เรื่องเด่น พระกับเงิน ตามทัศนะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย MonYP, 13 มิถุนายน 2018.

  1. MonYP

    MonYP เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,366
    กระทู้เรื่องเด่น:
    32
    ค่าพลัง:
    +754
    cats-004.jpg

    เหรียญมีหลายด้าน ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยต่างกัน ช่วงนี้มีข่าวเรื่องพระกับเงินแรงมาก จึงเสนอความคิดเกี่ยวกับเงินของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่เราเคารพนับถือกัน 2 ท่าน คือ หลวงพ่อชา กับ หลวงพ่อคูณ

    เงินและทอง ตามข้อปฏิบัติของหลวงพ่อชา

    เป็นที่ทราบกันดีว่า พระสายปฏิบัติวัดหนองป่าพง มีความเคร่งครัดในสิกขาบทที่เกี่ยวกับเงินทองเป็นอย่างมาก จะไม่มีพระรูปใดที่จับเงินหรือมีปัจจัยเงินทองเป็นส่วนตัวฝากไว้ในธนาคาร ไม่ถือกรรมสิทธิ์ในเงินและทองด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตามพระวินัยบัญญัติได้มีสิกขาบทว่า

    “ภิกษุรับเองก็ดี ใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

    และ

    “ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือ ของที่เขาใช้เป็นทองและเงิน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

    เงินทองหรือของที่ซื้อขายได้มา ต้องนำมาเสียสละแก่สงฆ์จึงจะแสดงอาบัติตก การปฏิบัติอย่างจริงจังต่อสิกขาบทนี้มีอานิสงส์มาก

    เงินคืออำนาจ

    การงดเว้นจากการใช้เงินและทอง คือ การสละสิทธิ์ในการบังคับสิ่งนอกตัวให้เป็นไปตามใจ เป็นการทรมานกิเลสที่ดีเยี่ยม สิกขาบทนี้เป็นข้อสำคัญ ที่ทำให้วิถีชีวิตของนักบวชต่างจากของฆราวาส จึงเป็นสิ่งส่งเสริมสร้างสมณสัญญาในจิตสำนึกของพระ

    อนึ่งในเมื่อคนในโลกส่วนใหญ่หมกหมุ่นแต่ในเรื่องเงินและทอง พระสามารถเป็นตัวอย่างพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่วัตถุ

    ในแง่ของหมู่สงฆ์ สิกขาบทนี้ช่วยสร้างความสามัคคีในหมู่เพื่อนสหธรรมิก บรรยากาศของสำนักปฏิบัติก็เป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีการอิจฉาริษยาหรือแก่งแย่งเกี่ยวกับเอกลาภ
    หลวงพ่อเคยปรารภเรื่องการเก็บสะสมปัจจัยส่วนตัว ซึ่งเป็นการสรุปในเรื่องนี้ที่ดี


    “ถ้าผมสิ้นไป พวกท่านทั้งหลายค้นเห็นปัจจัยเงินทองอยู่ในกุฏิผม โอ๊ย ! เสียหายหมด เสียหายมาก เสียศักดิ์ศรีของพระปฏิบัติมากที่สุด”

    การออกปากขอสิ่งของ หรือเรี่ยไรเงินทองจากญาติโยมทุกรูปแบบ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หลวงพ่อชาเข้มงวดมาก แม้แต่การตั้งตู้บริจาคในวัดก็ไม่มี เมื่อญาติโยมนำเงินมาถวาย ท่านก็ไม่เคยแสดงความยินดีหรือตระหนี่หวงแหน เพราะท่านถือว่าเงินทองไม่ใช่เรื่องของพระ เป็นเรื่องศรัทธาญาติโยม

    แม่ชีบุญยู้ได้เล่าขยายความให้ฟังว่า

    “เมื่อญาติโยมมาถวายปัจจัย ท่านจะมีไวยาวัจกรเป็นผู้เก็บเอาไว้ โดยที่ท่านจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย

    ถ้าเขาจะโกงกินก็กินกันจนอาเจียนนั่นแหละ บางครั้งไวยาวัจกรไม่อยู่ ท่านก็ให้เขาเอาปัจจัยใส่ไว้ในสมุด แล้วท่านก็ไปทำธุระของท่าน ไม่ได้มาใส่ใจกับเรื่องปัจจัยนั้น กลับมาอีกครั้งปัจจัยหายไป เหลือแต่สมุดเปล่าๆก็มี

    ท่านก็จะไม่ไปโจทก์ขานซักไซ้ไล่เลียงเอากับผู้อื่น ว่า ใครมาที่นี่บ้าง เห็นพระเห็นโยมมาที่นี่ไหม

    ท่านจะว่า เขาไม่มี เขาถึงมาเอา”

    ก่อนที่หลวงพ่อจะออกปฏิบัติ ท่านก็ยังจับเงินอยู่ ท่านเล่าให้ฟัง ถึงคราวที่ตัดสินใจเลิกใช้เงินอย่างเด็ดขาดว่า

