หลวงปู่คําบ่อเล่าประสบการณ์สมัยที่ท่านไปเรียนกรรมฐานกับอาจารย์หลายท่าน

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ธัชกร, 6 สิงหาคม 2010.

  1. ธัชกร

    ธัชกร เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    267
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +3,040
    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="94%" align=center border=0><TBODY><TR><TD class=postbody vAlign=top>
    [​IMG]




    คัดลอกมาจาก ::



    </TD></TR><TR><TD></TD></TR></TBODY></TABLE>​

    หลวงปู่คำบ่อ ฐิตปัญโญ

    วัดใหม่บ้านตาล
    ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร


    หลวงปู่ที่ได้จำพรรษาด้วยกันในเบื้องต้นคือ หลวงปู่ลี อโสโก เท่าที่อยู่ศึกษาธรรมะของท่านนั้น จะมีความอดทน มีความพากเพียรพยายามน่าเคารพเลื่อมใส พอใจในการประพฤติปฏิบัติของท่าน ท่านองค์นี้ไม่สอน เป็นคนนำไม่ใช่คนแนะ เป็นผู้ทำให้ดู เราเห็นว่าหลวงปู่ลีเป็นยอดความอดทนจริงๆ สมัยนั้นมีเหลือบเยอะมาก เหลือบเกาะขากระทืบเท้าทีหลุดเป็นกอง มันมากัดเท้าท่านเลือดไหลออกมาตามขา เราให้เณรไปช่วยไล่ออก ท่านก็ไม่สนใจ งูกัดก็ไม่ได้บอกใคร ไปถามจึงได้บอกว่างูกัด จะเจ็บปวดขนาดไหนก็ไม่บอกใคร ก็เห็นได้ว่าท่านอดทนจริงๆ นี่คือเรื่องที่มองเห็นความอดทนชัดๆ

    แต่การแนะว่ากล่าวนั้น ท่านไม่พูดมาก ท่านได้นำโดยการประพฤติปฏิบัติเยอะ เช่น เดินจงกรม บิณฑบาต กวาดวัด ไม่มีขาด แม้อายุจะมากแก่แล้ว พรรษามากแล้ว เป็นผู้นำรักษาข้อวัตรปฏิบัติที่ควรเอาเป็นตัวอย่างได้ เราได้จำพรรษาที่นี่หนึ่งพรรษา ปีแรกๆ ซึ่งไม่รู้เลยว่า การเดินจงกรมนั้นเพื่ออะไร เห็นท่านเดินก็เดิน พระท่านอื่นเดินก็เดิน แต่เดินเพื่ออะไรน้อ

    จนวันหนึ่งจำได้ไม่ลืมเพราะตั้งใจไว้ว่า ท่านขึ้นกุฏิเมื่อไหร่จึงจะขึ้น เห็นท่านอายุมากแล้วคงเดินได้ไม่นาน ปรากฏว่า...เกือบตาย ท่านเดินตั้งแต่หกโมงเย็นถึงเที่ยงคืน เราเดินเกือบตายท่านยังเดินได้อยู่ ท่านอดทนมีความเพียรทำไม่ขาดเหมือนกัน แต่เราก็ทำแบบไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่รู้ว่าทำเพื่อให้จิตใจมันสงบ ระงับไม่ให้ฟุ้งซ่านรำคาญ คิดแต่ว่าคงทำดีล่ะเอาบุญ ! ท่านบอกเออ ! ให้เดินจงกรมนะ เราก็เดินไปมาเท่านั้นเอง เราเดินก้าวเอาก้าวเอาเหนื่อยแล้วเหนื่อยอีก ยืนบ้าง เดินบ้าง ท่านมีนั่งบ้างแต่ไม่ยอมขึ้นกุฏิ เราไม่ได้นั่งก็เดินบ้างยืนบ้างอย่างนั้น กิเลสมันเลยวนเวียน เมื่อไรจะเลิกๆ กิเลสมันไล่ เลยมีทุกข์อยากให้ท่านเลิก พอท่านขึ้นได้ เราก็ขึ้นเท่านั้น ท่านมีแต่ทำอย่างเดียว พูดน้อยมาก


    [​IMG]
    หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ


    หลวงปู่พรหม จิรปุญฺโญ สำหรับหลวงปู่พรหมนี้ท่านทั้งแนะทั้งนำ แต่ธรรมที่ท่านแนะนี่เท่าที่ไปมาหาสู่กับท่าน ท่านจะพูดธรรม แต่ธรรมของท่านจะสั้นๆ ถึงเทศกาลบรรดาภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนถึงศรัทธาญาติโยมโดยเฉพาะภิกษุแล้วนี่ ท่านจะเตือนให้ “เออ ! ลูกหลานเอ้ยให้พากันพิจารณาปฏิสังขาโยนะ” แค่นี้ก็จบแล้ว นี่คือการแนะของท่านให้รักษาธรรมวินัย คนเราแล้วนี่จริงๆ ถูกของท่านทุกอย่าง จะมีปัญหาก็เรื่องนุ่งห่ม จีวร อาหารการกิน บิณฑบาต เสนาสนะที่อยู่อาศัย และยารักษาโรคภัยไข้เจ็บ นี่คือปฏิสังขาโย

