บทความให้กำลังใจ(บุญและทานในไทย)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ปี๊บของหลวงพ่อ วัดบ้านกร่าง
    พระเมธีธรรมสาร (ไสว ธมฺมสาโร) อดีตเจ้าคณะอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี หรือที่ชาวบ้านแถบนั้นรู้จักในนามหลวงพ่อวัดบ้านกร่าง ตามชื่อวัดที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสนั้น ได้ชื่อว่าเป็น “พระขลัง” แม้เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลที่ท่านสร้างจะมีอยู่ไม่มากก็ตาม

    แต่สาเหตุที่ชาวบ้านเคารพนับถือท่านกระทั่งทุกวันนี้ แม้ท่านจะมรณภาพไป ๒๐ ปีแล้ว ไม่ได้อยู่ที่ความขลังของท่านอย่างเดียว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือศีลาจารวัตรอันงดงามและปฏิปทาที่ท่านประพฤติเป็นแบบอย่างโดยความเรียบง่าย มักน้อย และเสียสละ

    มีเหตุการณ์หนึ่งซึ่งยังความศรัทธาซาบซึ้งแก่ญาติโยมอย่างมากก็คือ ตอนที่มีการระดมเงินสร้างอาคารเรียนของโรงเรียนหลังใหม่ของวัดบ้านกร่าง เนื่องจากทางการมีงบประมาณให้ไม่ถึงครึ่งของทุนที่จะใช้ก่อสร้าง จำเป็นต้องอาศัยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ท่านเห็นว่าพระจะต้องเป็นผู้นำในการเสียสละ

    วันหนึ่งท่านได้นัดหมายให้กรรมการวัดมาประชุมพร้อมกันที่กุฏิท่าน แล้วท่านก็ให้คนไปยกปี๊บ ๆ หนึ่งในห้องพระของท่านลงมา ปรากฏว่าปี๊บนั้นมีซองใส่เงินอัดแน่นอยู่เต็ม ท่านบอกว่าตั้งแต่ท่านมาอยู่วัดบ้านกร่าง เงินที่มีผู้ถวายแก่ท่าน ส่วนหนึ่งใช้ไปตามควรแก่สมณวิสัย อีกส่วนก็ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น สร้างเมรุเผาศพ และวิหาร ส่วนที่เหลือทั้งหมดอยู่ในปี๊บนี้ ท่านขอให้กรรมการวัดเอาออกมานับรวมกัน ได้เท่าไรบริจาคสร้างโรงเรียนทั้งหมด

    เมื่อกรรมการวัดเอาซองเงินออกมา ก็พบว่าซองยิ่งอยู่ลึก ก็ยิ่งเก่าจนกระดษาเหลือง แสดงว่าปัจจัยที่ญาติโยมถวายท่านในโอกาสต่าง ๆ นั้น ท่านไม่ได้เปิดดู และไม่สนใจว่าเป็นเงินมากน้อยเท่าใด ได้มาก็ใส่ปี๊บเอาไว้ เมื่อจำเป็นก็ใช้ไป ส่วนที่เหลือก็อยู่อย่างนั้น ญาติโยมจึงศรัทธาท่านขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยประจักษ์แก่สายตาว่าท่านไม่ติดในปัจจัยที่ได้รับ

    นอกจากท่านจะไม่ยึดติดในลาภแล้ว กับผู้มีเงินท่านก็ไม่ได้มีฉันทาคติด้วย ตอนที่มีการสร้างห้องแถวในตลาดนั้น ทางวัดให้เจ้าของแต่ละคนลงทุนและดำเนินการก่อสร้างกันเอง วัดเพียงให้เช่าที่ดินในราคาถูก (คูหาละ ๖๐ บาทต่อปี ปัจจุบันเพิ่มปีละ ๑๐๐ บาท) แต่มีปัญหาคือคนส่วนมากอยากได้ห้องหัวมุม เพราะอยู่ใกล้ท่ารถท่าเรือ เป็นทำเลดีเหมาะแก่การค้าขาย

    มีคหบดีบางคนเสนอท่านว่า พวกเขาขอสิทธิ์พิเศษเลือกเอาห้องหัวมุมดังกล่าว โดยจะสร้างถวายวัดคนละห้องเป็นการตอบแทน หลวงพ่อไม่ยอม เพราะเห็นว่าเป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้อื่น ยิ่งกว่านั้นก็คือวัดจะกลายเป็นผู้รับสินบน เห็นแก่ผลประโยชน์ แม้จะมิใช่ผลประโยชน์ส่วนตัวก็ตาม

    วิธีของท่านคือให้ทุกคนจับฉลาก ใครได้พื้นที่ตรงไหนก็สร้างห้องของตนตรงนั้น ทีแรกคหบดีเหล่านั้นไม่พอใจ ถึงกับจะยกเลิกการสร้างห้องของพวกตน โดยคิดว่าถ้ารวมหัวถอนตัวกันไปหลายคน โครงการสร้างห้องแถวก็อาจต้องล้มเลิก แต่หลวงพ่อไม่ได้วิตกอะไร ใครจะสร้างหรือไม่ท่านไม่ว่า ในที่สุดตลาดก็สร้างสำเร็จ ส่วนพวกคหบดีเหล่านั้นต้องยอมแพ้ ยอมจับสลากห้องแถวของตนเหมือนคนอื่น ๆ
    :- https://visalo.org/article/budLumTarn.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    จะใช้ชีวิตอย่างไรให้เป็นสุขในช่วงปีใหม่และทุกๆ วัน
    พระไพศาล วิสาโล
    ยุคนี้เป็นยุคโลกาภิวัตน์ คำนี้มีความหมายหลายแง่ แต่แง่หนึ่งก็คือการไหลบ่าของบริโภคนิยม ทำให้ผู้คนมุ่งการมี การเสพ การครอบครองวัตถุเยอะๆ ทำให้ผู้คนคิดถึงแต่ตัวเองมากขึ้น ตอนนี้อาตมาคิดว่าสังคมไทยมีปัญหาหลักๆ ๔ ประการ คือ

    ประการที่หนึ่ง ผู้คนคิดถึงตัวเองมากกว่าผู้อื่น เอาประโยชน์ส่วนตัวหรือเอาความต้องการของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่สนใจส่วนรวม ไม่สนใจสังคม หรือไม่สนใจแม้กระทั่งครอบครัวด้วยซ้ำ

