อันใด ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการทำให้ภาษาไทยเป็นสากลแต่อย่างใด จุดประสงค์ที่สำคัญคือการขายแผ่นวีซีดีหรือดีวีดี เพื่อให้คนที่อยากร้องเพลงภาษาไทยออกเสียงตามได้ เป็นการสร้าง "โฉนด" ที่ก้าวหน้าขึ้นตามเทคโนโลยีเท่านั้นเอง

    ส่วนกฎเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานนั้น เรียกว่า Romanization ไม่ใช่ Anglicization

    นี่คือข้อแตกต่างอย่างสำคัญที่ไม่อาจจะทำให้กฎของราชบัณฑิตยสถานเป็นภาษาคาราโอเกะไปได้

    Romanization คือการถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมัน ไม่ได้ถอดภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ดังที่เราชอบเรียกกันอย่างง่ายๆ กฎเกณฑ์นี้ไม่ได้สร้างกันขึ้นมาอย่างส่งเดชหรือตามใจใคร แต่เป็นข้อตกลงร่วมกันของประชาคมโลก องค์การที่รับผิดชอบเรื่องนี้อยู่ก็คือ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการมาตรฐาน หรือ ISO นั่นเอง ทุกชาติที่เป็นสมาชิกจะตกลงร่วมกันว่า ตัวอักษรของตนจะถอดเป็นอักษรโรมันว่าอย่างไร ไม่ใช่จะถอดเป็นภาษาอังกฤษว่าอย่างไร โดยอาศัยหลักการออกเสียงทางภาษาศาสตร์ที่ใกล้เคียงที่สุด การกระทำเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นการทำให้ภาษาเป็นสากล แต่เป็นความสะดวกที่จะชี้ว่า คำนี้ชื่อนี้ในภาษานี้เขียนอย่างไร เพื่อให้รู้ว่ากำลังพูดเรื่องเดียวกัน เช่น การค้นข้อมูลในห้องสมุดหรือคอมพิวเตอร์

    ถึงจะเขียนด้วยอักษรโรมัน ภาษาไทยก็ยังคงเป็นภาษาไทยอยู่นั่นเอง เช่นเดียวกับตอนที่เรายังไม่มีอักษรไทยใช้ ภาษาไทยก็เคยใช้อักษรขอมและมอญเขียนมาแล้ว

    เนื่องจากในปัจจุบันนี้ คนไทยคุ้นกับภาษาอังกฤษ เมื่อเห็นตัว a ถึง z ก็อ่านเป็นภาษาอังกฤษทันที จึงทำให้มีเรื่องโต้เถียงกันว่า ชื่อนั้นชื่อนี้ควรจะเขียนอย่างไร

    เช่น "ภูเก็ต" ราชบัณฑิตยสถานถอดเป็น "Phuket" โดยถือว่า "ป" แทนด้วย "p" และ "ภ" แทนด้วย "ph" ตามหลักภาษาศาสตร์ที่ว่า เสียง "ป" "พ" และ "ภ" มีที่เกิดอันเดียวกัน แต่ "พ" กับ "ภ" มีลมตามออกมาเป็นกลุ่มใหญ่ จึงใช้ "h" แทนเสียงลม "ก" ก็แทนด้วย "k" และ "ข" กับ "ค" แทนด้วย "kh" ด้วยหลักการอันเดียวกัน คนที่อ่านคำนี้เป็นภาษาอังกฤษก็จะไม่เห็นด้วย เพราะจะอ่านว่า "ฟูเก็ต" หรือ "ฟูเค็ต" บางคนออกสำเนียงฝรั่งเต็มที่ กลายเป็น "Fuck It" ไปก็มี (ขออภัย ไม่ได้หยาบคาย แต่เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจจ้ะ)

    ภาษาญี่ปุ่นก็มีกฎเกณฑ์เช่นนี้ โดยเรียกว่า Romaji หรือการเขียนภาษาญี่ปุ่นด้วยอักษรโรมัน ไม่ใช่การเขียนภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ เขาก็มีวิธีการอยู่สองระบบที่ต่างกันเล็กน้อย เช่น ภูเขาไฟที่เรารู้จักกันว่า "ฟูจิ" นั้น ระบบหนึ่งเขาแทนว่า "Fuji" แต่อีกระบบหนึ่งเขาแทนว่า "Huji" เขาก็คงจะเถียงกันเหมือนเรานี่แหละ แต่ทั่วโลกก็รู้จักภูเขาไฟลูกนี้ในนามว่าภูเขาไฟ "ฟูจิ" ถึงแม้คนญี่ปุ่นบางคนจะออกเสียงคล้ายๆ กับ "ฮูจิ" ก็ตาม ขอให้สังเกตว่า ปัญหาของเขาไม่ได้อยู่ที่การอ่านเป็นภาษาอังกฤษ แต่เป็นปัญหาการออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นเอง

    โดยสรุปก็คือ ภาษาคาราโอเกะที่เห็นเป็นตัว a ถึง z อยู่บนจอนั้น คือ Anglicization ส่วนกฎเกณฑ์ของราชบัณฑิตยสถานคือ Romanization สองสิ่งนี้เป็นคนละเรื่องกัน

    แต่ที่เหมือนกันก็คือ ทั้งสองอย่างนี้มิได้เป็นการทำให้ภาษาไทยเป็นสากลแต่ประการใด

    ผู้เขียน รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ ภาคีสมาชิก สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน
     

แชร์หน้านี้

Loading...