การปฏิบัติธรรมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย chingchamp, 23 กันยายน 2008.

  1. chingchamp

    chingchamp เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กันยายน 2008
    โพสต์:
    788
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +504
    การปฏิบัติธรรมของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

    [​IMG]
    พล ตำรวจเอกวสิษฐ์ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจประจำราชสำนัก ได้เล่าให้ฟังว่า เวลามีโอกาสเข้าเฝ้าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงรับสั่งเรื่องสมาธิกับพวกท่านเสมอ และเวลามีโอกาสก็จะพระราชทานคำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ทุกครั้ง ซึ่งท่านก็ยังจำได้และนำวิธีฝึกสมาธิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาฝึก ปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ

    พระราชจริยาวัตร ในการปฏิบัติ สมาธิภาวนา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะทรงปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอแล้ว ยังทรงให้ความสนใจศึกษาตลอดเวลา จะเห็นว่าเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปไหนก็ตาม มักจะเสด็จเข้าไปในวัด ไปรับสั่งกับพระผู้ใหญ่เป็นเวลานาน ๆ อย่างเช่นกับ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลางเพล ในสมัยที่ หลวงปู่ ทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ อย่างนี้เป็นต้น เป็นเรื่องที่ทรงศึกษาทั้งสิ้น

    การศึกษาสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงศึกษาอย่างละเอียดลออจริง ๆ เท่าที่ท่านจำได้ในสมัยโน้น พระผู้ใหญ่ที่พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษา พระองค์จะทรงนิมนต์ให้เข้าไปในวัง ที่เรียกว่า ถวายกรรมฐาน นอกจากที่รู้ ๆ กันอยู่ ก็มีท่าน หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมญาณ) พระอาจารย์วัน อุตตโม หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น

    คำสอนคำถวายกรรมฐานของครูบาอาจารย์ทั้งหลาย พระองค์จะทรงบันทึกเทปไว้ ถ้าคำเทศน์คำสอนใดที่ทรงเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ที่หัดใหม่ทั้งหลาย พระองค์ท่านมักจะพระราชทานมาให้ ซึ่งข้าราชการบริพารที่ใกล้ชิด มักจะได้รับพระราชทานเทปจากในหลวงเสมอ ท่านจำได้ว่า ที่ได้รับพระราชทานมา ก็มีของ สมเด็จพระสังฆราช ของ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ของ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น และก็ในทำนองเดียวกัน เวลาพวก พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯไปไหนก็มักจะหิ้วเทปไปด้วย ได้พบพระอาจารย์องค์ไหนก็ตาม ต้องขอธรรมะจากท่าน เมื่อท่านสอนก็บันทึกเอาไว้ แล้วก็มาคัดกันดูว่า ม้วนไหน องค์ใดควรถวายพล.ต.อ.วสิษฐ์ฯก็จัดถวาย พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯยังจำได้ในสมัยนั้น ท่านอาจารย์ชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง ยังไม่อาพาธ ครั้งหนึ่งพล.ต.อ.วสิษฐ์ฯ เดินทางกลับจากภูพานลงมาทางอุบลฯ ได้แวะไปกราบท่านพระอาจารย์ชาฯ แล้วก็ได้เทปท่านมา ยาวถึง 40–45 นาที เป็นคำเทศน์โดยตรงที่ท่านให้โดยตรงมา เมื่อได้เทปของ พระอาจารย์ชา มาแล้วได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัว ทรงฟังแล้วรับสั่งว่าเป็นเทปม้วนที่ดีที่สุดม้วนหนึ่ง เป็นต้น

    เรื่องราวดังกล่าวนั้นเป็นตัวอย่างที่พอชี้ให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยและทรงศึกษา และปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลา

    พล. ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร ได้เล่าต่อไปว่า นอกจากเรื่องที่ทรงศึกษาแล้ว ก็เป็นเรื่องของการปฏิบัติที่ทรงนำสมาธิเข้ามามีส่วนในการปฏิบัติพระราช กรณียกิจ เพราะเท่าที่สังเกตเห็น พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงศึกษาสมาธิอย่างเดียว แต่ได้ทรงนำ สมาธิมา ใช้ในพระราชกรณียกิจประจำวันด้วย ในเรื่องนี้จะสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม ที่โดยปกติแล้วอย่างพวกเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่น่าจะทำได้ แต่พระองค์ทรงทำได้ อย่างที่ต้องประทับในที่นั่งเป็นเวลานาน ๆ ติดต่อกันถึง 2–3 ชั่วโมง จะทรงปฏิบัติได้อย่างไม่น่าเชื่อ คือไม่ทรงมีอาการเหนื่อยหรือง่วงเลยแม้แต่น้อย

    ตลอดเวลาที่พลตำรวจ เอกวสิษฐ์ เดชกุญชร รับใช้เบื้องยุคลบาทอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 11 ปี 11 เดือน ท่านเล่าว่าไม่เคยเห็นเลยว่า เวลาเสด็จพระราชดำเนินที่ใดแล้วจะทรงแสดงอาการเหนื่อยจนถึงขนาดนั่งหลับ ไม่มีแม้จะเป็นการทรงงานทั้งวันก็ตาม ดังเรื่องที่จำได้และจะเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้

    คงจะทราบกันอยู่แล้วว่า เวลาเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อเยี่ยมเยือนประชาชน พระเจ้าอยู่หัวโปรดทรงขับรถยนต์ด้วยพระองค์เอง ท่านเคยได้ตามเสด็จทั้งในและนอกรถพระที่นั่งมาหลายครั้ง เป็นระยะทางทั้งไกลและใกล้ ถนนเรียบบ้าง ขรุขระบ้าง ลุ่มดอนบ้าง ตามสภาพภูมิประเทศ บางครั้งแม้เสด็จถึงที่หมายแล้วทรงจอดรถพระที่นั่ง และเสด็จฯ ลงไปประกอบพระราชกรณียกิจด้วยความตรากตรำพระวรกาย เช่น พระราชดำเนินเป็นระยะทางไกล และเป็นเวลาหลายชั่วโมง ขากลับนึกว่าจะทรงพักผ่อนพระวรกาย และให้นายสารถีทำหน้าที่ขับรถพระที่นั่งถวาย ก็เปล่ากลับทรงขับด้วยพระองค์เองอีกโดยไม่ทรงแสดงพระอาการเหนื่อยหรือง่วง เจ้าหน้าที่ผู้ตามเสด็จนั้น พอกลับขึ้นไปบนรถ ก็ต้องผลัดกันหลับไปในรถเพราะความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางไกล

    หลาย ปีมาแล้ว ตามเสด็จไปบ้านแม่สา ในอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านแม่สานั้น เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็รู้จักเพราะได้กลายเป็น “แม่สาแวลเล่ย์” มีถนนชั้นหนึ่ง เชื่อมกับโลกภายนอก และมีอาคารบ้านเรือน ตลอดจนรีสอร์ท หรือที่พักตากอากาศอันทันสมัยโผล่ขึ้นมามากมาย แต่แม่สาในสมัยที่พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯตามเสด็จไปเมื่อ 20 ปี ก่อนโน้น เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าม้งที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา เวลาเสด็จๆ โดย เฮลิคอปเตอร์ ไปลงตรงที่เขาเตรียมไว้ แล้วทรงพระราชดำเนินเดินเท้าไปยังหมู่บ้าน ซึ่งอยู่ไหล่เขาลูกถัดไปอีก