    คนทะเลาะวิวาทปางตายทุกวันนี้ก็เพราะปัจจัยเหล่านี้ ถ้าไม่พิจารณาแล้วนี่ ปัญหาก็จะเกิดขึ้น รบราฆ่าฟันกันไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ท่านจะแนะนำธรรมเช่นนี้ พูดสั้นๆ ตลอด บางครั้งก็บอกว่า “ให้พากันทำความดีนะ” สั้นๆ แค่นี้จบแล้ว ท่านแนะเช่นนี้ไม่พูดมากนักหนา ไม่อธิบายเรื่องนั้นเรื่องนี้ กิเลส ราคะ เป็นงั้นงี้นะ ไม่ว่าอะไร ถ้าเห็นโทษเห็นภัยของปฏิสังขาโยนี้แล้ว ก็จะเห็นไปหมดทุกอย่างนะ นี่เป็นการคำแนะของท่านสั้นๆ นี้เป็นส่วนมาก ใครมาก็เหมือนกัน

    ส่วนการนำนี่ การทำจิตที่มันเป็นกุศลนี่ ท่านจะไม่ปล่อยให้เป็นอากูล ทำอะไรจะรีบทำให้มันเสร็จๆ ไปเลย ช้าไม่ได้ สวยไม่สวยไม่เกี่ยวกันขอให้ทำก็แล้วกัน เดินจงกรมท่านก็ไม่ขาดเป็นข้อวัตรปฏิบัติ ถ้าสุขภาพปกติ บิณฑบาตก็ไม่ขาด การทำอะไรท่านจะไม่อยู่ว่างๆ ทำอะไรไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เช่น ก่อสร้างปฏิสังขรณ์ ท่านทำมากที่สุดล่ะ หลวงปู่ท่านทำสะพานข้ามแม่น้ำสงคราม ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถทำได้สมัยนั้น แต่ท่านนำญาติโยมทำได้

    เรื่องการกระทำการปฏิบัติความเพียรนี่ มีดเล็กๆ แค่มือท่านตัดขอนยางออกจากทางเดินได้นะ ท่านเล่าว่าเอาปลวกเป็นตัวอย่าง มันเอาดินขึ้นมาทีละนิด ฟันไม้นี่มีสะเก็ดตกออกมามากกว่าดินปลวกตั้งเยอะ จึงฟันไปเรื่อยๆ จนขอนไม้ที่ขวางทางคนเดินผ่านไปมาก็ลำบาก ท่านว่าวันหนึ่งมันจะขาด วันหนึ่งมันจะขาดก็ตั้งใจไว้อย่างนั้น เหมือนเราทำความดีนะแหละ ตั้งใจจะพ้นทุกข์เมื่อเห็นโทษเห็นภัยมันก็เป็นไปเอง ไม่ต้องไปพูดถึงนิพพานมันละ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ นี่ก็เหมือนกันจะขาดเมื่อไหร่ไม่เกี่ยว ฉันจะทำของฉันไปเรื่อยๆ กิเลสก็เหมือนขอนไม้ขวางทาง ฟันไปเรื่อยๆ หาวิธีอุบายคิดค้น มันก็จะมีทางพ้นทุกข์ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ทำไปเรื่อยๆ คนอยู่เฉยๆ จะให้มันมี มันรู้ มันเห็นได้ เป็นไปไม่ได้นะ

    นี้คือให้เห็นความเพียรของท่านนะ ท่านทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เรื่องทำที่ยอดที่สุดการก่อสร้างนี่ต้องยกให้ท่าน ท่านเป็นคนมีอำนาจอยู่ในตัว ให้คนแกรงกลัวเพราะความดีของท่าน สมัยหลวงปู่พรหมอยู่โหล่งขอด ท่านเดินจงกรมมีศรัทธาแรงกล้าจงกระทั้งไปขอโอกาสจากหลวงปู่มั่นว่าจะไม่นอน 3 เดือน ท่านหลวงปู่มั่นก็เตือนว่าท่านพรหมอย่าทำเลยร่างกายสังขารต้องการพักผ่อนและมันจะทำให้หมูคณะเดือดร้อน

    หลวงปู่พรหมทำอะไรก็ทำสุดๆ หาคนทำแบบท่านไม่ได้ เป็นผู้ที่เป็นตัวอย่างทำให้มีสติปัญญา การทำของท่านเป็นตัวอย่างของลูกหลาน แม้ท่านไม่ได้อะไร คนอื่นก็ได้ประโยชน์ เมื่อท่านมาอยู่ที่นี่ท่านก็บอกเราว่า “ถ้าอยากได้วัดดีๆ สวยงามก็ให้มาทำที่ป่าช้านี่สิ” ปี พ.ศ. 2510 ยายที่เคยอุปัฏฐากเราที่ป่าเมี่ยง ติดตามเรามา เลยได้พาไปกราบพระที่เคารพ เช่น หลวงปู่พรหม หลวงปู่ขาว ซึ่งท่านได้กลับมาจากเชียงใหม่แล้ว

    และได้ทราบจากหลวงปู่ลี ว่าหลวงปู่พรหมได้ทำความเพียรจนช่วนหนึ่งเข้าใจว่านิพพานอยู่บนฟ้านั่น ท่านก็พยายามเหาะหรือกระโดด กระโดดขึ้น จนครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ โยม สงสารในการกระโดดจะไปนิพพานของท่าน ทั้งเหน็ดเหนื่อยอะไรของท่าน แต่ท่านก็ไม่รู้เหนื่อยของท่าน มีหลวงปู่ลี อโสโก ที่อยู่ด้วยกันไปด้วยกันคอยจับท่านไม่ให้กระโดด มือกระแทกกับพื้นเวลาท่านตกลงมา ข้อมือได้หักไปหลวงปู่ลีได้เล่าให้ฟัง