    “เรื่องพระวินัยนี้ ถ้าหากว่ามันไม่เห็นในใจของตน มันก็ยาก ในเวลาก่อนมาอยู่วัดป่าพงหลายสิบปี ผมก็ตั้งใจจะทิ้งเงิน ตลอดทั้งพรรษา ๒ เดือนกว่า ยังตัดสินใจไม่ได้
    จวนจะออกพรรษาแล้ว จับเงินในกระเป๋ามีอยู่หลายร้อยเหมือนกัน ตกลงใจว่าวันนี้จะต้องเลิก เมื่อมันทะลุปุ๊ปตกลงว่ามันจะเลิกเท่านั้น เลยสบาย


    ตอนเช้าถือกระเป๋าสตางค์มาพบเพื่อนองค์หนึ่ง เป็นมหาเปรียญ ท่านกำลังล้างหน้าอยู่ ผมโยนกระเป๋าสตางค์ให้ แล้วว่า นิมนต์เถิดท่านมหา เอาไปเถิด เอาไปเรียนหนังสือ ไม่ต้องห่วงผมหรอก ผมเลิกแล้ว

    ตกลงกันแล้วเมื่อคืนนี้ ตกลงกันแล้ว ช่วยเป็นพยานให้ผมด้วย

    ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่ ผมจะไม่แตะต้องเงินทองเป็นอันขาด

    ตั้งแต่วันนั้นมาผมยังไม่เคยทำอะไรเลย ไม่เคยซื้อ ไม่เคยแลกไม่เคยเปลี่ยน มีแต่ปฏิบัติทั้งนั้นแหละ อะไรต่างๆก็สำรวมอยู่ ”

    หลวงพ่อชาเคยพูดถึงการใช้เงินครั้งหนึ่งว่า

    “เอาเงินค่ารถหมกไว้ซ่อนไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ตัวเราก็รู้ พระอื่นไม่รู้แต่พระเรานี่ก็รู้ เพราะเราก็เป็นพระเหมือนกัน ร้อนระอุอยู่อย่างนั้น

    อย่างวัดป่าพงเราไปไหนก็ไม่มีค่ารถ แต่เขาก็ให้ไป มันดีกว่าเราต้องมาหอบสตางค์เสียอีก”

    “ความจริงไม่มีเงินไม่ใช่ว่าจะไปไหนไม่ได้ ยิ่งไปได้ดีกว่าเก่า ค่ารถไม่มีก็เดินเอา ทำจริง ๆ เสีย เดี๋ยวเขาก็นิมนต์ขึ้นรถเอง”

    หลวงพ่อชาอธิบายว่า ถ้าเรารักษาสิกขาบทข้อนี้ได้ ก็เป็นการสร้างบารมี ญาติโยมเห็นแล้วก็เลื่อมใส มีจิตศรัทธาที่จะช่วยเหลือ
    สำคัญที่เราไม่ขอ พร้อมที่จะอดอยู่เสมอ เป็นสิกขาบทที่ช่วยสร้างความมักน้อยสันโดษเป็นหลักชีวิต


    เคยมีพระรูปหนึ่งมาต่อรองกับท่านในเรื่องการถือปัจจัยเงินทอง ว่าจะใช้แบบไม่ยึดมั่นถือมั่น หลวงพ่อได้ให้คำตอบเรียบ ๆ ว่า
    “ถ้าท่านกินเกลือหมดกะทอไม่เค็ม ท่านก็อาจทำได้”


    จากอุปลมณี หน้าที่ ๑๔๒-๑๔๓

    เพิ่มเติม **ปัจจุบัน ในยุคหลังหลวงพ่อชา สาขาส่วนใหญ่ใช้ระบบปวารณา คือญาติโยมออกปากรับดูแล เช่น บางท่านออกปากว่าจะไปที่ไหนก็จะรับอาสานำรถไปส่ง หรือนิมนต์ขึ้นเครื่องไปต่างประเทศ ถ้าโยมปวารณาท่านนั้นไม่พร้อม ก็จะติดต่อคนปวารณาที่พร้อม ถ้าไม่มีใครพร้อมก็คงพยายามดำเนินการเอง ในส่วนค่าน้ำ ไฟฟ้าก็มีโยมปวารณารับเป็นผู้จ่ายแทน บางที่ก็เป็นคณะศรัทธาที่รวมตัวกันดูแลในส่วนนี้