    เมื่อ ก่อนนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดการบริหารพระวรกายด้วยการวิ่ง ถ้าเป็นที่ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ก็ทรงวิ่งใน ศาลาดุสิดาลัย ครั้งหนึ่ง ๆ เป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร เมื่อยังปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจประจำราชสำนักอยู่นั้น พลตำรวจวสิษฐ์ เดชกุญชร เคยตามเสด็จฯ เป็นประจำ เวลาวิ่งสังเกตเห็นทุกครั้งที่ตามเสด็จฯ ว่าพระองค์ทรงก้าวยาวและพระองค์ปล่อยพระอัสสาสะและพระปัสสาสะ (หายใจเข้า–ออก) สม่ำเสมอ ในขณะที่พล.ต.อ.วสิษฐ์ฯตามเสด็จฯ ต้องซอยเท้าถี่ยิบ เพื่อให้ทันและหอบกันอย่างไม่อับอาย

    พระราชสมาธิ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ท่านเชื่อว่าเป็นเหตุให้ประกอบพระราชกรณียกิจทุกครั้งสำเร็จลุล่วงไปด้วย ความเรียบร้อยสมพระราชประสงค์ และสมความต้องการของทุกฝ่าย แต่ที่ท่านเห็นว่าสำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ เวลามีอุปสรรคขัดข้องในพระราชกรณียกิจไม่ว่าครั้งใด ๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่ทรงหวั่นไหวหรือสะดุ้งสะเทือน ทรงดำรงพระสติมั่น และพระราชทานคำแนะนำให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมีกำลังใจและสามารถปัดเป่า อุปสรรคข้อขัดข้องเหล่านั้นได้ดีที่สุด หรือถ้าหากเหลือวิสัยที่จะแก้ไขได้ ก็ไม่ทรงกริ้ว หรือทรงแสดงความไม่พอพระราชหฤทัย แต่กลับทรงแสดงให้ผู้อื่นเห็น และเข้าใจว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจเกิดขึ้นได้ ทำให้ทุกคนโล่งใจ และมีกำลังใจที่จะอุทิศกำลังกายและกำลังใจถวายต่อไปอีก

    การฝึกสมาธิ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้ทรงปฏิบัติแต่พระองค์เดียว หากยังทรงพระกรุณาพระราชทานคำแนะนำให้ผู้อื่นอย่างถ้วนหน้า ข้าราชสำนัก(รวมทั้งตัวพลตำรวจวสิษฐ์ เดชกุญชรด้วย) ได้รับพระราชทานทั้งหนังสือและเทปคำสอนของครูอาจารย์ที่ทรงเองแล้ว และทรงเห็นว่าแยบคายหรือาจมีประโยชน์อยู่เสมอ เมื่อทรงมีโอกาสก็ทรงพระกรุณาพระราชทานดำริเกี่ยวกับสมาธิให้ข้าราชบริพาร ฟังเป็นครั้งคราว ทำให้ข้าราชบริพาร นายทหารและนายตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ได้เริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เข้าไปรับ หน้าที่นายตำรวจประจำราชสำนัก และยังฝึกติดต่อกันเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ ผลของพระมหากรุณาธิคุณเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้พระราชฐานที่ประทับ กลายเป็นสำนักวิปัสสนากลาย ๆ การแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับ สมาธิ หรือ กรรมฐาน เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาของข้าราชบริพารผู้ใฝ่ธรรม

    เวลาเสด็จ พระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับต่างจังหวัด งานอดิเรกอย่างหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ผู้ตามเสด็จฯ ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารชอบทำก็คือ เร่ร่อนไปตาม วัด หรือ สำนักสงฆ์ ต่าง ๆ เพื่อแสวงหาความรู้เกี่ยวกับสมาธิจาก พระภิกษุสงฆ์ ในฝ่าย วิปัสสนาธุระ เมื่อการฝึกสมาธิได้กระทำโดยสม่ำเสมอเช่นนั้น ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติก็คือ “มีสติมั่นคง” สามารถนำเอาสมาธิไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันและการงาน สามารถเผชิญกับอุปสรรคปัญหาข้อขัดข้อง ได้อย่างสุขุมเยือกเย็น ไม่ตีโพยตีพายหรือเสียสติ

    “พระราชสมาธิในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ” จึงไม่เพียงแต่จะทำให้พระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติลุล่วงไปอย่างเรียบร้อย เท่านั้น แต่อานิสงส์ ทำให้มีผู้ตามเสด็จฯ และทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคนเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือธุรกิจอื่นใดสำเร็จลุล่วงไปอย่างเรียบร้อยเช่น เดียวกันด้วย ขนาดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้เหนือหัวสูงสุดของพวกเราชาวไทย พระองค์ยังทรงสนใจในการปฏิบัติธรรม การฝึกอบรมพัฒนาจิตใจด้วยการ ปฏิบัติธรรม จึงนับเป็นสิ่งที่ประเสริฐ ไม่ควรเพิกเฉยละเลย ธนาคารฯให้โอกาสแก่พนักงาน และบุคคลในครอบครัวอย่างเต็มที่เช่นนี้แล้ว หากเราไม่รับโอกาสที่ดีในชีวิตโดยเร็ว หากหมดโอกาส เพราะหากเราหายใจเข้า แล้วไม่หายใจออก เราก็จะไปไม่กลับ หลับไม่ตื่นฟื้นไม่มี และสูญสิ้นโอกาสที่ดีในชาตินี้อย่างน่าเสียดาย
    ที่ท่านประทับใจในองค์พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ทรงประพฤติปฏิบัติทั้งทางโลก ทางธรรมอย่างสม่ำเสมอ ฆราวาสผู้มีชีวิตครองเรือนมักจะพูดว่าไม่ค่อยมีเวลาประพฤติปฏิบัติธรรมเมื่อ พระแนะให้นั่งสมาธิ สวดมนต์ ก็มักจะบอกว่าไม่มีเวลา ติดภารกิจการงาน แต่เมื่อท่านได้เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงมีงานที่จะต้องทำ มีโครงการที่จะต้องติดตามผลงาน พระองค์ท่านทรงแบ่งงาน แบ่งโครงการ และแบ่งเวลาบางส่วน ปฏิบัติในทางศาสนาโดยทรงแบ่งเวลาปฏิบัติธรรมหลังจากที่เสด็จพระราชดำเนิน กลับจากทรงเยี่ยมเยียนและดูงานที่กำหนดไว้เสร็จสิ้นในวันหนึ่ง ๆ แล้ว
    ก่อน ที่จะทรงงานทุกครั้ง พระองค์จะเสด็จเข้าห้องสวดมนต์ไหว้พระ แล้วทำสมาธิจิตใจให้สงบระยะหนึ่ง แล้วจึงทรงงาน พระองค์เคยมีพระราชดำรัสว่า การที่พระองค์ทรงทำเช่นนั้นรู้สึกว่างานได้ผลดีเมื่อมีสมาธิในการทำงาน งานที่ทำก็ทำได้อย่างมีระเบียบเรียบร้อย ได้คุณภาพดี จิตใจก็ปลอดโปร่งแจ่มใส

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติ พระองค์เช่นนี้ตลอดมา เมื่อพระเจนยุทธนาได้เห็นยังคิดว่า คนธรรมดาทำได้ไม่เกิน ๓-๔ วันก็ต้องเลิกแน่ แต่ที่พระองค์ท่านทรงปฏิบัติธรรมประกอบด้วย พระราชจริยาวัตรที่พิเศษอีกประการหนึ่งซึ่งคนทั่วไปทำได้ยาก คือ ในคืนวันอุโบสถนั้น พระองค์จะทรงรักษาอุโบสถศีลอย่างเคร่งครัด

    ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “ นบองค์ภูบดี ภูมิพล “ ว่า ในด้านพุทธศาสนาเห็นได้ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคาราวะนอบน้อม แด่พระสงฆ์ ทรงไต่ถามข้ออรรถข้อความ พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่าง ๆ มักตั้งอยู่บนฐานของธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเสด็จแปรพระราชฐานไปยังต่างจังหวัด มักเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมพระอาจารย์วัดป่ารูปต่าง ๆ เสมอ แสดงให้เห็นว่าทรงสนพระราชหฤทัยในธรรมะชั้นสูงขั้นปฏิบัติกรรมฐาน หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ องคมนตรี ( ภายหลังเมื่อถึงชีพตักษัย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริจักรพันธุ์ ) เคยประทานสัมภาษณ์ไว้ว่า ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริโครงการหนึ่งที่ดีมาก แต่ไม่ได้ออกข่าวหรือโฆษณาใด ๆ จึงไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าที่ควร โครงการที่ว่านี้คือ การส่งเสริมสุขภาพจิต มีขึ้นตามหมู่บ้านป่าไม้หลาย ๆ แห่งที่เด่นที่สุดก็ที่หมู่บ้านป่าไม้แม่ตะไคร้ จังหวัดเชียงใหม่

    พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังหมู่บ้าน ทรงทำความรู้จักคุ้นเคยกับชาวบ้าน ด้วยการพระราชทานสิ่งของ แล้วทรงบอกให้ชาวบ้านสวดมนต์และประพฤติตนเป็นคนดี ในที่สุดประชาชนทั้งหมด ก็หันมาประพฤติตัวดี เลิกกินเหล้าเมายา .........................

    จากส่วนหนึ่งของหนังสือ “ ในหลวงของเรา “ พระเจนยุทธนา จิรยุทโธ ( หลวงปู่ภูพาน )

    พระราชปุจฉากับพระพรหมมุนี ในขณะทรงผนวช เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคมและวันที่ ๓๐ ตุลาคม

    พระราชปุจฉาทำไมบางคนสร้างกรรมในชาติไว้มากจึงไม่ได้รับผลกรรมนั้นกลับเจริญมีความสุขอยู่ได้

    พระ พรหมมุนีถวายวิสัชนาความว่า ที่เขายังมีความเจริญและความสุขอยู่ก็เพราะกรรมชั่วที่ทำนั้นยังไม่ให้ผลถึง กระนั้นบุคคลผู้ทำกรรมชั่วย่อมจะได้รับความเดือดร้อนในใจภายหลัง ที่เรียกว่า "วิปฏิสาร" บางกรณีก็อาศัยผลของกรรมที่สร้างแต่ปางก่อน ...

    พระราชปุจฉากับหลวงพ่อเกษม เขมโก ณ วัดคะตึกเชียงมั่น อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง

    พระ ราชปุจฉาการปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็วส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมี ภารกิจมาก จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม คือซอยเวลาออกจากหนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็นสิบนาที หรือห้านาทีแต่ให้ได้ผล คือ ได้รับความสุขเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่นนั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้หรือระหว่าง ที่มาอยู่ในพิธีนี้มีช่วงที่ว่างอยู่ก็ปฏิบัติเป็นระยะไปอย่างนี้จะถูกหรือ เปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม

    หลวงพ่อเกษมขอถวายพระพร จะปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ถ้าแบ่งเวลาได้

    พระ ราชปุจฉาไม่ถึงกับแบ่งเวลาต่างหากออกมาทีเดียวก็อาศัยเวลาขณะที่ออกมาทำ งานอย่างอื่นอยู่นั้นแหละ ได้หรือไม่ คือใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิด - ดับทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา

    หลวงพ่อเกษมขอถวายพระ พร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้วการที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมา ปฏิบัติงานอย่างนี้ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่

    พระ ราชปุจฉาก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เช่นว่ามาตัดลูกนิมิตนี้ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม และเมื่อได้โอกาสได้เรียนถามพระสงฆ์ว่าการปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เป็นตอน ๆ อย่างนี้จะได้ผลไหม อุปมาเหมือนช่างทาสีผนังโบสถ์ เขาทาทางนี้ดีแล้วพัก ทาทางโน้นดีแล้วพักทำอยู่อย่างนี้ก็เสร็จได้ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย จึงอยากเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้จะมีผลสำเร็จไหม

    หลวงพ่อเกษมปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ โดยอาศัยหลัก ๓ อย่าง คือมีศีลบริสุทธิ์ ทำบุญในชาติปางก่อนไว้มาก มีบาปน้อย ขอถวายพระพร
    วัน ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2533 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีทรงบรรจุอัฐิธาตุพระราชทาน และเปิดเจดีย์พิพิธภัณฑ์ ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ ณ วัดเจติยาคิรีวิหาร ( ภูทอก )

    พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตักพระธาตุของพระอาจารย์จวนลงบรรจุในเจดีย์ และได้ทรงกล่าวว่า พระอาจารย์จวนท่านเป็นพระอรหันต์แห่งยุคนี้ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระองค์ทรงก้มลงกราบพระอัฐิพระอาจารย์จวนแช่นานเกือบ 5 นาที
    ธรรมะปฎิสันถาร
    เมื่อ วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเจ้าฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมหลวงปู่(หลวงปู่ดุลย์ อตุโล)เป็นการส่วนตัวพระองค์ เมื่อทั้งสองพระองค์ ทรงถามถึงสุขภาพอนามัยและการอยู่สำราญแห่งอิริยาบถของหลวงปู่ ตลอดถึงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัว ทรงมีพระราชปุจฉาว่า “ หลวงปู่ การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน” ฯ
    หลวงปู่ถวายวิสัชนาว่า

    “กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน”

    หลวงปู่ไม่ฝืนสังขาร
    ทุก ครั้งที่ล้นเกล้าฯทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมหลวงปู่ หลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมแล้ว เมื่อจะเสด็จกลับทรงมีพระดำรัสคำสุดท้ายว่า “ขออาราธนา หลวงปู่ให้ดำรงขันธ์อยู่เกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่รับได้ไหม”ฯ
    ทั้งๆที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า

    “อาตมาภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารเขาจะเป็นไปของเขาเอง” หลวงพ่อ(หมายถึง หลวงปู่ชา)มีความรักและเคารพต่อข้อวัตรปฏิบัติของท่านมาก จนกระทั่งเคยบอกศิษย์ว่า
    [​IMG]
    "...ถ้าจะให้ผมละเมิดพระวินัย ผมยอมตายก่อน ไม่เสียดายชีวิตเท่าเสียดายพระวินัย..."