    จนกระทั้งได้ไปตามหลวงปู่สาร ที่หลวงปู่พรหมนับถือเป็นครูบาอาจารย์ โดยท่านได้ไปจำพรรษาที่ภูเก้า จังหวัดอุดรธานี จึงไปตามท่านหลวงปู่สารกลับมา เพื่อแก้ปัญหาความเห็นของหลวงปู่พรหม พอมาเห็น ท่านจึงให้คำตักเตือน ท่านเรียกหลวงปู่พรหมว่า

    “ท่านพรหม สิ่งที่ท่านรู้ท่านเห็นนั้นนะ มันจริงหรือไม่จริง มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง อันนี้มันเป็นสัญญา ยังไม่เกิดปัญญา ที่ว่านิพพานอยู่โน่นอยู่นี่ สิ่งที่ท่านรู้เห็นนั้นบางทีมันก็เกิดขึ้น บางทีมันก็ดับไป มันไม่เป็นไปตามใจชอบใจหวัง ดังที่ท่านตั้งใจไว้มิใช่หรือ”

    ท่านฟังได้นะหลวงปู่ยอมฟัง ไม่กระโดดแล้วด้วยความเคารพครูบาอาจารย์ของท่าน ท่านฟัง... “อันนั้นมันเป็นสัญญา มันยังไม่เกิดปัญญา มันยังไม่รู้ไตรลักษณ์ คำว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเป็นยังไง”

    พอท่านฟังไปๆ ก็สงบไป ยอมรับธรรมของผู้ว่ากล่าวตักเตือน หาย...เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นอยู่ตั้งหลายวัน อาการนี้ที่ลูกศิษย์ญาติโยมเป็นทุกข์กัน นี้คือสัญญาอารมณ์ที่ปรุงแต่งขึ้นมา สำคัญว่าอย่างนั้น อย่างนี้ มันเป็นไปตามความปรุงแต่งขึ้น มันมีแล้วก็เกิดดับไปตามหน้าที่ เหตุนี้ท่านจึงกลับเข้าสู่ตนเองพิจารณาใหม่ ใจของท่านจึงปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท่านจึงเกิดความเข้าใจ อาการนั้นจึงหายไปตั้งแต่วันนั้น

    ที่ท่านกล่าวไว้ว่าให้หาครูบาอาจารย์ที่ถูกจริตนิสัยที่เราพอจะเชื่อฟังท่านได้ จึงขอนิสัยจากท่านผู้นั้น ที่นี้เราปัจจุบันเอาตามประเพณี แต่เราไม่ลงนะรับไม่ได้ ครูอาจารย์บางรูป ข้อวัตร การกระทำ การพูด ความคิด มีความบกพร่อง แต่นี่ท่านไม่บกพร่องยอมรับกันได้ทุกอย่าง เลยเป็นครูบาอาจารย์ที่ให้นิสัยได้ ว่ากล่าวตักเตือนได้ไม่ถือโทษโกรธซึ่งกันและกัน ครูบาอาจารย์ที่ยอมรับกันได้จึงทำให้พ้นจากนิสัยมุตตกะ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตนรับฟังครูบาอาจารย์ ได้ก็เป็นยังงั้น โรคทางกายก็หายได้ โรคทางใจก็หายได้ ความเห็นผิดก็เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้ไม่สบายกายและใจได้ ในวงการพระผู้ประพฤติปฏิบัติยอมรับหลวงปู่พรหมองค์นี้ว่า เป็นผู้พูดจริง ทำจริง เป็นพระที่ครูบาอาจารย์ยอมรับท่านได้องค์หนึ่งในบรรดาลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต​




    [​IMG]
    หลวงปู่สิม พุทธาจาโร


    หลวงปู่สิม พุทธาจาโร ไปอยู่กับหลวงปู่สิม ท่านมีทั้งแนะนำ ท่านจะเมตตาอบรมสั่งสอนประชุมชนเก่ง ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ให้ประพฤติปฏิบัติทำความเพียร ตัวของท่านเองก็ทำให้เป็นตัวอย่างของผู้อื่นได้ หลวงปู่สิม ท่านเย็น มีความเมตตาสูง ถึงใครจะทำผิดถูกยังไงท่านก็ไม่ดุด่าว่ากล่าว อย่างมากก็นำมาหน้าพระพุทธรูปให้สาบานตนว่า “แต่นี้เป็นต้นไป ถ้าข้าพเจ้าผู้เป็นสมณะ ยังทะเลาะกันอยู่ ให้ตกนรกอเวจี” ให้ปฏิญาณตนต่อหน้าพระประธานในโบสถ์ นี่คือการลงโทษของท่าน ท่านน่าศรัทธาน่าเลื่อมใส ​

    เราเคยอยู่กับท่านในฤดูแล้งได้ปฏิบัติท่าน คำสอนของท่านคือให้พิจารณากระดูก 300 ท่อน “มันจะไปมีอะไร ไปห่วงอะไร กระดูก 300 ท่อน“ ท่านเทศน์อยู่บ่อยๆ เดี่ยวมันก็จะแก่ จะเจ็บ จะตาย ไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้า ท่านจะเตือนเรื่องความตายทุกลมหายใจเข้าออก ท่านพูดย้ำในเนี้ยบ่อยๆ กระดูก 300 ท่อน เทศน์ที่ใหน ไปที่ใหน ก็จะเทศน์เรื่องของร่างกายจิตใจว่ามันไม่เที่ยงแท้ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ให้รีบสร้างความดี ทำความดี อย่าไปกลัวว่ามันจะเป็นงั้นเป็นงี้ กลัวมันก็เป็น กลัวแก่ก็แก่อยู่ กลัวเจ็บก็เจ็บอยู่ กลัวตายก็ตายอยู่ ​