    ประการที่สอง ติดยึดหรือหวังพึ่งพิงทางวัตถุ เข้าใจว่าความสุขจะได้มาก็จากการเสพวัตถุ จึงคิดแต่จะครอบครองหรือว่าเสพวัตถุให้ได้มากที่สุด เพราะคิดว่าวัตถุเท่านั้นที่เป็นที่มาประการเดียวของความสุข

    ประการที่สาม หวังลาภลอยคอยโชคและนิยมทางลัด เดี๋ยวนี้เรามักบ่นกันว่าทำไมคนไทยชอบเล่นการพนัน ชอบโกง คอรัปชั่น หรือว่าหลงใหลไสยศาสตร์ อันนี้เป็นเพราะว่าเราหวังลาภลอยคอยโชคและนิยมทางลัด จึงติดการพนัน ติดหวย ติดลอตเตอรี่ นักเรียนก็คิดแต่ว่าทำอย่างไรจะได้คะแนนดีโดยไม่เหนื่อย เพราะฉะนั้นการลอกข้อสอบ การโกงข้อสอบเป็นเรื่องธรรมดามาก ไม่สนใจเรียนแต่ขอเกรดครู ส่วนคนที่อยากรวยก็เล่นการพนันซื้อหวยหรือพึ่งพาวัตถุมงคล ไม่สนใจทำมาหากิน

    ประการที่สี่คือ การคิดไม่เป็น ใช้ความรู้สึกมากกว่าเหตุผล เอาความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง

    ถามว่าทำอย่างไรสังคมจะมีความสุข ผู้คนมีความสุข ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติสี่ประการ
    คือประการที่หนึ่ง นึกถึงผู้อื่นมากกว่าตัวเอง ประการที่สอง สองสามารถเข้าถึงความสุขโดยไม่อิงวัตถุ ความสุขที่ไม่อิงวัตถุหมายถึงความสุขที่ได้จากการทำความดี ความสุขจากการที่ได้ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลผู้อื่น ความสุขจากการที่ได้ทำสิ่งที่ยากให้สำเร็จได้ ความสุขจากสมาธิภาวนา อันนี้คือความสุขที่ไม่อิงวัตถุ

    ประการที่สามพึ่งความเพียรของตัวเอง อยากได้อะไรก็ต้องใช้ความเพียรของตัวเอง คนไทยเราถ้ามีความเพียรเป็นที่พึ่งเราจะประสบความสำเร็จทั้งในชีวิต การทำงานและส่วนรวม คนเราถ้ามีความเพียรเป็นที่พึ่ง ก็จะสามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เน้นเรื่องความเพียรมาก อาตมาคิดว่าทุกศาสนาก็เน้นตรงนี้คือเอาความเพียรเป็นที่พึ่ง

    ประการที่สี่ คิดดี คิดเป็น เห็นชอบ ก็คือรู้จักคิดอย่างฉลาด ไม่มองแต่แง่ลบ มองแง่บวกด้วย เจอปัญหาก็ไม่ท้อ เพราะมองเห็นว่าปัญหาทั้งหลายมีข้อดีอย่างไรบ้าง ถูกวิจารณ์แทนที่จะโกรธก็มองว่า สิ่งที่เขาพูดมามีข้อดี ถูกต้องอย่างไรบ้าง แม้แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไม่ทุกข์ เพราะเราสามารถจะหาประโยชน์จากความเจ็บป่วยได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า ป่วยทุกทีก็ต้องฉลาดทุกที เพราะความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด มาเตือนให้เราตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต เตือนให้เราไม่ประมาท และทำให้เราเห็นว่าความสุขที่จริงมันง่ายนิดเดียว เพียงแค่เราไม่ป่วยเราก็มีความสุขแล้ว แต่คนไม่ได้คิดอย่างนี้ ตอนที่มีสุขภาพดีก็อยากได้นู่นอยากได้นี่ แต่พอเจ็บป่วยขึ้นมาจึงรู้ว่า ความสุขนี้มันง่ายนิดเดียว เพียงแค่เราไม่ป่วย เพียงแค่สุขภาพปกติเราก็มีความสุขแล้ว

    อาตมาคิดว่าถ้าคนไทยมีธรรมะสี่ประการนี้ ไม่ว่านับถือศาสนาใด ก็จะมีความสุขได้ง่าย เจอความทุกข์ เจอความลำบากก็ไม่กลัว กล้าสู้สิ่งยาก เพราะรู้ว่าลำบากวันนี้ก็จะสบายวันหน้า และเมื่อมีความสุขแล้วเราก็จะมีกำลังในการทำความดี สร้างประโยชน์ให้ส่วนรวม ถ้าคนไทยคิดอย่างนี้กันมากขึ้น สังคมไทยก็จะเป็นสังคมที่สงบสุข
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    เดี๋ยวนี้เราไม่มีเวลาให้กันแม้กระทั่งในครอบครัว ไม่มีแม้แต่เวลาจะกินข้าวด้วยกัน หรือคุยด้วยกัน บางทีได้เวลากินข้าวก็ต้องโทรศัพท์เรียกให้ลงมากินข้าวหรือว่าส่งอีเมล์ไปหาลูก เพราะลูกเอาแต่เฝ้าอยู่หน้าจอ ส่งอีเมล์มาบอกว่าลูกลงมากินข้าวได้แล้ว เดี๋ยวนี้เรามีเวลาให้คนอื่น คนที่อยู่คนละทวีป คนละประเทศ แต่เราไม่มีเวลาให้แก่คนใกล้ชิด อันนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไปหลงติดติดกับเทคโนโลยี พอเราไปลุ่มหลงกับเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ไอโฟน เฟซบุ๊ค เราเลยไม่มีเวลาให้คนที่อยู่ใกล้ชิด

    เราต้องเริ่มต้นจากการเห็นว่าความรัก ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันในครอบครัวเป็นที่มาแห่งความสุข ให้เวลาแก่กันมากขึ้น อย่าไปหลงไหลเทคโนโลยีมากเกินไป อย่าไปเสียเวลากับเทคโนโลยีมากเกินไป แล้วก็ฟังกันให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่ลูกฟังพ่อแม่เท่านั้น คือพ่อแม่อยากให้ลูกฟังพ่อแม่ แต่ว่าลูกจะฟังพ่อแม่ได้ พ่อแม่ต้องฟังลูกก่อน เดี๋ยวนี้มีปัญหาในครอบครัวมาก ว่าลูกไม่ฟังพ่อแม่ แต่อาตมาคิดว่าทั้งหมดนี้เกิดจากการที่พ่อแม่ไม่ค่อยฟังลูก ถ้าพ่อแม่ฟังลูก ลูกก็จะฟังพ่อแม่ ถ้าลูกฟังพ่อแม่ พ่อแม่ก็จะฟังลูกมากขึ้นเช่นกัน

    การฟังซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความเข้าใจเห็นอกเห็นใจกัน แล้วก็จะเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันได้มากขึ้น จะมีความรักความเห็นใจกันมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในครอบครัวเท่านั้น แต่รวมถึงในที่ทำงาน ในหมู่เพื่อนฝูง ในสังคม ถ้าเราฟังซึ่งกันและกันให้มากขึ้น ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน การฟังซึ่งกันและกัน จะทำให้เราเคารพกัน เข้าใจกัน ตอนนี้เมืองไทยผู้คนไม่ค่อยฟังกัน ถ้าอยู่คนละกลุ่ม คนละสี คนละค่าย คนละพรรคก็ไม่ฟังกันแล้ว ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน เกิดอคติและในที่สุดก็สร้างภาพให้ฝ่ายตรงข้ามเป็นตัวเลวร้าย ทำให้เกิดเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน เกิดความเกลียดชังกัน การที่คนเราจะรักกันได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องคิดเหมือนกัน ไม่ได้หมายความว่าต้องใส่เสื้อสีเดียวกัน เพราะยุคโลกาภิวัตน์มันมีแต่ความแตกต่าง เราไม่สามารถทำให้คนคิดเหมือนกันได้ การที่คนเราจะรักกันได้ต้องเริ่มต้นจากการเปิดใจฟังกัน และทำความเข้าใจกัน

    นอกจากเปิดใจฟังกันและกันแล้ว ก็ควรที่จะเปิดใจฟังความรู้สึกนึกคิดของตัวเองด้วย ถ้าเราฟังความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เราจะรู้ทันจิตใจของเรามากขึ้น เดี๋ยวนี้คนเรานอกจากไม่เป็นมิตรหรือรู้สึกแปลกแยกกับคนอื่นแล้ว เรายังไม่เป็นมิตรกับตัวเอง แปลกแยกกับตัวเองด้วย คนสมัยนี้บอกว่ารักตัวเอง แต่พอให้อยู่กับตัวเองก็อยู่ไม่ได้ ต้องไปนู่นต้องไปนี่ ทำตัวให้วุ่นกับงาน เที่ยวห้าง โทรศัพท์ถึงเพื่อน เพราะว่าอยู่กับตัวเองไม่ได้

    ทำไมอยู่กับตัวเองไม่ได้ ก็เพราะว่าทนตัวเองไม่ได้ มีความขัดแย้งกับตัวเอง อาตมาคิดว่าถ้าคนเราหันมาใส่ใจกับความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง คือมีสติรู้เท่าทันความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เราจะเป็นมิตรกับตัวเองง่ายขึ้น เราจะเหงาน้อยลง เราจะแปลกแยกกับตัวเองน้อยลง แล้วเราสามารถจะอยู่คนเดียวได้อย่างมีความสุข อยู่คนเดียวก็มีความสุข อยู่กับผู้อื่นก็ราบรื่นกลมเกลียว ทั้งหมดนี้ต้องเริ่มต้นจากการที่เราเป็นมิตรกับตัวเองให้ได้

    ปีใหม่นี้ ใครๆ ก็อยากได้ของใหม่ อยากได้ชีวิตใหม่ แต่ชีวิตใหม่ไม่ได้เกิดจากการที่เรามีโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ มีรถคันใหม่ มีบ้านหลังใหม่ อันนั้นไม่ได้ทำให้มีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง จะมีชีวิตใหม่อย่างแท้จริงได้ก็ต่อเมื่อเรามีคุณภาพจิตแบบใหม่ เริ่มต้นจากการเป็นมิตรกับตัวเอง รักตัวเองอย่างแท้จริง อยู่กับตัวเองได้ เมื่อเรามีความสุขในตัวเอง เราก็จะสามารถแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่นได้

    การอยู่กับตัวเองยังรวมไปถึงการอยู่กับปัจจุบันด้วย ปีใหม่จะให้ชีวิตใหม่อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเราทิ้งสิ่งเก่าๆ ไป นิสัยที่ไม่ดีเก่าๆ ก็วางหรือทิ้งเสีย อารมณ์เก่า ๆ ที่หมักหมมค้างคาในใจ รู้จักปล่อย รู้จักวางบ้าง ถ้ามันสะสมอยู่ในใจก็จะกลายเป็นพิษ เหมือนกับอาหารที่เรากิน ถ้าถ่ายไม่หมด มีสิ่งตกค้างหมักหมมมากๆ ก็จะเป็นพิษต่อร่างกาย อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ อารมณ์ที่หมักหมมในจิตใจก็อาจทำให้ เกิดเป็นมะเร็งในจิตใจได้

    ปีใหม่ควรเป็นเวลาที่เราจะได้ปล่อยวาง หรือว่าขจัดปัดเป่าอารมณ์เก่าๆ ออกไป ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความโกรธ ความท้อแท้ ความเกลียด อย่าเก็บความโกรธเอาไว้ อย่าเก็บความเกลียดเอาไว้ อย่าเก็บสะสมความเศร้าเอาไว้ ปีใหม่ทั้งทีก็ปลดเปลื้องออกไป การมีสติเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเรามีสติ สติจะช่วยขจัดปัดเป่าอารมณ์เก่าๆ ไป ไม่ให้หมักหมมในจิตใจ และทำให้ชีวิตใหม่อยู่เสมอ ตื่นขึ้นทุกวันจะไม่ใช่เป็นแค่เช้าวันใหม่แต่จะเป็นวันเริ่มต้นของปีใหม่ ของชีวิตใหม่

    ทำทุกวันให้เป็นวันใหม่อยู่เสมอ แม้ว่าชีวิตประจำวันยังเป็นเหมือนเดิม ไม่ต่างจากเมื่อวาน แต่ว่ามีความรู้สึกใหม่ มีความรู้สึกใหม่เพราะว่าเราวางความรู้สึกเก่าๆ ทำให้ใจเราโปร่งโล่ง ปลอดจากความเศร้า ความโกรธ ความเกลียด ความหม่นหมองในใจ เราจะเป็นมิตรกับตัวเองได้ ก็ต้องรู้จักปล่อยวางอารมณ์ที่เศร้าหมอง ละวางความโกรธ ความโลภ มีความเพียร ใส่ใจในการทำความดี ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะทำให้เรามีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง แม้ว่าเรายังมีรถคันเดิม มีบ้านหลังเดิม ใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดิม แต่ถ้าเรามีคุณภาพจิตแบบใหม่แล้ว เราจะมีชีวิตใหม่อย่างแท้จริง ทุกวันจะเป็นเวลาแห่งความสุข ทุกวันจะใหม่เสมอสำหรับเรา และทุกชั่วโมงก็จะใหม่เสมอเช่นเดียวกัน