    ครั้ง หนึ่งหลวงพ่อ(หมายถึง หลวงปู่ชา)ได้รับนิมนต์ไปฉันจังหันในพระบรมมหาราชวัง ขณะลงจากรถ ได้พบกับเจ้าคุณรูปหนึ่งพอดี ท่านเจ้าคุณรูปนั้นมองเห็นว่าหลวงปู่สะพายบาตรอยู่ ก็ถามอย่างเยาะหยันว่า...
    "คุณชา ไม่อายในหลวงหรือ สะพายบาตรเข้าวัง"

    หลวงปู่ตอบว่า"....ท่านเจ้าคุณไม่ละอายพระพุทธองค์หรือครับ ไม่สะพายบาตรเข้าวัง

    พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว
    โดย พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร


    ด้วย พระเมตตาแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อพสกนิกรชาวไทย พระองค์ประดุจพระผู้สร้างแผ่นดิน ทรงเป็นดั่งผู้มอบชีวิต มอบความรุ่งเรือง มอบความเจริญงอกงามภายในหัวใจคนไทยทั้งชาติ ทรงเป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นแรงบันดาลใจจุดประกายพลังแผ่นดิน

    หากเราได้มีโอกาสศึกษาพระบรม ราโชวาท แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เราจะเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดด้วยคำสอนที่พระองค์ทรงพระราชทานให้แต่ละข้อแต่ ละอย่างนั้น ล้วนเกิดขึ้นจากการที่พระองค์ทรงไตร่ตรองพิเคราะห์ถึงปัญหานั้นอย่างถ่องแท้ แล้วว่า จะเป็นหนทางแห่งการแก้ปัญหาการดับทุกข์ได้ด้วยสมาธิ

    ธรรมดา สภาวะจิตอันเป็นสมาธินั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นจากการบังคับควบคุม เกิดขึ้นจากความผ่อนคลาย หรือเกิดขึ้นจากภาวะคับขันต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตรงหน้า จะทำให้ต้องเร่งรวบรวมสติให้มั่น ไม่ว่าสมาธิจะเกิดขึ้นอย่างไร สมาธิเป็นของดี เป็นของที่เกิดขึ้นได้จากการฝึกฝน เป็นของที่มีอยู่ในกายและในจิตอันพร้อมเป็นของเข้าใจได้ เป็นของเข้าใจง่าย และใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย และความเข้าใจอันแจ่มชัดที่แสดงให้เห็นว่า สมาธิเองก็มิใช่ของที่เกิดขึ้นโดยลำพังหรือใช้โดยลำพัง

    แต่สมาธิที่ ดีจะยังประโยชน์แก่ผู้อื่นได้มาก หากผู้ใช้สมาธิรู้จักการปฏิบัติอันถูกต้อง ถูกต้องทั้งแก่ตนแลถูกต้องทั้งแก่ผู้อื่น ดังที่ได้ศึกษาจากรอยพระจริยวัตรแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิ พลอดุลยเดช อันได้แสดงไว้ถึงเรื่องราวของ “พระสมาธิ”
    ผู้ที่เคยเฝ้าทูล ละอองธุลีพระบาท ในงานหรือพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องประทับอยู่เป็นเวลานานๆ เช่น ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร คงจะได้เห็นด้วยความพิศวงกันทุกคนว่า พระเจ้าอยู่หัวนั้นเมื่อทรงนั่งลงแล้ว จะประทับอยู่ในพระอิริยาบถนั้นตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนกระทั่งจบ ไม่ทรงเปลี่ยนพระอิริยาบถเลย นอกจากนั้น ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอย่างกระฉับกระเฉงต่อเนื่อง ไม่มีพระอาการที่แสดงว่าทรงเหนื่อย หรือทรงเบื่อเลย ผมเคยเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแห่ง หนึ่งในกรุงเทพมหานคร พิธีนั้นยาวถึงประมาณ ๔ ชั่วโมง และมีบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาเฝ้าฯ รับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นจำนวนหลายพันคน ได้เห็นเหตุการณ์เช่นว่านั้น แต่ผมได้เห็นมากกว่านั้นคือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับไปถึงพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในตอนค่ำวันนั้น พระเจ้าอยู่หัวยังทรงออกพระกำลังบริหารพระวรกายด้วยการวิ่งในศาลาดุสิตาลัย อีก
    [​IMG]
    ใน การประกอบพระราชกรณียกิจอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติด้วยพระอาการที่แสดงว่าเอาพระทัยจดจ่ออยู่กับพระ ราชกรณียกิจนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ทรงเหนื่อยหรือเบื่อหน่าย เช่น ในการทรงดนตรี (ที่ใครๆ มักจะนึกว่าเป็นการหย่อนพระราชหฤทัย) เป็นต้น ผมเคยเห็นพระเจ้าอยู่หัวประทับทรงดนตรีตั้งแต่หัวค่ำจนสว่าง โดยทรงนั่งไม่ลุกเลยแม้แต่จะเพื่อเสด็จฯ ไปห้องสรง ในขณะที่นักดนตรีอื่นๆ ลงกราบแล้วถอยหลังลุกไปเข้าห้องน้ำกันเป็นครั้งคราวทุกคน ในการทรงเรือใบก็เช่นเดียวกัน ทรงจดจ่ออยู่กับการบังคับเรืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งจบ ครั้งหนึ่งเสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ ด้วยความฉงนว่า เสด็จฯ กลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น
    [​IMG]
    แสดง ว่าการทรงดนตรีก็ดี ทรงเรือใบก็ดี สำหรับพระเจ้าอยู่หัวเป็นงานอีกชนิดหนึ่ง ที่จะต้องทำด้วยความจดจ่อและต่อเนื่องไปจนกว่าจะเสร็จเหมือนกัน พระราชกรณียกิจอื่นๆ ทั้งน้อยและใหญ่ ทรงปฏิบัติแบบเดียวกัน คือด้วยการเอาพระราชหฤทัยจดจ่อไม่ทรงยอมให้ขาดจังหวะจนกว่าจะเสร็จ และไม่ทรงทิ้งขว้างแบบทำๆ หยุดๆ เพราะฉะนั้นจึงจะเห็นว่าพระราชกรณียกิจทั้งหลายนั้นสำเร็จลุล่วงไปเป็นส่วน ใหญ่

    ผมไปรู้เอาหลังจากที่เข้ารับราชการในตำแหน่งนายตำรวจราชสำนัก ประจำอยู่ได้ไม่นานว่า ที่ทรงสามารถจดจ่ออยู่กับพระราชกรณียกิจทุกชนิดได้เช่นนั้นก็เพราะพระสมาธิ


    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัตร
    ในวันที่โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระญาณสังวรฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช


    ผม ไม่ทราบว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเริ่มในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) หลังจากทรงผนวชแล้ว ประทับจำพรรษาอยู่ที่พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอยู่ในสมณเพศเป็นเวลา ๑๕ วัน ครั้งนั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ซึ่งทรงเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์ ทรงเลือก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เมื่อครั้งยังเป็นพระโสภณคณาภรณ์) ให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระเจ้าอยู่หัว เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้จะทรงมีเวลาน้อยแต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัย อย่างเคร่งครัด และคงจะได้ทรงฝึกเจริญพระกรรมฐานในโอกาสนั้นด้วย

    เมื่อ ผมเข้าไปเป็นนายตำรวจราชสำนักประจำในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ นั้น ปรากฏว่า การศึกษาและปฏิบัติสมาธิหรือกรรมฐานในราชสำนักกำลังดำเนินอยู่แล้ว พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติเป็นประจำ และข้าราชสำนัก ข้าราชบริพารหลายคน ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารก็กำลังเจริญรอยพระยุคลบาทอยู่ด้วยการฝึกสมาธิอย่าง ขะมักเขม้น

    ผมไม่ได้ตั้งใจจะหัดสมาธิ แม้จะเคยศึกษามาก่อนโดยเฉพาะจากหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แต่ระหว่างการตามเสด็จฯ โดยรถไฟ จากกรุงเทพมหานครไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ การเดินทางไกลกว่าที่ผมคาดคิด หนังสือเล่มเดียวที่เตรียมไปอ่านฆ่าเวลาบนรถไฟ ก็อ่านจบเล่มเสียตั้งแต่กลางทาง ขณะนั้นผมเห็นนายทหารราชองครักษ์ประจำที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยร่วม กันสองนาย ใช้เวลาว่างนั่งหลับตาทำสมาธิ ผมจึงลองทำดูบ้างโดยใช้อานาปานสติ (คือกำหนดรู้แต่เพียงว่ากำลังหายใจเข้าและหายใจออก) อันเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ และท่านอาจารย์พุทธทาสแนะนำ ปรากฏว่าจิตสงบเร็วกว่าที่ผมคาด แลเห็นนิมิตเป็นภาพสีสวยๆ งามๆ มากมาย และเป็นเวลาค่อนข้างนานด้วย ตั้งแต่นั้นมาผมก็ติดสมาธิและกลายเป็นอีกผู้หนึ่งที่ปฏิบัติสมาธิเป็นประจำ มาจนทุกวันนี้