    ท่านจะยกกระดูก 300 ท่อน มาพูดอยู่เป็นประจำ การเตือนใจในการปฏิบัติของหลวงปู่นี้ ท่านให้เพียรดูการกระทำว่ามันเป็นธรรมเป็นวินัยหรือไม่ เบียดเบียนตนหรือเบียดเบียนผู้อื่นหรือไม่ ท่านจะเตือนตลอดและท่านก็ทำอย่างนี้เหมือนกัน จึงเป็นครูบาอาจารย์ที่ควรแก่การเคารพนับถือบูชาอีกองค์หนึ่ง ​

    [​IMG]
    หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม


    หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ได้ไปฟังธรรมท่านอยู่บ่อยๆ เหมือนกัน เรื่องปฏิปทาของพระสาวกนั้นไม่เหมือนกันนะ สำหรับท่านเราเห็นความไม่กลัวใคร ถ้าเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกและดี ท่านจะปฏิบัติของท่าน มีข้อเตือนใจอยู่เหมือนนะ ในสมัยหนึ่ง พลโทพงษ์ ปุณณกัณฑ์ ไปหาท่านและถามท่าน ว่า “หลวงปู่ ญาณนี่มันเป็นยังไงหลวงปู่” ​

    ท่านเลยว่า “โอ๊ย อย่าไปเอาเลยเรื่องญาณ ญาณของพระอริยเจ้านั้นอย่าไปฟังมันเลย ฟังญาณของโยมดีกว่า ญาณยังไงก็ชานเยี่ยว (ชานบ้าน) แม่ออก (โยมผู้หญิง) นะซี” ​

    เราพิจารณาดูแล้วก็ถูกของท่านนะ ญาณของพระอริยเจ้าก็เหมือนชานเยี่ยวแม่ออกน่ะแหละ คือที่ชำระล้างขัดเกลากิเลสออกจากใจนั้นแหละ มีปัญญาแล้วจึงขัดเกลาล้างมลทินโทษได้ ท่านก็เตือนยังนั้นแหละ เราไปไหนมาเหยียบขี้หมา ขี้ตมขี้โคนก็ล้างที่ชานนั้นแหละ พอดีมีโยมผู้หญิงมาด้วย “นั้นแหละพิจารณาชานแม่ออกนั่นแหละ ถ้าเข้าใจก็เข้าใจฌานพระอริยเจ้านั่นแหละ” พลโทพงษ์ เกิดความศรัทธา เลื่อมใสอย่างแรง ว่าท่านสอนเหมือนสอนลูกสอนหลาน เลยนิมนต์ท่านไปวัดอโศการาม ​

    ท่านพูดจาตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อมนะ บางคนพูดว่าท่านพูดหยาบ ถ้าถามธรรมะท่าน ท่านก็ว่า “ก็ดูหว่างขาสิ ถ้าตรงนี้ไม่เห็น ก็ไม่เห็นหรอกพระนิพพาน แค่หว่างขาตนเองไม่เห็น จะไปถามหาพระนิพพานอะไร ลองเอาไปพิจารณาดูสิ” ​

    ท่านพูดน้อยๆ แต่กินใจนะ ถ้าคิด ความเกิด ความแก่ ความตาย ความทุกข์ มันเกิดจากตรงไหนก็ตรงนี้แหละ ถ้าไม่เห็นตรงนี้จะเห็นตรงอื่นยังไง...นี่คือหลวงปู่ตื้อ ​

    เราไปพักอยู่กับท่านบ่อยๆ เหมือนกัน ที่วัดปากทางแม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ท่านเป็นคนรูปร่างใหญ่ สูง เป็นคนโบราณ พูดออกมาก็ว่า อาตมาเป็นลูกศิษย์ท่านเจ้าคุณอุบาลี ลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เป็นคนประเภทนี้แหละ พลโทพงษ์ เกิดเลื่อมใสศรัทธาท่าน มันไม่แน่นะคนบางคนก็รับได้ในวิธีนี้ ท่านก็สอนแบบนั้นแหละ แบบหลวงปู่ตื้อ แล้วมันก็จริงของท่านด้วย ทำให้เราคิดได้ เป็นคติเตือนใจไว้พิจารณา ​

    ท่านไม่กลัวคนง่ายๆ นะ สมเด็จพระสังฆราชจวน อุฏฐายี อยู่วัดสันติธรรมนั้น มีพระติดตามสมเด็จฯ คือมหาวิชมัย อยู่วัดบวร ท่านว่า “หลวงตา หลวงตา สมเด็จท่านจะมานะ” ไม่สนใจหรอก พูดงั้นอยู่หลายครั้งหลายหนนะ ท่านก็เฉย... มาถึง สมเด็จพระสังฆราช มากราบหลวงปู่ตื้อ ซะ! พระงี้นั่งคอพับไปหมด เวลาท่านจะว่า พระท่านจะว่า “พระไม่รู้ประสา” ​