    ขอให้ทุกท่านได้รับสิ่งนี้ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งประเสริฐ คำว่าพรแปลว่าสิ่งประเสริฐ สิ่งประเสริฐหรือสิริมงคลในพุทธศาสนา ไม่ใช่วัตถุสิ่งของ แต่คือธรรมะในจิตใจ ธรรมะในจิตใจไม่มีใครที่จะให้แก่เราได้ มีแต่เราต้องทำขึ้นมาเอง แต่ถ้าเราสามารถสร้างหรือทำขึ้นมาได้ สิ่งเหล่านี้จะเป็นของขวัญอันประเสริฐที่สุด อยากให้เรามอบของขวัญอันประเสริฐนี้แก่ตัวเราเอง ไม่ต้องรอให้คนอื่นมาให้ ไม่ต้องรอพรจากพระสงฆ์องคเจ้า เราสามารถมอบของขวัญให้ตัวเอง สร้างสิ่งประเสริฐคือพรให้แก่ตัวเอง แล้วเราจะได้ชีวิตใหม่ ทำให้เป็นปีใหม่อย่างแท้จริง
    :- https://visalo.org/article/budPornPeMai56.html
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    ความมั่นคงของชีวิต ความจริงที่ต้องรู้
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อพูดถึงความมั่นคงของชีวิต อันเป็นยอดปรารถนาของผู้คน ส่วนใหญ่แล้วมักนึกถึงความมั่งคั่งร่ำรวย เพราะเมื่อมีเงินแล้ว สวัสดิภาพ ความปลอดภัย และความสะดวกสบายก็ตามมา ยังไม่ต้องพูดถึงบริษัทบริวารที่ห้อมล้อม แต่ทั้งหมดนี้จะมีความหมายอะไร หากชีวิตไม่มีความสุข ปราศจากความรักและความอบอุ่นจากครอบครัวและมิตรสหาย ถึงจะมีพวกแต่ไร้เพื่อน จิตใจก็คงอ้างว้าง อดไม่ได้ที่จะรู้สึกโดดเดี่ยวในยามที่อยู่คนเดียว ยิ่งเงินที่มีอยู่นั้น มิได้มาด้วยวิธีการที่ชอบธรรม ก็ย่อมเกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ

    ในขณะที่ผู้คนพากันแสวงหาความมั่นคงของชีวิตนั้น สิ่งที่มักถูกมองข้ามไปก็คือ ความมั่นคงของจิตใจ แม้จะมีเงินมากมายมหาศาล แต่ถ้าจิตใจเต็มไปด้วยความวิตกกังวล หวาดกลัว รุ่มร้อน รู้สึกพร่อง ไม่รู้จักพอ ขาดความสุขสงบเย็น ก็ยากที่จะรู้สึกว่าชีวิตมีความมั่นคง

    ในสมัยพุทธกาลมีพระราชาองค์หนึ่งชื่อว่าพระเจ้าภัททิยะ เป็นพระญาติกับพระพุทธเจ้า ต่อมาได้ออกบวชเพราะทนการรบเร้าอ้อนวอนของเพื่อน(คือเจ้าชายอนุรุทธะ)ไม่ได้ เมื่อบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนได้เป็นพระอรหันต์ ไม่ว่าท่านอยู่ที่ใด ในป่าหรือใต้ร่มไม้ ท่านมักเปล่งอุทานว่า “สุขหนอ ๆ”เป็นประจำ เพื่อนภิกษุได้ยินก็เข้าใจว่าท่านไม่ยินดีในการบวช จึงกราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์จึงรับสั่งให้เรียกท่านมาแล้วถามเหตุผล พระภัททิยะจึงตอบว่า เมื่อครั้งเป็นฆราวาสครอบครองราชสมบัติ แม้มีทรัพย์และบริวารมาก มีคนคอยดูแลปกป้องรอบข้าง ก็ยังอดสะดุ้งจิตหวาดกลัวไม่ได้ แต่บัดนี้ไม่ว่าข้าพระองค์อยู่ที่ใดเพียงลำพัง ก็ไม่รู้สึกสะดุ้งกลัว มีแต่ความสุขในทุกหนแห่ง จึงเปล่งอุทานเช่นนั้น

    สำหรับพระภัททิยะแล้ว แม้เป็นกษัตริย์ก็มิได้รู้สึกมีความมั่นคงในชีวิตเลย สาเหตุก็เพราะจิตใจไม่มีความมั่นคงอย่างแท้จริง

    มีหลายสิ่งที่ทำให้คนเราไม่รู้สึกมั่นคงในจิตใจ สิ่งหนึ่งก็คือ ความกลัว ดังกรณีของพระภัททิยะ หลายคนอาจไม่ได้กลัวอันตราย แต่กลัวการสูญเสีย อาทิ การสูญเสียทรัพย์ เป็นธรรมดาที่ว่า ยิ่งฝากชีวิตไว้กับทรัพย์สินเงินทองมากเท่าใด ก็ยิ่งกลัวการสูญเสียทรัพย์มากเท่านั้น นี้คือทุกข์ข้อแรกของคนมีทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่ทุกข์ประการต่อมา คือ ต้องเหน็ดเหนื่อยในการปกป้องรักษาทรัพย์ แม้ไม่เหนื่อยกายก็เหนื่อยใจ ยังไม่ต้องพูดถึงก่อนหน้านั้นที่ต้องดิ้นรนขวนขวายในการหาทรัพย์ ซึ่งแม้ประสบความสำเร็จ แต่ความสุขที่เกิดขึ้นก็ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าไม่นานก็รู้สึกเฉย ๆ หรืออาจถึงกับเบื่อด้วยซ้ำ ทำให้อยากได้ของใหม่ (คนที่ดีใจเพราะได้iPhone 4S เมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ส่วนใหญ่คงไม่ปลื้มกับมันแล้วเพราะเห็นiPhone 5 วางตลาด)