    เมื่อความทราบถึงพระกรรณว่าผมเริ่มปฏิบัติสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงกรุณาพระราชทานหนังสือ และแถบบันทึกเสียงคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ลงมา และบางครั้งก็ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสแนะนำด้วยพระองค์เอง ผมจึงได้รู้ว่า พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวนั้นก้าวหน้าไปแล้วเป็นอันมาก รับสั่งเล่าเองว่าแม้จะทรงใช้อานาปานสติเป็นอุบายในการทำสมาธิ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงสามารถที่จะกำหนดพระอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า) และพระปัสสาสะ (ลมหายใจออก) ได้แต่ลำพัง ต้องทรงนับกำกับ

    วิธีนับของ พระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงทำดังนี้ หายใจเข้าครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง หายใจเข้าครั้งที่สอง นับสอง หายใจเข้าครั้งที่สาม นับสาม หายใจเข้าครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจเข้าครั้งที่ห้า นับห้า หายใจออกครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง หายใจออกครั้งที่สอง นับสอง หายใจออกครั้งที่สาม นับสาม หายใจออกครั้งที่สี่ นับสี่ หายใจออกครั้งที่ห้า นับห้า

    เมื่อถึงห้าแล้ว หากจิตยังไม่สงบ ก็นับถอยหลังจากห้าลงมาหาหนึ่ง แล้วนับจากหนึ่งขึ้นไปหาห้าใหม่ กลับไปกลับมาเช่นนั้นจนกว่าจิตจะสงบ รับสั่งว่า ที่เห็นพระองค์ประทับอยู่นิ่งๆ นั้น พระจิตทรงอยู่กับหนึ่งเข้าหนึ่งออกตลอดเวลา


    พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน
    ทรงประทับหน้าใบเสมาพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
    เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙


    พระ เจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสมาธิ ด้วยการรวบรวมและประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่านแล้ว ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานประมวลคำสอนนั้นแก่ผู้ที่ทรงทราบว่ากำลังปฏิบัติ สมาธิอยู่ ครั้งหนึ่ง ทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ให้ผม รับสั่งว่า เป็นบันทึกเสียงการแสดงธรรมเรื่องฉฉักกสูตร (คือพระสูตรว่าด้วยธรรมะ หมวด ๖ รวม ๖ ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) และทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น

    ผมรับพระราชทานแถบบันทึกเสียงม้วน นั้นมาแล้ว ก็เอาไปใส่เครื่องบันทึกเสียงและเปิดฟัง ฟังไปได้ไม่ทันหมดม้วนก็ปิด แล้วก็เก็บเอาไว้ไม่ได้ฟังอีก หลังจากนั้นไม่นานนัก ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า ฟังเทปของสมเด็จฯ แล้วหรือยัง เป็นอย่างไร ผมไม่อาจจะกราบบังคมทูลความอันเป็นเท็จได้ ต้องกราบบังคมทูลตรงๆ ว่าฟังได้ไม่ทันจบม้วนก็ได้หยุดฟังเสียงแล้ว

    ตรัส ถามต่อไปถึงเหตุผลที่ผมไม่ฟังให้จบ และผมก็จำเป็นต้องกราบบังคมทูลตรงๆ ว่า สมเด็จฯ ท่านเทศน์ฟังไม่สนุก พูดขาดเป็นวรรคๆ เป็นห้วงๆ เนื่องจากสมเด็จฯ พิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำและประโยคเทศน์ของท่านนั้น ถ้าเอามาพิมพ์ก็จะอ่านได้สบายกว่าฟัง

    พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่า ที่ฟังสมเด็จฯ เทศน์ไม่รู้เรื่องนั้นก็เพราะคิดไปก่อนหรือไม่ว่า สมเด็จฯ ท่านจะพูดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ครั้นท่านพูดช้ากว่าที่คิด หรือพูดออกมาแล้วไม่ตรงกับที่คาดหมายจึงเบื่อ เมื่อผมนิ่งไม่กราบบังคมทูลตอบ ก็ทรงแนะนำว่าให้กลับไปฟังใหม่ คราวนี้อย่าคิดไปก่อนว่าสมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร สมเด็จฯ หยุดก็ให้หยุดด้วย

    ผม กลับมาทำตามพระราชกระแสรับสั่ง เปิดเครื่องบันทึกเสียงฟังเทศน์ของสมเด็จฯ จากแถบบันทึกเสียงม้วนนั้นใหม่ตั้งแต่ต้น ฟังด้วยสมาธิ สมเด็จฯ หยุดตรงไหน ผมก็หยุดตรงนั้น และไม่คิดๆ ไปก่อนว่า สมเด็จฯ จะพูดว่าอย่างไร คราวนี้ผมฟังได้จนจบและเห็นว่าจริงดังพระราชดำรัส แถบบันทึกเสียงม้วนนั้น เป็นม้วนที่ดีที่สุดม้วนหนึ่ง


    สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ-พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ณ พระตำหนักบัญจบเบญจมา เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙


    ครั้ง หนึ่ง หลังจากที่นั่งสมาธิแล้ว ผมได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและกราบบังคมทูลประสบการณ์ที่ได้ขณะทำ สมาธิ ผมกราบบังคมทูลว่า ขณะที่นั่งสมาธิครั้งนั้น รู้สึกว่าตัวเองลอยขึ้นจากพื้นสูงประมาณศอกหนึ่ง ทีแรกก็ยังไม่รู้สึกอะไรแต่ครั้นหัวเริ่มคล้อยลงไปข้างหน้า ทำท่าเหมือนจะตีลังกา ผมก็ตกใจและต้องเลิกทำสมาธิ

    พระเจ้าอยู่หัวทรง มีพระราชวิจารณ์ว่า ถ้าหากสติยังอยู่ ยังรู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรจะเลิก แต่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนั้น

    อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทำสมาธิแล้ว ผมกราบบังคมทูลว่า พอจิตสงบผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังเลื่อนต่ำลงไปในท่อขนาดใหญ่ และที่ปลายท่อข้างล่างผมแลเห็นแสงสว่างเป็นจุดเล็กๆ แสดงว่าท่อยาวมาก กลัวจะหลุดออกจากท่อไป ผมก็เลยเลิกทำสมาธิ

    รับสั่งเช่นเดียวกันว่า หากยังรู้ตัว (มีสติ) อยู่ ก็ไม่ควรเลิก ถึงหากจะหลุดออกนอกท่อไปก็ไม่เป็นไร ตราบเท่าที่สติยังอยู่และรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตน ต่อมาภายหลังจากการศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่าน และโดยเฉพาะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนให้ “ดำรงสติให้มั่น” ในเวลาทำสมาธิ

    ในส่วนที่เกี่ยวกับพระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว เคยตรัสเล่าให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังทรงทำสมาธิอยู่ พระจิตสงบและเกิดนิมิต ในนิมิตนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นพระกร (แขนท่อนล่าง) ลอกออกทีละชั้นๆ ตั้งแต่จากพระตจะ (หนัง) ลงไปจนถึงพระอัฐิ (กระดูก)