    ครูบาอาจารย์นั้นก็ใฝ่ธรรมกันทั้งสิ้น แต่ปฏิปทาและความเห็นของแต่ละท่านก็มีแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นเราจะไปเก็บเอามาซะทุกอย่างไม่ได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะคล้ายคลึงกัน​



    [​IMG]
    หลวงปู่แหวน สุจิณโณ


    หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่แหวนนี้เรื่องทางโลกท่านจะมีความใฝ่ฝันน้อยมากที่สุด จะเป็นเรื่องการอบรมสั่งสอนท่านก็จะมีน้อย เพราะว่าท่านไม่ได้ตั้งใจว่าจะไปหาสอนใคร ถ้าใครอยากรู้อยากสนใจว่า หลวงปู่ทำอย่างนั้นผิดไหม จะเท่ากับอาราธนาท่านแสดงธรรม อีกประการท่านมีแต่ความคิดว่า ทำยังไงจึงจะมีปัญญาพ้นทุกข์ได้ ท่านจะพูดถามแต่เรื่องว่า “เอ้า สำเร็จแล้วรึยัง พ้นทุกข์แล้วรึยัง” ​

    และท่านชอบพูดเรื่อง กุศลา ทำเมา อกุศลา ทำเมา มันเมานะลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ทำเมาทำแทบล้มแทบตาย จนไม่รู้จักพักผ่อนหลับนอน เขาเรียก ทำเมา ส่วนที่เป็นกุศลก็เมาถ้าขาดสติปัญญา เช่น ท่านเห็นการก่อสร้าง สร้างไม่สำเร็จเรี่ยไรบอกบุญสารพัด จนลืมธรรมวินัยไป อย่างนี้หลวงปู่ท่านว่าทำเมา ทำจนไม่รู้ว่านี่คือสมบัติของโลก ตายแล้วก็ไม่ได้อะไร ท่านจะพูดเช่นนี้เป็นประจำตลอด ส่วนอกุศลธรรม คือเรื่องบาปนี้ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตก็เมาเหมือนกัน มันไม่รู้จักบาป ประมูลโรงฆ่าสัตว์ได้ก็ว่ามีบุญ ประมูลโรงเหล้าต่ออีก ท่านให้เห็นโทษทั้งส่วนบุญก็มีโทษส่วนบาปก็มีโทษ ​

    อีกสำนวนของท่านคือพิธีรีตอง มีโยมคนหนึ่งศรัทธาแรงแต่เห็นผิดเข้า เพราะมีพระบอกว่าถ้าไม่บวชในสิบวันจะตาย จึงไปบวชกับหลวงปู่ ไปขอศีล หลวงปู่ว่า “ไม่ได้อยู่ที่อาตมา” การเป็นพระเณรไม่อยู่ที่พิธีรีตองอะไรใหญ่โตมโหฬาร ให้ทำนิดๆ หน่อยๆ เหมือนเลียใบตอง หลวงปู่แหวนท่านเคยอยู่ปฏิบัติท่านเจ้าคุณอุบาลี ที่เป็นมะเร็งกระดูก ขาท่านหักเพราะชนธรรมาสน์ ขาขึ้นทนได้ เทศน์จนจบ ขาลงลงไม่ได้ มีหมอจีนมาดึงขา ดึงเท่าไรกระดูกก็ไม่ถึงกันซะที พอปล่อยก็ขูดเนื้อ สุดท้ายท่านก็ตายก่อนขาดี ​

    หลวงปู่แหวนเป็นผู้มีความสันโดษ ยินดีตามได้ ตามควร ตามฐานะของท่านจริงๆ เป็นปฏิปทาประจำตัวของท่าน บาตรของท่าน ท่านก็มิได้บอกให้ใครล้าง กลัวบาตรดินเผาท่านแตก เราอยู่ที่นั่นมีพรรษาที่ยี่สิบ ได้ล้างบาตรให้หลวงปู่แหวนและของตนเองด้วย สมัยก่อนใช้ใบไม้ถู เดี๋ยวนี้แฟ๊บ ใบไม้มาทุบไว้ก่อนไม่ให้แข็งจะถูบาตรเสียหาย ใช้ดับกลิ่นในบาตรได้ บาตรไม่มีที่วางก็วางหลังเท้า ไม่ก็ขดใบตะไคร้เป็นวงวาง ​

    สมัยอยู่บ้านปง อ.แม่แตง ถ้าพระเกินห้ารูปแล้ว ท่านจะหนีไปหาวิเวกที่ใดที่หนึ่ง เป็นปกตินิสัยของท่าน “ทำไมหลวงปู่ถึงอยากหนีละครับ” “โอ๊ย มันยุ่ง” ท่านว่า “เดี๋ยวมันก็ติคนนั้น เดี๋ยวมันก็ชมคนนี้วุ่นวาย” ที่ วัดดอยแม่ปั๋งปี พ.ศ. 2505 ไม่มีพระมาก สี่ห้ารูปก็ว่ามากแล้ว ตอนเย็นๆ มีโยมทำน้ำปานะให้ฉัน บีบมะนาวใส่น้ำตาลพอกินได้ แม้แต่น้ำตาลก็หาได้ยากเต็มที ไม่มีศรัทธานาบุญเหมือนสมัยนี้ ​