    ดังนั้นนอกจากความกลัวแล้ว ความอยากได้ไม่รู้จบก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จิตใจไม่มั่นคง เพราะรู้สึกพร่องอยู่เสมอ คนที่คิดว่าคำตอบของชีวิตอยู่ที่ทรัพย์สินเงินทอง (รวมไปถึงอำนาจ) จะไม่เคยรู้สึกพึงพอใจในชีวิตเลย เพราะได้เท่าไรก็ไม่รู้จักพอ ขณะเดียวกันก็รู้สึกว่าแม้ได้อะไรมามากมาย แต่ก็มีบางสิ่งบางอย่างที่ขาดหายไปจากชีวิต

    เฟอร์ดินันด์ มาร์คอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ซึ่งทรงอำนาจอย่างยิ่งเมื่อ ๔๐ ปีก่อน ได้เปิดเผยความในใจในบันทึกของตนเมื่อครั้งที่ถึงจุดสูงสุดของชีวิต ว่า

    “ผมมีอำนาจมากที่สุดในฟิลิปปินส์ ผมมีทุกอย่างที่เคยใฝ่ฝัน พูดให้ถูกต้องคือ ผมมีทรัพย์สมบัติทุกอย่างเท่าที่ชีวิตต้องการ มีภรรยา ซึ่งเป็นที่รักและมีส่วนร่วมในทุกอย่างที่ผมทำ มีลูก ๆ ที่ฉลาดหลักแหลมและสืบทอดวงศ์ตระกูล มีชีวิตที่สุขสบาย ผมมีทุกอย่าง แต่กระนั้นผมก็ยังรู้สึกไม่พึงพอใจในชีวิต”
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    สำหรับมาร์คอส ความมั่นคงของชีวิตที่ผู้คนเห็นจากภายนอกนั้น มีความหมายต่อเขาน้อยมากตราบใดที่เขายังไม่รู้สึกพึงพอใจในชีวิต

    มาร์คอสกับพระภัททิยะนั้นเป็นภาพที่ตัดกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งมีทรัพย์และอำนาจล้นฟ้าแต่ไม่มีความสุข อีกคนไม่มีอะไรเลยนอกจากบาตรและจีวร แต่มีความสุขอย่างยิ่ง

    สิ่งที่ชีวิตของคนเราต้องการอย่างแท้จริงนั้น หาใช่ทรัพย์สินเงินทองไม่ แต่คือความสงบเย็นในจิตใจ พูดเช่นนี้มิได้หมายความว่าทรัพย์สินไม่สำคัญ ทรัพย์สินนั้นมีประโยชน์ตราบใดที่เรารู้จักใช้มัน ไม่ลุ่มหลงเพราะรู้ว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไร แต่หากลุ่มหลงมันแล้ว เราก็กลายเป็นทาสของมันทันที อีกทั้งมันจะกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางไม่ให้เราเข้าถึงความสงบเย็นในจิตใจ อันเป็นสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขและความมั่นคงในจิตใจอย่างแท้จริง

    ความสงบเย็นในจิตใจนั้น เกิดจากการหมั่นทำความดี เริ่มด้วยการแบ่งปันทรัพย์สินแก่ผู้ที่ทุกข์ยากหรือผู้ที่ทำประโยชน์ส่วนรวม(ทาน) จากนั้นก็รักษากายและใจไม่ให้เบียดเบียนผู้อื่น รวมไปถึงการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยกำลังกายและสติปัญญา (ศีล) ตามมาด้วยการฝึกฝนอบรมจิตใจให้เป็นกุศล(ภาวนา) เช่น มีสติ สมาธิ และสันโดษ(ความรู้จักพอ) ที่สำคัญคือการบ่มเพาะใจให้เกิดปัญญา คือเห็นและเข้าใจความจริงของชีวิต

    ความจริงของชีวิตอย่างหนึ่งที่ควรตระหนัก และจะช่วยให้จิตใจมั่นคงอย่างยิ่ง นั่นคือความจริงที่ว่า ชีวิตนี้แท้จริงแล้วไม่มีความมั่นคงเลยแม้แต่น้อย เพราะทุกคนเมื่อเกิดมา นอกจากต้องแก่ ต้องป่วยแล้ว ยังหนีความตายไม่พ้น ชีวิตที่มีความตายเป็นจุดหมายโดยมีความเจ็บป่วย ความแก่อยู่ระหว่างทาง (ไม่นับความสูญเสียพลัดพรากที่ต้องเกิดขึ้นแน่นอน) จะเป็นสิ่งที่มั่นคงได้อย่างไร

    ไม่ว่ามีเงินมากมาย มีอำนาจล้นฟ้า ก็ไม่อาจป้องกันความแก่ ความเจ็บ และความตายได้ (ทำได้อย่างมากก็แค่ชะลอเท่านั้น) ใช่แต่เท่านั้น เงินทองและอำนาจก็ล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยง ไม่จิรัง ไม่มั่นคง แปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ในเมื่อตัวมันเองยังไม่มั่นคง มันจะไปค้ำยันชีวิตเราให้มั่นคงได้อย่างไร

    ใช่หรือไม่ว่า ความมั่นคงของชีวิตนั้นแท้จริงเป็นของชั่วคราว หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ มันเป็นมายาภาพ ที่เราหลงคิดว่าเป็นความจริง ตราบใดที่เรายังหลงในมายาภาพดังกล่าว เราจะไม่มีวันพบกับความสุขที่แท้จริงได้เลย ต่อเมื่อเราเห็นความจริงว่าไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้หรือมั่นคงอย่างแท้จริงเลย เราจึงจะพบกับความสงบเย็น เพราะจิตไม่ลุ่มหลงยึดติดกับสิ่งใด ๆ อีกต่อไป ไม่ว่ามีอะไร ก็รู้ว่าสักวันหนึ่งมันย่อม “หมด” ไป ดังนั้นเมื่อวันนั้นมาถึง จึงไม่ทุกข์ ไม่เศร้าโศก เสียใจ หรือโกรธแค้น จิตใจยังคงเป็นปกติ มั่นคง ไม่หวั่นไหว

    โลกและชีวิตนี้เต็มไปด้วยความผันผวนแปรปรวน เมื่อใดเราเปิดใจยอมรับและเห็นความจริงดังกล่าว ไม่ยึดหรืออยากให้ทุกอย่างเที่ยงแท้มั่นคงหรือเป็นไปตามใจเรา ความผันผวนนั้นจะไม่อาจทำให้เราทุกข์ได้ต่อไป ถ้าไม่อยากทุกข์ใจเพราะความผันผวนดังกล่าว ก็ควรพากเพียรสั่งสมความดีและฝึกใจให้เห็นความจริงดังกล่าว อย่ามัวแต่แสวงหาเงินทองหรือสะสมวัตถุจนมองข้ามสิ่งที่สำคัญและประเสริฐกว่าไปเลย