    พระเจ้าอยู่หัวทรงประยุกต์พระสมาธิในการประกอบพระราชกรณีย กิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนักในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ได้โดยไม่ทรงสะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆ อย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จหรือความล้มเหลว อันเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับพระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น

    ใน ฐานะที่เกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศที่มีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เป็นพระ ประมุข และในฐานะที่ทุกคนมีหน้าที่ในการทำนุบำรุงเมืองไทยนี้ให้เป็นที่ร่มเย็นของ เรา และของลูกหลานของเรา จึงสมควรที่เราจะเจริญรอยประพฤติตามพระยุคลบาทด้วยการศึกษาและปฏิบัติสมาธิ กันอย่างจริงจัง และนำสมาธิมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิตเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัวของเรา


    สัจจบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    โดย พลตำรวจตรีสุชาติ เผือกสกนธ์

    [​IMG]
    “สัจ จบารมี” เป็นบารมีหนึ่งในทศบารมี ซึ่งเป็นชาดกกล่าวถึงเรื่องของการเสวยพระชาติของพระพุทธเจ้า เป็นพระโพธิสัตว์เพื่อบำเพ็ญบารมีต่างๆ รวม ๑๐ ชาติ ก่อนที่จะเสวยพระชาติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะแล้วเสด็จออกบวช จนกระทั่งทรงบรรลุพระโพธิญาณตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในที่สุด

    คำ ว่า “สัจจะ” หมายถึง “จริงใจ คือ ความซื่อสัตย์ จริงวาจา คือ พูดจริง” และ “จริงการ คือ ทำจริง” ส่วนคำว่า “บารมี” หรือ “ปารมี” มีความหมายอยู่ ๒ ประการ คือ “อย่างยิ่ง, เลิศประเสริฐที่สุด” และ “คุณธรรมที่ได้สั่งสมกันมาโดยลำดับ หรือ การสะสมคุณงามความดี ทำบุญกุศลกันโดยลำดับต่อเนื่อง”

    “สัจจบารมี” จึงหมายความว่า “บารมีที่เกิดขึ้นโดยวิธีการฝึกฝนตนเองให้เป็นผู้มีความจริงใจ มีความซื่อสัตย์ พูดจริง กระทำจริง” นอกจาก “สัจจบารมี” แล้ว ยังมีอีกบารมีหนึ่งที่จำเป็นต้องบำเพ็ญควบคู่กัน เสมือนพี่น้องฝาแฝด คือ “อธิษฐานบารมี”

    คำว่า “อธิษฐาน” หมายถึง “ความตั้งใจมั่น เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ ที่จะกระทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้บรรลุความมุ่งหมายของตน” คำนี้มักถูกนำมาใช้ควบคู่กับคำว่า “สัตย์” ซึ่งเรียกรวมกันว่า “สัตยาธิษฐาน หรือ ตั้งสัตย์อธิษฐาน”

    ในการตั้งสัตยาธิษฐานเพื่อให้ บรรลุผลตามที่ได้ตั้งจิตปรารถนาไว้นั้น จะบังเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อในคำอธิษฐานนั้น ได้มีการกล่าวอ้างอิงถึงสิ่งที่เป็นความจริง และหรือ คุณธรรมที่ตนเชื่อมั่น และได้ถือปฏิบัติอย่างจริงจัง

    พระสูตร หรือ พระปริตร เป็นบทสวดมนต์ที่พระภิกษุสงฆ์นำมาสวด หรือ เจริญพระพุทธมนต์ในพิธีมงคลต่างๆ เป็นการตั้งสัตยาธิษฐาน หรือ การกล่าวสัจจวาจาของผู้สวดเพื่ออวยพรแก่เจ้าภาพ และผู้ที่มาร่วมพิธี เช่น บทสวดที่ว่า นัตถิ เม สรณัง อัญญัง ที่พึ่งอย่างอื่นของข้าพเจ้าไม่มี พุทโธ เม สรณัง วรัง พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของข้าพเจ้า เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ ด้วยคำกล่าวสัตย์นี้ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ เป็นต้น

    อย่างไรก็ตาม ความศักดิ์สิทธิ์ของบทสวดมนต์จะปรากฏผลได้ ก็ต่อเมื่อผู้สวดได้ถือปฏิบัติตามข้อความ หรือ สัจจวาจาที่ได้แสดงไว้ในบทสวดนั้นได้จริงๆ กล่าวคือ ผู้สวดจะต้องมีความเคารพเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัยจริงๆ มิใช่กล่าวออกไปเฉยๆ พอเป็นพิธีเท่านั้น

    การกล่าวสัจจวาจานั้น ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงคุณพระรัตนตรัยเสมอไป ผู้กล่าวจะอ้างอิงความจริงในเรื่องอื่นๆ ของตนก็ได้ เช่นอ้างเรื่องการบำเพ็ญบุญกิริยาของตน คือ การรักษาศีล การบริจาคทาน การภาวนา เป็นต้น เมื่อได้กล่าวอ้างอิงถึงความจริงแล้ว ก็ให้อธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนาสิ่งที่พึงเป็นไปได้ไว้ในใจ เช่น อธิษฐานขอความคุ้มครองให้ตนพ้นจากทุกข์โศกโรคภัย มีบทสวดมนต์บทหนึ่งในบทสวด ๗ และ ๑๒ ตำนาน คือ วัฏฏปริตร ซึ่งขึ้นต้นด้วยคำว่า อัตถิ โลเก สีเลคุโณ บทสวดนี้ เป็นที่รู้จัก และนับถือกันมาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบันว่า “คาถา (นกคุ่ม) ดับไฟ”

    บท สวดมนต์ หรือ คาถาดังกล่าวนี้มีตำนานว่า ครั้งหนึ่งเมื่อพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสงฆ์สาวกเสด็จไปจำพรรษาที่ตำบลหนึ่ง ในแคว้นมคธ เช้าวันหนึ่ง ได้เสด็จออกบิณฑบาต ระหว่างทาง ได้เกิดไฟป่าลุกไหม้ และไฟได้ลามมาใกล้ที่ประทับของพระพุทธองค์ แต่ก็ได้ดับลงไปเองอย่างน่าอัศจรรย์ บรรดาพระภิกษุสงฆ์ จึงได้ขอให้พระสาริบุตรทูลถาม

    พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเล่าวัฏฏชาดก ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้เกิดมาแล้วในอดีต เมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ ที่ได้เสวยพระชาติเป็นลูกนกคุ่ม (บางทีเรียกว่า นกคุ่มไฟ) ว่า ครั้งหนึ่งได้เกิดไฟป่าไหม้มาโดยรอบรังนกที่อาศัยอยู่ในป่า และรังหนึ่งเป็นรังของนกคุ่มผัวเมีย มีลูกเล็กๆ อาศัยอยู่ด้วย เมื่อไฟป่าได้ลุกลามมาใกล้จะถึง บรรดานกทั้งหลายก็พากันบินหนี รวมทั้งนกคุ่มที่เป็นพ่อแม่ด้วย ปล่อยให้ลูกนกคุ่มที่ยังเดินไม่ได้ บินไม่ได้รอความตายอยู่ในรัง