    จนปี พ.ศ. 2515 อาจารย์หนู มาขอร้องให้สร้างศาลา เมื่อเสร็จจึงขอโอกาสทำเหรียญรุ่นมะพร้าวแจกญาติโยมเป็นที่ระลึก พอดีมีผู้เขียนว่าทหารอากาศขี่เครื่องบินไปเจอพระรูปหนึ่งอยู่บนอากาศ จึงมาหาดูในบริเวณที่เห็น พบหลวงปู่แหวน เขาก็เข้าใจว่าเป็นหลวงปู่นั้นเอง จากนั้นจึงมีคนขึ้นมากราบไหว้บูชา ทำบุญ ให้ทานเสมอมา จนในครั้งหนึ่งท่านก็เบื่อหน่าย ทั้งคนทั้งพระ โยมไปมาหาสู่มากจึงอยากหนี ท่านจะให้เราพาหนี เลยคิดให้โยมติดต่อไปยังหลวงตาบ้านตาด อาจารย์มหาบัว หลวงปู่แหวนว่า “เออ ไปก็ไป” ​

    แต่หลวงตาบ้านตาดท่านมีปัญญา ท่านว่า ”มาอยู่ที่นี่มันก็ห้ามคนไม่ได้ ห้ามไม่ให้คนไปมาหาสู่ไม่ได้ ที่ไหนตามป่าดงถ้าหลวงปู่อายุมากแล้วไปได้ คนเขาก็ตามไปได้หมดแหละ” ได้ให้คนมารายงานว่าท่านรับไม่ได้ จนสุดท้ายอยู่ที่เดิม ​

    การแสวงหาครูบาอาจารย์ก็เพื่อดูข้อวัตรปฏิบัติ กิริยามารยาทการกระทำของท่านว่า เราจะเอาจุดไหนของท่านมาใช้ได้บ้าง เอาทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องเฉพาะตัว ธรรมะจากครูบาอาจารย์ เราต้องดูความขยันหมั่นเพียร การตื่นดึกไม่ลดละความพากเพียร แต่ยุคก่อนไม่เหมือนยุคสมัยนี้ มันไม่มีปลิโพธกังวลมาก คือต่างคนต่างอยู่ วัดใครวัดมัน ไม่ค่อยไปมาหาสู่เท่าไร ไปก็ไปคารวะ ถึงเทศกาลเข้าพรรษาจะไปคารวะขอขมาโทษซึ่งกันและกัน ​


    [​IMG]
    หลวงปู่ขาว อนาลโย


    หลวงปู่ขาว อนาลโย ได้เจอท่านตอนท่านอายุมากแล้ว ป่วยแล้ว จึงมาปฏิบัติท่านเมื่อท่านอายุได้ 80 ปี ป่วยหนักประมาณ พ.ศ. 2510 ได้พยายามเสมอไปเยี่ยมท่าน ท่านก็ดีใจลุกขึ้นมาปราศรัยกันได้ ท่านป่วยอยู่เดือนหนึ่งก็หาย ได้มีการทำบุญฉลองอายุท่าน หลังจากนั้นอยู่มาได้จนอายุเก้าสิบกว่าจึงมรณภาพ ​

    ท่านได้เคยเล่าให้ ฟังว่าสมัยอยู่โหล่งขอด การเดินจงกรมไม่มีเหนื่อย เหมือนเดินบนอากาศ สบายเหมือนไม่มีอะไรบังคับให้เดิน เดินทั้งวันทั้งคืนก็ไม่มีเหนื่อย พอถึงกิจวัตรท่านก็เลิก มันมีปิติไม่วุ่นวายจิตสงบได้นานในการเดินจงกรม หลวงปู่ขาวท่านพูดน้อยเช่นกัน ท่านจะพูดเรื่องการปล่อย การวางอารมณ์ ความยินดี ยินร้ายนี่ ถ้าปล่อยมันได้ ก็ไม่มีภัยไม่มีเวร ไม่มีบาปไม่มีกรรม ​

    ท่านได้เล่าเรื่องของท่านสาเหตุที่ออกบวชว่า ภรรยามีชู้ ท่านอดทนไม่ได้ คิดว่า เอ้า แต่งงานไปซะ ขนาดเขาเล่าให้ฟังยังไม่เชื่อ ท่านต้อนวัวลงไปค้าที่แก่งคอย โคราช สระบุรี ลองย้อนกลับมาเปิดประตูเจอเขานอนอยู่ด้วยกันจริงๆ ว่าจะฟันทั้งสองคน แต่อดได้ ทนได้ เพราะถ้าฆ่าเขาแล้วก็ต้องติดคุก สติปัญญามันเกิดขณะนั้น จึงหักห้ามจิตใจไว้ได้ ท่านว่ามันตื่น ตื่นจากหลับจากหลงว่ามันเป็นของเรา เผลอนิดเดียวกลายเป็นของเขาแล้ว สุดท้ายจึงว่า ถ้ารักกันจริงๆ ก็ให้แต่งงานกันเลยอนุญาต หาคนเฒ่าคนแก่มาเป็นสักขีพยานเลย ยกภรรยาให้แล้วก็หนีมาบวช ​

    คืนหนึ่งมี 24 ชั่วโมง ได้ผลัดกันปฏิบัติท่านอยู่สององค์เปลี่ยนกับพระอีกสามผลัดๆ ละสี่ชั่วโมง มีพระมากแต่ได้เลือกเอาเฉพาะครูอาจารย์มาปฏิบัติท่านหมุนเวียนกัน อยู่กลางคืนบ้าง กลางวันบ้าง เราเป็นคู่กันกับอาจารย์ทองพูน สิริกาโม (ภูกระแต) หลวงปู่ขาวท่านเป็นผู้มีจิตใจเยือกเย็น พระเณรจะอยู่กับท่านมาก เพราะความเย็นของท่าน ท่านเห็นภัยของความโลภ ความโกรธของท่านนั่นแหละ ​