    :- https://visalo.org/article/budTisco.htm
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    บุญและทานในไทย
    พระไพศาล วิสาโล
    ในช่วง ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมามีประเพณีอย่างใหม่ได้เกิดขึ้นในภาคเหนือ ได้แก่การทอดผ้าป่าข้าว ปกติแล้วการทอดผ้าป่าทั่วไป ผู้คนจะถวายเงินแล้วรวบรวมถวายพร้อม “ผ้าป่า” ให้แก่ทางวัดเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น สร้างโบสถ์ วิหาร แต่สำหรับการทอดผ้าป่าข้าว ชาวบ้านจะร่วมกันบริจาคข้าว(และเงิน)เข้ากองผ้าป่า จุดหมายคือเพื่อเป็นการสนับสนุนกองทุนข้าวในหมู่บ้านที่นำผ้าป่าไปทอด กองทุนข้าวดังกล่าวตั้งขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านที่ยากจนกู้ยืมโดยมีดอกเบี้ยต่ำ แต่บางปีที่เกิดความแห้งแล้ง กองทุนข้าวบางหมู่บ้านไม่มีข้าวเพียงพอที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน ดังนั้นชาวบ้านในหมู่บ้านอื่นจึงพร้อมใจกันเข้ามาช่วย วิธีนี้ทำให้หลายหมู่บ้านที่ยากจนสามารถช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ ขณะเดียวกันก็ยังมีเงินเหลือสำหรับสนับสนุนกองทุนอื่น ๆ ในหมู่บ้าน เช่น กองทุนการศึกษาสำหรับเยาวชน และกองทุนอาหารกลางวัน

    การทอดผ้าป่านั้นเป็นประเพณีที่ได้รับความนิยมมากในเมืองไทยเพราะถือว่าทำแล้วจะได้บุญมาก แต่ทอดผ้าป่าข้าวนั้นแปลกออกไปตรงที่ แม้จะทอดที่วัด แต่จุดมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาหมู่บ้านที่ชาวบ้านเป็นผู้ดำเนินการ ดังนั้นเมื่อวัดได้เงินผ้าป่าแล้ว ก็มีการทำพิธีมอบให้แก่ชาวบ้านอีกที วิธีนี้เท่ากับส่งเสริมบทบาทของวัดในการสงเคราะห์ชุมชน ซึ่งเป็นมาช้านาน(แต่เพิ่งสะดุดไปเมื่อไม่นานมานี้) ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือผู้ที่นำข้าวและเงินมาทอดนั้น มิใช่ใครที่ไหนหากได้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้านข้างเคียงที่ต้องการช่วยเหลือหมู่บ้านที่ลำบากกว่า การทอดผ้าป่าข้าวจึงช่วยเสริมสร้างความสามัคคีและความเป็นเครือข่ายในระหว่างหมู่บ้านให้แน่นแฟ้นขึ้น เป็นการวางรากฐานสำหรับการทำงานพัฒนาชุมชนในระดับที่กว้างกว่าหมู่บ้าน นอกจากการค้ำจุนกองทุนข้าวที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว การทอดผ้าป่าข้าวซึ่งจัดขึ้นติดต่อกันเกือบทุกปียังมีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนให้เกิดกองทุนข้าวใหม่ ๆ ในหลายหมู่บ้าน

    นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของการประยุกต์ประเพณีทำบุญให้เกื้อกูลต่อการพัฒนาชุมชนและขจัดความยากจน ขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมทัศนคติที่ว่าการช่วยเหลือผู้อื่นนั้นก็ถือว่าเป็นบุญเช่นกัน


    มิใช่ว่าบุญจะต้องทำกับพระเท่านั้น อันที่จริงทัศนคตินี้ก็มีอยู่เดิมแล้วในภาคเหนือ ดังมีประเพณีที่เรียกว่า “ทานทอด” คือการนำวัตถุไปสงเคราะห์แก่คนยากไร้ โดยวางไว้ใกล้ที่อยู่ของเขา หลังจากนั้นจึงจุดประทัดเพื่อเป็นสัญญาณว่ามีคนเอาของมาให้ ถือว่าทำเช่นนี้ก็ได้บุญเช่นเดียวกับการทอดผ้าป่า

    อย่างไรก็ตามน่าเสียดายที่ประเพณีทานทอดได้หายไปแล้วเมื่อไม่ช้าไม่นานมานี้เอง ทำให้การทำบุญมีความหมายเรียวและแคบลง เหลือเพียงแค่การให้ทานแก่พระเท่านั้น อันที่จริงในอดีตการให้ทานกับพระกับการสงเคราะห์ชุมชนนั้น ไม่เคยเป็นเรื่องที่แยกจากกัน การทอดผ้าป่าไม่ได้เกิดประโยชน์แก่วัดเท่านั้น หากยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย เพราะวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน จานชามที่ถวายให้วัด ชาวบ้านก็มายืมไปใช้ในงานศพหรืองานแต่งงาน แต่มาระยะหลัง วัดกับบ้านเหินห่างจากกัน การทำบุญกับพระจึงไม่ค่อยได้เกิดประโยชน์แก่ชาวบ้าน

    ในปัจจุบันมีความพยายามจากหลายกระแสที่ประยุกต์ประเพณีการทำบุญให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม เฉพาะประเพณีทอดผ้าป่า นอกจากทอดผ้าป่าข้าวแล้ว ก็มีทอดผ้าป่าหนังสือ หรือทอดผ้าป่าปัจจัย ๔ เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีการพยายามคิดค้นกิจกรรมใหม่ ๆ โดยอิงแนวความคิดเกี่ยวกับบุญ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือการประยุกต์แนวคิดเกี่ยวกับบุญให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น ที่น่าสนใจอย่างหนึ่งได้แก่ กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์

     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,858
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)

    กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เป็นการพัฒนามาจากแนวคิดเรื่องกลุ่มออมทรัพย์ ซึ่งเป็นการระดมเงินออมของชาวบ้านเพื่อให้ชาวบ้านกู้ยืมกันเอง โดยไม่ต้องพึ่งธนาคารหรือนายทุนเงินกู้ แต่สัจจะสะสมทรัพย์ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งโดยการเอาแนวคิดทางพุทธศาสนามาเป็นรากฐาน อาทิ หลักสัจจะ กล่าวคือสมาชิกทุกคนจะต้องถือสัจจะว่าจะนำเงินมาสะสมทุกเดือนไม่ขาด โดยจำนวนเงินต้องไม่น้อยหรือมากกว่าเดิม นอกจากนั้นยังนำเอาแนวคิดเรื่องบุญมาใช้ด้วย กล่าวคือให้ชาวบ้านตระหนักว่าการมาเป็นสมาชิกกลุ่มนั้นเป็นการทำบุญร่วมกัน เพราะเงินที่นำมาฝากนั้น คนที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบปัญหา สามารถมากู้ยืมเอาไปใช้บรรเทาความเดือดร้อนได้ เท่ากับว่าได้ช่วยสงเคราะห์เขา นี้คือการฟื้นฟูคุณธรรมดั้งเดิมขึ้นมาได้แก่การสงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในอดีตคุณธรรมข้อนี้มีเด่นชัดมากและแนบแน่นกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน เริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย เช่น การตั้งน้ำดื่มไว้หน้าบ้าน การให้ข้าวให้น้ำแก่คนแปลกหน้า สร้างศาลาที่พักแรมแก่คนเดินทาง ไปจนถึงการลงแขกเกี่ยวข้าว ปลูกเรือน หรือช่วยกันบูรณะถนนหนทาง สร้างศาลาท่าน้ำ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ชาวบ้านถือว่าเป็นบุญด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ได้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่งนั่นคือ มีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งมีวิธีดำเนินการกับผู้ที่เอาเปรียบหมู่คณะ นอกจากมีระเบียบกฎเกณฑ์แล้วยังมีการสร้างสำนึกทางคุณธรรมควบคู่กันไปด้วย ขณะเดียวกันก็หันมาใช้วิธีระดมเงินแทนที่จะระดมแรงเหมือนก่อน ที่น่าสนใจก็คือความริเริ่มดังกล่าวเกิดขึ้นจากพระสงฆ์รูปหนึ่งคือพระสุบิน ปณีตโต ซึ่งสามารถจัดตั้งกลุ่มแบบนี้ได้ร่วม ๓๐๐กลุ่มแล้วในหลายจังหวัด เฉพาะจังหวัดตราดซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่านมีกลุ่มเหล่านี้ในเกือบ ๒๐๐ หมู่บ้าน หรือกว่าครึ่งหนึ่งของจังหวัด


    ควรกล่าวย้ำว่าบุญหรือทานในอดีตนั้นมีความหมายที่กว้างมาก ท่านอาจารย์พุทธทาสเล่าว่า เมื่อท่านยังเด็ก โยมแม่จะสอนคาถาประจำใจเวลาทำนาว่า “นกกินก็เป็นบุญ คนกินก็เป็นทาน” บุญนั้นไม่จำกัดที่การทำกับผู้อยู่เหนือเรา เช่น พระสงฆ์เท่านั้น แม้ทำกับผู้ที่อยู่ระดับเดียวกับเรา เช่นผู้คนทั่วไป หรือที่อยู่ต่ำกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นคนรับใช้ หรือสิงสาราสัตว์ ก็ถือว่าเป็นบุญเช่นกัน ทั้งนี้โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นการให้ทานหรือให้วัตถุสิ่งของเท่านั้น แม้แต่การเอื้อเฟื้อด้วยแรงกายหรือแรงปัญญา รวมถึงการชี้แนะชักชวนในทางที่ดีงาม ก็เป็นบุญเช่นกัน

    บุญในความหมายนี้แหละที่เป็นปัจจัยถักทอสังคมทุกสังคมให้ปรองดองกลมเกลียวและผาสุก อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมให้เข้มแข็งมั่นคง ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีความพยายามในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุญตามหลักพุทธศาสนา เครือข่ายชาวพุทธเพื่อพระพุทธศาสนาแ ละสังคมไทยเป็นกลุ่มหนึ่งที่รณรงค์ในเรื่องนี้อย่างแข็งขันในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา

    การรณรงค์ของกลุ่มนี้เริ่มต้นด้วยการจัดทำคู่มือทำบุญชื่อ “ฉลาดทำบุญ” ซึ่งแนะนำชาวพุทธไทยให้รู้จักวิธีการทำบุญ ๑๐ ประเภทตามหลักพุทธศาสนา นอกจากการชี้แนะวิธีการทำบุญแก่พระสงฆ์อย่างถูกต้อง ไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบบริโภคนิยมแล้ว ยังได้เสนอวิธีทำบุญแบบใหม่โดยไม่จำกัดว่าต้องทำกับพระ เช่น การทำอาหารเลี้ยงเด็กกำพร้า การเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนพิการ หรือจัดสันทนาการให้แก่เด็กในสถานสงเคราะห์ เยี่ยมคนชรา ปลูกป่า แจกหนังสือธรรมะ นอกจากนั้นยังเสนอวิธีการทำบุญในโอกาสสำคัญเช่น งานวันเกิด วันแต่งงาน งานทำบุญบ้าน เปิดสำนักงานใหม่ ตลอดจนงานศพ ทั้งหมดนี้มุ่งที่การสงเคราะห์ผู้ประสบทุกข์ และการเอื้อเฟื้อให้เกิดการพัฒนาจิตและปัญญา

    หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกต้อนรับเทศกาลเข้าพรรษาเมื่อ ๓ ปีที่แล้ว ทันทีที่หนังสือเล่มนี้ออกมาก็ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม จนต้องพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง จนถึงปัจจุบันมีการพิมพ์ซ้ำเกือบ ๔๐ ครั้ง รวมเกือบ ๒๐๐,๐๐๐ เล่ม มีผู้คนนิยมซื้อไปแจกในงานต่าง ๆ โดยเฉพาะงานวันเกิดและงานศพ ทั้งนี้เนื่องจากเป็นหนังสือที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำบุญที่คนเป็นอันมากไม่รู้มาก่อน การตอบรับอีกส่วนหนึ่งมาจากคนที่ไม่พอใจกับการทำบุญในปัจจุบัน ซึ่งเต็มไปด้วยพิธีกรรมอันสิ้นเปลืองและไร้ประโยชน์ หาไม่ก็เน้นที่วัตถุเช่น การสร้างโบสถ์ วิหาร