    ลูกนกคุ่มนั้นจึงได้ตั้งสัจจกิริยา คือ การกล่าวสัจจวาจาโดยอ้างอิงถึงคุณของศีล รวมทั้งคุณธรรมอื่นที่มีอยู่ ที่ได้กระทำมาในอดีตชาติ คุณของพระพุทธเจ้า รวมทั้งความจริงที่เกี่ยวกับตัวเอง คือ มีปีกก็ยังบินไม่ได้ มีเท้าก็ยังเดินหนีไปไม่ได้ แล้วจึงอธิษฐานอยู่ในใจว่า ขอให้อำนาจแห่งความจริงต่างๆ ที่ตนได้กล่าวไว้จงดลบันดาลให้เกิดผลคือ ขอให้ไฟป่าที่กำลังลุกลามเข้ามาใกล้รอบตัวได้ดับลง


    สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช


    สมเด็จ พระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงแปลมีข้อความตอนหนึ่งในบทสวดนี้ไว้ว่า “คุณแห่งศีลมีอยู่ในโลก ความสัตย์ความสะอาดและความเอ็นดูกรุณามีอยู่ในโลก ด้วยคำสัตย์นั้น ข้าพเจ้าจะทำสัจจกิริยาอันเยี่ยม ข้าพเจ้ารำลึกถึงกำลังแห่งธรรม รำลึกถึงพระชินเจ้าทั้งหลายในปางก่อน อาศัยกำลังแห่งสัจจะ ขอทำสัจจกิริยา ปีกทั้งหลายของข้าพเจ้ามีอยู่ แต่ก็ยังบินไปไม่ได้ เท้าทั้งหลายของข้าพเจ้ามีอยู่ก็ยังเดินไม่ได้ มารดาและบิดาของข้าพเจ้าก็ออกไปแล้ว ดูก่อนไฟป่า ขอท่านจงถอยไป ครั้นเมื่อสัจจะอันข้าพเจ้าทำแล้ว เปลวไฟอันลุกโพลงมากก็สงบ ประหนึ่งเปลวไฟที่ตกถึงน้ำ สิ่งใดเสมอด้วยสัจจะของเราไม่มี นี้เป็นสัจจบารมีของเรา”

    ผู้ที่สามารถรักษาสัจจวาจาได้จนเป็นนิสัย ก็เท่ากับผู้นั้นได้มีโอกาสบำเพ็ญ สะสมสัจจบารมีของตนให้มากขึ้นโดยลำดับ และเมื่อนำมาประกอบกับอธิษฐานบารมี บารมีที่ได้สะสมไว้ทั้งสองประการย่อมมีพลังรุนแรงแสดงผลให้ได้ทันตาเห็น ดังที่ได้แสดงไว้ในบทสวดวัฏฏปริตรดังกล่าวข้างต้น

    เมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๐ ได้มีเหตุการณ์สำคัญที่น่าระทึกใจยิ่งครั้งหนึ่งคือ ภัยพิบัติที่เกิดแก่หลายจังหวัดในภาคใต้ตอนบน อันเนื่องจากพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” พัดผ่าน พายุนี้ได้เริ่มก่อตัวในทะเลจีนตอนใต้ห่างจากแหลมญวนไม่มากนัก โดยเริ่มก่อตัวจากหย่อมความกดอากาศต่ำ มาเป็นดีเปรสชันเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๐ แล้วได้ทวีความรุนแรงกลายเป็นพายุโซนร้อนเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐

    ต่อจากนั้นได้แปรสภาพเป็นพายุ ไต้ฝุ่นมีความเร็วสูงสุดรอบศูนย์กลางประมาณ ๘๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เคลื่อนที่ผ่านแหลมญวนเข้าสู่อ่าวไทย มุ่งหน้าเข้าสู่บางจังหวัดในภาคใต้ตอนบนซึ่งได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพร ลักษณะการก่อตัว ความรุนแรง และทิศทางการเคลื่อนที่ของพายุใต้ฝุ่นนี้คล้ายกับพายุใต้ฝุ่น “เกย์” ซึ่งได้เคยก่อภัยพิบัติ ให้แก่จังหวัดเหล่านี้มาแล้วอย่างมหาศาลเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๒

    ด้วย ความเป็นห่วงใยต่อพสกนิกรที่พำนักอาศัยอยู่ในท้องถิ่นที่พายุ “ลินดา” จะเคลื่อนที่ผ่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวจึงได้ทรงเฝ้าติดตามสังเกตการณ์การก่อตัว การเปลี่ยนแปลงของพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” ตั้งแต่จุดเริ่มต้นอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด

    คำพยากรณ์ ที่ได้รับรายงานจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาทั่วโลกระบุอย่างแน่ชัดว่า ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ตามเวลาท้องถื่น ๑๙.๐๐ น. พายุนี้จะมีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด ๑๐.๘ องศาเหนือ ลองจิจูด ๑๐๐.๘ องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดที่จุดศูนย์กลางรุนแรงถึง ๗๕ นอต หรือ ๑๒๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเคลื่อนที่มาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือด้วยความเร็วประมาณ ๑๑ นอต หรือ ๑๘ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตรงเข้าสู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และชุมพร โดยอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ ๒๘ กิโลเมตร และจะเคลื่อนที่ถึงฝั่งภายใน ๑ ชั่วโมงเศษเท่านั้น หากเป็นเช่นคำพยากรณ์ ทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี และ ชุมพรคงจะถูกกวาดล้างโดยพายุใต้ฝุ่น “ลินดา” จนหมดสิ้น สิ่งบอกเหตุดังกล่าวนี้ จึงได้สร้างความกังวลและความเคร่งเครียดพระทัยให้แก่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง

    แต่โดยที่มิได้คาดคิด อีกไม่กี่นาทีก่อนที่จะเคลื่อนที่มาถึงฝั่ง พายุนี้ได้กลับอ่อนกำลังลงโดยฉับพลัน มาเป็นพายุโซนร้อนมีความเร็วสูงสุดที่จุดศูนย์กลางเพียง ๕๐ นอต หรือ ๙๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น ทั้งทิศทางการเคลื่อนที่กลับเบี่ยงเบนขึ้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย และถึงฝั่งที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ เวลา ๐๒.๐๐ น. จังหวัดสุราษฎร์ธานีและชุมพรจึงได้รับภัยพิบัติจากพายุนี้ไม่รุนแรงนัก ดูจะเป็นการผิดปกติอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลันของพายุไต้ฝุ่นใน ลักษณะนี้

    เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ถ้าพายุยังเคลื่อนที่อยู่เหนือพื้นน้ำทะเลหรือมหาสมุทร พายุนั้นจะเพิ่มความแรง ความเร็วที่จุดศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น และจะลดลงเมื่อเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งแล้ว พายุโซนร้อน “ลินดา” นี้ก็เช่นกัน เมื่อเคลื่อนที่พ้นจากประเทศไทยลงสู่ทะเลอันดามัน และมหาสมุทรอินเดีย ก็ได้เพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามลำดับ แปรสภาพกลับไปเป็นพายุไต้ฝุ่น หรือ ไซโคลน อีกครั้งหนึ่งในวันเวลาต่อมา
    [​IMG]
    เหตุการณ์ ครั้งนี้ เมื่อได้พิจารณาดูแล้ว จะไม่แตกต่างกับเหตุการณ์ที่ได้มีแสดงไว้ในวัฏฏปริตร จึงน่าจะยืนยันได้ว่า การที่พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” ได้เปลี่ยนทิศทางโดยกระทันหันเป็นมหัศจรรย์ ในครั้งนั้นเป็นผลมาจากพลังสัจจบารมี และอธิษฐานบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงสะสมมาตั้งแต่ในอดีต พระชาติ และที่ได้ทรงบำเพ็ญสะสมเพิ่มเติมขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างยิ่งใหญ่มหาศาลในพระชาติปัจจุบันได้ส่งเสริมกันจนเป็นพลังที่รุนแรง สามารถมีส่วนช่วยให้ประเทศชาติพสกนิกรรอดพ้นจากภัยพิบัติธรรมชาติในครั้ง นั้นได้