    [​IMG]
    หลวงปู่หลุย จันทสาโร


    หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่หลุยสิสอนเก่ง ท่านเทศน์อยู่ตลอด ท่านชอบเทศน์เรื่องให้พากันทำความพากเพียร ก็ลงเหมือนกันกับท่านอื่นคือไม่ให้ประมาท หลวงปู่จะขยันทำกลด ท่านเกิดในร่มเศวตฉัตรรึไงก็ไม่รู้ ท่านชอบทำกรดให้พระเณร แม่ออก แม่ชีทั่วไป วันหนึ่งทำได้หลายอัน ร่มกั้นพระพุทธรูปท่านก็ทำ สมัยก่อนท่านไม่อยากเข้ากรุงเทพฯ เอาเชือกมัดไปก็ไม่ยอม พอไปแล้วก็ไม่ยอมออก ท่านเก่ง หัวไว มีปฏิภาณไหวพริบไว ​

    อย่างวิธีสอนคนของท่านกับเจ้ากรมท่านหนึ่งที่กราบไม่สวยงาม ท่านว่า “ท่านเจ้ากรม ! เป็นเจ้าเป็นนายคนนี่กราบคนเป็นมั้ย...นะ...จะกราบให้ดูนะเอ้า...กราบ” ท่านกราบให้เจ้ากรมดู ให้กราบอย่างนี้ให้ได้เบญจางคประดิษฐ์ยังงี้ๆ ดันหลังเจ้ากรมกราบลง คุณหญิงหัวเราะใหญ่ การสอนของท่านทำให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใส ​

    ครั้งหนึ่งที่ประเทศอินเดียในรถไฟ ท่านเอาผ้าครองมาหนุนหัว แขกมาดึงไป ท่านนึกว่าลูกศิษย์จึงยกหัวให้ พอเช้าถามหาผ้า หาไม่เจอแล้ว อุปนิสัยวาสนาบารมีครูบาอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน เวลาท่านพักผ่อน ท่านจะคลุมโปรงทำสมาธิ 1 ชั่วโมง แล้วก็ออกมาทำโน่นทำนี่ต่อ ​

    วัตรปฏิบัติต่อครูบาอาจารย์

    03.00-05.00 น. เดินจงกรมประมาณ 1 ชั่วโมง ​

    05.00 น. จัดสถานที่ฉัน เช็ดถูศาลาการเปรียญ เตรียมบาตร ซ้อนผ้าสังฆาฏิกับจีวรให้ครูบาอาจารย์ ถวายผ้าแก่ท่าน รอท่านคลุมจึงใส่รังดุมลูกดุมสะพายบาตร เดินก่อนท่านจนถึงที่บิณฑบาต จึงถวายบาตร กลับมาจึงล้างเท้าเช็ดเท้าท่าน รื้อสังฆาฏิออกนำไปผึ่งพร้อมจีวร นั่งเฝ้าดูเมื่อแห้งจึงพับเก็บอย่างดี จัดที่ฉันจนกระทั่งล้างบาตร กรองน้ำเพื่อใช้และถวายท่าน จึงกลับกุฏิ ​

    15.00 น. กวาดตาด (ลานบริเวณวัด) ต้มน้ำร้อนให้ครูบาอาจารย์ไว้สรงตักน้ำ หิ้วใส่ตุ่มไว้เต็ม กวาดถูกุฏิครูบาอาจารย์และอื่นๆ ร่วมกับพระเณรสรงน้ำพระผู้ใหญ่ ​

    18.00 น. ฉันน้ำร้อนหรือน้ำปานะ (ถ้ามี) เดินจงกรม หรือไหว้พระสวดมนต์กรณีมีพระจำนวนมาก ​

    22.00 น. กลับที่พักทำความเพียร ​

    “เมินเฉยไม่ได้
    ใครอย่าคิดว่าเป็นเรื่องของใคร...
    เป็นกิจวัตร เรียกว่า อาจริยวัตร” ​

    [​IMG]
    หลวงปู่ชอบ ฐานสโม


    หลวงปู่ชอบ ฐานสโม สมัยนั้นท่านยังไม่เป็นอัมพาต ท่านมีการปฏิบัติ เดินจงกรมภาวนาเป็นส่วนมาก การอบรมสอนมีน้อยมาก สอนคนด้วยการกระทำความพากเพียรได้ดูปฏิปทาของท่าน ท่านพูดน้อยนี่ความผิดก็มีน้อย คนพูดมากความผิดก็มีมาก นี่ก็เป็นอีกอย่างที่ให้เราเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติ อยู่ด้วยกันที่นั้นกับอาจารย์บัวคำซึ่งท่านเป็นหลักในการปฏิบัติต่อหลวงปู่ ​