    พระหนองป่าพงจึงใช้ค่าน้ำ ไฟฟ้า เท่าที่จำเป็น คือใช้ในการทำวัตร ทำสังฆกรรม เท่านั้น ที่อุโบสถ ที่ศาลาการเปรียญ หลีกเลี่ยงการใช้ส่วนตัวตามกุฏิ เพื่อไม่เดือดร้อนญาติโยมปวารณาเกินไป สาขาส่วนน้อยที่เป็นไปตามแนวทางปวารณามิได้ เนื่องจากเงื่อนไขบางท้องที่ไม่เหมือนกันหรือคณะศรัทธาญาติโยมยังไม่พร้อมก็อาจปรับเปลี่ยนเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งทุกสาขาจะมีการตรวจสอบจากคณะสงฆ์หนองป่าพงว่าสมควรหรือไม่ ซึ่งถ้าสาขาไหนทำไม่เหมาะสมและชี้แจงความจำเป็นไม่ได้ สาขานั้นจะถูกปลดจากการเป็นสาขาวัดหนองป่าพงในการประชุมใหญ่วันที่17 มิถุนายนอยู่แล้ว

    ข้อมูลจาก เว็บพันทิป
    https://pantip.com/topic/34690362

    เรื่องปัจจัยกับหลวงพ่อคูณ

    รู้หรือไม่

    เมื่อมีผู้ถวายปัจจัย (ธนบัตร) หลายใบหลวงพ่อคูณจะรับไว้เพียงใบเดียว และเป็นใบที่มีมูลค่าน้อยที่สุด แต่ถ้าถวายใบเดียว หลวงพ่อจะจับปัจจัยแล้วคืนให้ หลวงพ่อให้เหตุผลว่า“กูให้พวกมึงรู้จักพอ อย่าโลภมาก รู้จักเอาชนะใจตนเอง”

    วัตถุมงคล
    แม้เครื่องรางของขลังของหลวงพ่อคูณ จะมีชื่อเสียงด้านพุทธคุณสูงยิ่ง แต่หากเป็นลูกศิษย์ที่แท้จริงจะรู้ว่าท่านให้ผู้ที่มีพระเครื่องของท่านติดตัวภาวนา “พุทโธ” ทำจิตให้เป็นสมาธิ ไม่พูดจาหยาบคายด่าว่าพ่อแม่ของตนเองและพ่อแม่บุคคลอื่น ไม่ผิดสามีหรือภรรยาผู้อื่น และไม่ว่าจะอยู่ที่ใดให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน และที่สำคัญที่สุดหลวงพ่อย้ำว่า

    “ถ้ามีใจอยู่กับพุทโธ ให้เป็นกลาง ๆ ไม่สอดส่ายไปที่ไหน นั่นหมายความว่าใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใด ๆ ในโลก”

    บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

    หลวงพ่อคูณ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีประชาชนเคารพเลื่อมใส จึงมีผู้มาถวายปัจจัยรวมถึงเช่าเครื่องรางของขลังจากวัดบ้านไร่เป็นจำนวนมากเงินที่ได้มานอกจากนำไปสร้างโรงเรียนชั้นประถม มัธยมและวิทยาลัย โรงพยาบาลแล้วยังจัดตั้ง กองทุนและมูลนิธิเพื่อการศึกษาพระ ภิกษุสามเณร นักเรียนนักศึกษา เพื่อนำดอกผลมาใช้ดำเนินโครงการ โดยท่านกล่าวว่า

    “กูเป็นคนยากจนโดยกำเนิด จึงอยากคิดช่วยเหลือคนอื่น การนำเงินไปช่วยคนอื่นก็จะมีคนบริจาคเรื่อย ๆ ถ้าเก็บไว้จะทำให้ตนตาบอด ใจก็บอดอีกด้วย จึงอยากช่วยคนอื่นอยู่เรื่อยไป วันใดไม่มีคนมาขอเงินก็ไม่ค่อยสบายใจ”

    สมณศักดิ์

    ปี พ.ศ. 2535 หลวงพ่อคูณได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ ที่พระญาณวิทยาคม
    ปี พ.ศ. 2539 ที่พระราชวิทยาคม
    ปี พ.ศ. 2547 ที่พระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

    “กูยึดติดแต่เรื่องประพฤติปฏิบัติ เรื่องตำแหน่งยศ อย่าไปถือให้มากนัก ต้องถือว่าเป็นความฝัน อย่าไปติดยึด จงละวางกันเสียบ้าง พอดับจิตไป มันก็อยู่ในตู้ตามเคย”

    พินัยกรรมหลวงพ่อคูณ

    แม้ร่างที่ละสังขารไปแล้วก็ยังเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ โดยท่านทำพินัยกรรมบริจาคศพให้คณะแพทย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใน 24 ชั่วโมง และให้สวดพระอภิธรรมศพที่คณะแพทยศาสตร์ 7 วัน เมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้าของภาควิชากายวิภาคศาสตร์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้ทำพิธีเช่นเดียวกับศพของอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น และนำอัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมดไปลอย ที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย

    แม้วันนี้หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ ละสังขารไปแล้วแต่คำสอนอันเรียบง่าย วัตรปฏิบัติที่ดีงาม เมตตาที่สูงส่งของท่านยังคงอยู่ในใจของพุทธศาสนิกชนคนไทยตลอดไป

    ที่มา
    http://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/976.html
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 20 มิถุนายน 2018

แชร์หน้านี้

Loading...