    เมื่อปีที่แล้วเครือข่ายชาวพุทธได้จัดพิมพ์คู่มือทำบุญอีกเล่มหนึ่ง ซึ่งเล่มเล็กกว่า และอ่านง่ายกว่า มีภาพประกอบสี่สี ชื่อว่า “๓๐ วิธีทำบุญเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคม” ท้ายเล่มยังได้แนะนำหน่วยงานที่พร้อมรองรับผู้ต้องการทำบุญ ทั้งโดยการบริจาคเงินและเป็นอาสาสมัคร รวมทั้งสถานที่ที่เปิดอบรมสมาธิภาวนา หนังสือดังกล่าววางขายตามปั๊มน้ำมันในกรุงเทพ ฯ ต้อนรับเทศกาลเข้าพรรษา ปรากฏว่าได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน ต้องพิมพ์ใหม่ ๗ ครั้ง ยอดพิมพ์ร่วม ๒๐๐,๐๐๐ เล่ม อีกทั้งยังได้รับการตอบสนองจากสื่อมวลชนทุกประเภท ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ หนังสือทั้งสองเล่มยังเป็นที่ต้องการอยู่กระทั่งปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะได้เห็นและมีส่วนร่วมในการทำบุญอย่างใหม่ที่สร้างสรรค์ทั้งคุณภาพชีวิตและสังคม มิใช่สักแต่ว่าทำบุญไปตามประเพณีโดยหวังความมั่งมีศรีสุขในชาตินี้หรือสวรรค์ในชาติหน้าเท่านั้น

    หลังจากที่รณรงค์ในด้านแนวคิดมาพอสมควรแล้ว ในปีนี้ เครือข่ายชาวพุทธ ฯ มีแผนการที่จะยกระดับการรณรงค์ไปสู่ขั้นปฏิบัติการทางสังคม นั่นคือ การเชิญชวนให้คนไทยมาทำบุญช่วงเข้าพรรษาด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม โครงการนี้มีองค์กรต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายที่กว้างขึ้น โดยเลือกประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเด็ก มาเป็นแกนกลางในการรณรงค์ ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่จะชักชวนมาเป็นอาสาสมัครได้แก่พนักงานตามบริษัทห้างร้านและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ โครงการนี้นอกจากจะสร้างสำนึกแก่ชาวพุทธไทยว่าการทำบุญมีความหมายมากกว่าการให้ทานหรือสละสิ่งของเท่านั้น ยังประสงค์ที่จะสร้างขบวนการอาสาสมัครที่ตั้งอยู่บนแนวคิดเกี่ยวกับบุญ ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นรากฐานของสังคมไทยมาช้านาน ขณะเดียวกันก็ต้องการที่จะฟื้นฟูแนวคิดเรื่องบุญเพื่อให้มีพลังในการสร้างสรรค์สังคมไทย มิใช่จำกัดตัวอยู่แต่ในวัดหรือในพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น

    แม้ว่าขบวนการทางสังคมที่มีบุญเป็นรากฐานจะยังไม่เข้มแข็ง แต่ในปัจจุบันได้มีปัจเจกบุคคลจำนวนไม่น้อยที่ทำงานช่วยเหลือสังคมบนวิถีแห่งบุญ นอกจากสอนหนังสือ หรือช่วยเด็กยากจนแล้ว บางคนอุทิศตนให้แก่การปลูกต้นไม้บนพื้นดินว่างเปล่ารวมทั้งริมถนนรวมแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ล้านต้น สำหรับเขาแล้ว “การปลูกต้นไม้เป็นการทำบุญที่ถูกต้องที่สุด มันยั่งยืนกว่า และช่วยเหลือทุกคนได้ชั่วลูกชั่วหลาน” ความพยายามตลอด ๑๕ ปีของเขามีส่วนสำคัญในการทำให้อำเภอที่เคยแห้งแล้งกันดารของบุรีรัมย์ กลับเขียวขจีด้วยต้นไม้นานาชนิด การปลูกและฟื้นฟูป่าเป็นการทำบุญที่นับวันจะมีผู้นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ บางแห่งได้พัฒนามาเป็นการบวชต้นไม้

    น่าสนใจที่ว่าแนวคิดเรื่องบุญได้ขยายไปสู่การช่วยเหลือระหว่างสัตว์กับสัตว์ มีเจ้าของสุนัขจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันที่นิยมนำสุนัขของตนไปให้เลือดเพื่อช่วยเหลือสุนัขตัวอื่น ๆ ที่จำต้องใช้เลือดสำหรับการผ่าตัด เมื่อถามถึงแรงจูงใจ หลายคนตอบว่า ต้องการให้สัตว์เลี้ยงของตนได้ทำบุญ บางคนเชื่อว่าบุญจะช่วยให้สัตว์เลี้ยงของตนได้เกิดเป็นคนในชาติหน้า

    เมื่อพิจารณาจากบุญ ๑๐ ประเภทในพุทธศาสนาแล้ว จะเห็นว่าบุญนั้นเกื้อกูลต่อสุขภาวะทั้งทางกาย ความสัมพันธ์ จิต และปัญญา ซึ่งเป็นสุขภาวะทุกมิติที่มนุษย์ต้องการ ขณะเดียวกันบุญก็มิได้สร้างสรรค์เฉพาะคุณภาพชีวิตเท่านั้น หากยังเอื้อเฟื้อต่อคุณภาพสังคมด้วย ทุกครั้งที่ให้ทานอย่างถูกต้อง นอกจากจะช่วยลดความเห็นแก่ตัว ฝึกตนเป็นผู้ให้ด้วยมิใช่เป็นแค่ผู้รับอย่างเดียว ยังช่วยให้สังคมเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน มีความสงบร่มเย็น บุญอีก ๙ ประเภทที่เหลือก็เช่นกันย่อมเกื้อกูลทั้งชีวิตและสังคมอย่างไม่อาจแยกจากกันได้ แต่หากเข้าใจบุญอย่างผิด ๆ บุญก็ไม่ต่างจากยัญกรรมของพราหมณ์ หรือการแลกเปลี่ยนเพื่อหวังกำไรที่มากกว่า ตามคติทุนนิยม

    บุญที่แท้ในพุทธศาสนานั้นยังมีพลังสร้างสรรค์สังคมอยู่โดยเฉพาะในสังคมที่มีพุทธศาสนาเป็นรากฐานมาช้านาน แต่พลังนั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการเข้าถึงแก่นแท้ของบุญแล้วนำมาประยุกต์กับชีวิตและสังคมได้อย่างสมสมัย
    :- https://visalo.org/article/budBoonandTan.htm


     

แชร์หน้านี้

Loading...