    ประชาชนคนไทยนับได้ว่าเป็นผู้ที่มีโชคดีที่ได้มีพระมหา กษัตราธิราชซึ่งทรงสมบูรณ์ด้วยพระบารมี และทศพิธราชธรรม ทรงมีพระปรีชาสามารถ ทรงมีพระราชอัจฉริยภาพสูงส่ง และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่พวกเราเหลือคณานับ

    ดังนั้นในวโรกาสที่ สำคัญยิ่งที่วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระองค์ท่านที่จะเวียนมาบรรจบครบรอบอีก ครั้งหนึ่ง จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พวกเรา ชาวไทยทุกคนจะร่วมกันตั้งสัตยาธิษฐาน ด้วยการระลึกถึงคุณธรรมที่เป็นความจริงต่างๆ ซึ่งตนได้บำเพ็ญมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การรักษาศีล การบริจาคทาน การภาวนา เป็นต้น เป็นสัจจบารมี แล้วตั้งจิตอธิษฐานถวายพระพรว่า ขอให้สัจจบารมีที่ตนได้บำเพ็ญมาโดยตลอดนั้น จงบังเกิดเป็นพระราชกุศลให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานตลอดไป
    ประสบการณ์อภินิหารของหลวงปู่ขาวต่อในหลวงและพระราชินี

    เจ้า ประคุณท่านพระอาจารย์ขาว อนาลโย หรือที่เป็นที่เคารพสักการะเลื่อมใสกันในนามสั้นๆ ว่า “หลวงปู่ขาว” แห่งวัดถ้ำกลองเพล ตำบลโนนทัน อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นพระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ อรัญญวาสี สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ ท่านเป็นชาวอุบลราชธานีโดยกำเนิดเช่นเดียวกับอาจารย์ของท่าน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ.2431 อุปสมบทแล้วตั้งใจปฏิบัติฝ่ายสมถวิปัสสนาอย่างเดียว จนถึงเวลามรณภาพ เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2526 สิริชนมายุ 96 พรรษา

    ชีวประวัติของ ท่านระหว่างดำรงชนมายุ ถ้าใช้สำนวนของนักเขียนก็ต้องกล่าวว่า เป็นประวัติที่โลดโผน “มีรส” ที่สุดประวัติหนึ่งในทางโลก...ช่วงจังหวะที่ทำให้ชีวิตของท่านหักเหออกจาก เพศฆราวาสออกบวชก็เป็นชีวิตที่ “มีรส” ส่วนในทางธรรม เมื่อท่านออกบวชแล้ว การปฏิบัติธรรมของท่านก็ดำเนินไปอย่างเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว พอใจออกท่องเที่ยวธุดงค์เพลิดเพลินอยู่แต่ในป่าลึก พักปฏิบัติบำเพ็ญความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ เฉพาะตามถ้ำตามเงื้อมหิน บนเขาสูงอันสงัดเงียบอยู่ตลอดเวลา เหมือนพญาช้างสารที่พอใจละโขลงบริวารออกท่องเที่ยวไปอย่างเดียวดายในไพร พฤกษ์ ทำให้ท่านได้เห็นธรรมอย่างแท้จริง พร้อมทั้งประสบพบเห็นสิ่งอัศจรรย์ต่างๆ อย่างมากมาย สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้ชีวประวัติของท่าน เป็นชีวิตที่โลดโผน “มีรส” เหลือจะพรรณนา ชวนให้เคารพเลื่อมใสศรัทธา เป็น “เนติ” แบบอย่างให้บรรดาศิษย์ปรารถนาจะเจริญรอยตามท่านเป็นอย่างดี

    ท่านผู้ สนใจใคร่จะศึกษา อาจจะหาอ่านได้โดยละเอียดจากจากประวัติของท่าน ที่มีท่านผู้รู้ได้เขียนเอาไว้หลายสำนวน โดยเฉพาะที่ “เจ้าพระคุณท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน” เป็นผู้เขียน ทั้งในหนังสือ “ประวัติอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ” ของท่าน และในหนังสือ “ปฏิปทาของพระธุดงค์สายพระอาจารย์มั่น” หรืออีกสำนวนหนึ่งของนายแพทย์อวย เกตุสิงห์ ในหนังสือ “อนาลโยวาท”

    ข้อเขียน “อนาลโยคุโณ” ชิ้นนี้ ไม่ใช่ประวัติของท่าน เป็นเพียงบันทึกของผู้ที่เป็นประหนึ่งผงธุลีชิ้นเล็กๆ ที่มีโอกาสถูกลมพัดพาให้ได้ปลิวไปใกล้ท่านบ้างเป็นบางขณะ ได้กราบนมัสการ ได้เห็น ได้เข้าไป ได้นั่งใกล้ ได้ฟังธรรมที่ท่านเมตตาสั่งสอน ก็ใคร่ที่จะบันทึกเหตุการณ์ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้รู้สึก ได้พบเห็นด้วยตาตนเองไว้เท่านั้น อย่างน้อยก็เพื่อเป็นดังหนึ่งดอกไม้ป่าช่อเล็กๆ ที่ขอกราบวางไว้แทบเท้า เป็นเครื่องสักการบูชาพระสงฆ์พระสาวกของสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติถูกต้องแล้ว ปฏิบัติชอบแล้ว เป็นผู้ทรงคุณควรบูชา ควรกระทำอัญชุลี หากการเขียนครั้งนี้เป็นการผิดพลาด เป็นความเขลา เป็นความหลง ที่ทำให้กระทบกระเทือนเมตตาธิคุณ กรุณาธิคุณ และบริสุทธิ์คุณของหลวงปู่ขาว อนาลโย แต่ประการใด แม้เพียงภัสมธุลี ผู้เขียนก็ใคร่ขอกราบขอขมา ขอประทานอภัย ไว้ ณ ที่นี้

    ผู้เขียนเพิ่ง มีโอกาสได้กราบนมัสการหลวงปู่ เมื่อไม่นานมานี้ในช่วงเวลาเพียง 6-7 ปี หลังนี้เอง (เมื่อเขียนอนาลโยคุโณ พ.ศ.2527) แต่ยังโชคดีอยู่บ้าง ที่ได้มีโอกาสติดตามหลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่หลุย จันทสาโร ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ไปวัดถ้ำกลองเพล นับครั้งไม่ถ้วน จึงมีโชคได้เห็นท่านแสดงคารวะธรรม สนทนาธรรม แสดงธรรมสากัจฉาซึ่งกันและกันอย่างรื่นเริง ทำให้นึกถึงความในมงคลสูตรอยู่เสมอในบทหนึ่งที่ว่า

    “สมาณานญฺจ ทสฺสนํ กาเลน ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”
    ความหมายคือ การเห็นสมณะทั้งหลาย 1 การเจรจาธรรมโดยกาล 1 ข้อนี้เป็นมงคลสูงสุด

    From...http://www.zone-it.com/41121
     
  2. Mr.Kim

    Mr.Kim เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    7 กันยายน 2007
    โพสต์:
    3,036
    ค่าพลัง:
    +7,028
    ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนานเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรแก่มหาชนชาวสยาม
    สาธุ สาธุ อนุโมทามิ
    <!-- / message -->
     
  3. หนึ่ง99999

    หนึ่ง99999 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    21 สิงหาคม 2008
    โพสต์:
    3,369
    ค่าพลัง:
    +1,922
    ทรงพระเจริญ
     

แชร์หน้านี้

Loading...