    หลังจากนั้นท่านเป็นอัมพาตครั้งแรก แล้วท่านหายเดินไปมาได้ จนระยะหนึ่งมาเป็นอีก ทีนี้ไปไม่ได้แล้ว เราอยู่ในฐานะผู้อยู่ฟังเทศน์ฟังธรรม แต่จะให้ท่านมาสอนว่าต้องทำอย่างงั้นทำอย่างงี้ท่านไม่พูดหรอก ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์จะแนะนำคล้ายๆ กันนั่นแหละ เจอครูบาอาจารย์มาเยอะแยะที่พูดน้อยที่สุด คือหลวงปู่ชอบ ถามอะไรก็ได้คำตอบเดียวเท่านั้น เช่น อร่อยไหม-เออ ! ไปตรงนั้นมั้ย-เออ ! ไปไม่ถูก-เออ ! ​

    ตอนปี พ.ศ. 2513 หลวงปู่ชอบยังเป็นปกติยังไม่เป็นอัมพาต ท่านได้มาเล่าเรื่องไปเที่ยวพม่าให้ศรัทธาญาตโยมฟังในงานเผาศพหลวงปู่พรหม ท่านมาเป็นอัมพาตหลังจากนั้นเราได้มาปฏิบัติท่านอยู่ สมัยนั้นคนรู้จักน้อย ท่านมาอยู่โรงพยาบาลนานเข้าก็มีคนรู้จักมากขึ้น อาจารย์บัวคำคุ้นเคยกับท่านดี เป็นผู้ปฏิบัติดูแลท่านเป็นประจำ ​

    หลวงปู่ชอบท่านเป็นคู่กับหลวงปู่ซามา อจุตโต ไปทำบุญโรงสีของคุณศิริชัย บูลกูล หลวงปู่ซามาพรรษาใกล้กับหลวงปู่ชอบซึ่งตอนนั้นเป็นอัมพาตแล้ว ใส่รถเข็นไปเลยแซวท่านว่า ท่านนอนเฉยๆ ได้ห้าหมื่น “เอาเศรษฐีมาค้า” หัวเราะกัน ท่านมีแต่หัว (เราะ) กับยิ้มนะ จะมีคนขอท่านว่า เอ้า หลวงปู่ชอบ ยิ้มให้ลูกหลานหน่อยเป็นประจำ ​

    [​IMG]
    หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


    หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้ฟังเทศน์ท่านเป็นครั้งคราวเท่านั้นเอง แม้จะได้พบท่านที่ภูเก็ตปี พ.ศ. 2498 (ที่ไม้ขาว) ท่านเป็นนักเทศน์ นักแสดงธรรม อบรมเก่ง และชอบตั้งกฎระเบียบให้หมู่คณะประพฤติปฏิบัติตามกฎ เพราะยุคนั้นเป็นยุคที่กำลังรบกัน รบด้วยความสงบก็ว่าได้ กับพระฝ่ายมหานิกายที่เขาไม่อยากให้ไปตั้งทางภาคใต้ ​

    สมัยก่อนคณะธรรมยุตมีน้อย เมื่อไปอยู่ทางใต้นี่ก็เลย...เขาไม่อยากให้มี เพราะถ้ามีแล้วมันเหมือนไปทุบหม้อข้าวหม้อแกงเขา ก็เลยมีปัญหาในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางภูเก็ต พังงา ในยุคสมัยนั้นจึงยากลำบากพอสมควรในการเป็นอยู่ จนกระทั่งพี่น้องตัดขาดจากกัน แม้แต่พ่อแม่ถ้าหากใครไปเลื่อมใสสนับสนุนธรรมยุต สำหรับญาติโยมน่ะนะเขาจะตัดพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลานก็มี อันนั้นเป็นยุคนั้น จึงยากลำบากในการเผยแพร่ศาสนา จึงต้องอาศัยความอดทนพากเพียรแก้ปัญหาพูดง่ายๆ ก็คือ รบกับกิเลสตัวเองน่ะแหละดีที่สุดไม่ใช่ไปรบกับใคร ต่อสู้แบบอหิงสา สู้ด้วยอรรถด้วยธรรม รบกับความคิดเห็นที่ต่างคนต่างเห็น ต่างคนต่างเข้าใจว่าเราทำดีก็มีอย่างนั้น ​

    เหตุนั้นการเผยแผ่ศาสนาทางภูเก็ต พังงา จึงลำบากมากมีการต่อต้านกันพอสมควร แต่ก็สู้อำนาจแห่งความดีไม่ได้นะ จนมีวัดอะไรเยอะแยะ เป็นเจ้าคณะจังหวัดตั้งหลายจังหวัดนะ เมื่อหลวงปู่เทสก์ไปอยู่ ก็มีวัดเกิดขึ้นทั้งภูเก็ต พังงา กระบี่ มีเจ้าคณะจังหวัดขึ้นมาที่จังหวัดภูเก็ตคือหลวงปู่เทสก์นั่นแหละเป็นองค์แรก ท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นพระนิโรธรังสีนั่นแหละ จึงเป็นเหตุให้ท่านหนีขึ้นมาที่จังหวัดหนองคาย เราได้ไปคารวะอยู่เป็นประจำเพื่อฟังโอวาทจากท่าน ​

    [​IMG]
    ท่านพ่อลี ธัมมธโร


    ท่านพ่อลี ธัมมธโร การแสวงหาโมกขธรรมจากครูบาอาจารย์นั้น ไม่ใช่ว่าเราจะไปเอาของท่านทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะไปดูศึกษาเรียนรู้ปฏิปทาของครูบาอาจารย์นี้อะไรดีที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ตนเองและบุคคลอื่นเราก็นำมาปฏิบัติ ฝึกตน หัดตน เตือนตน สอนตนอยู่อย่างนี้แหละ มันเลยยากที่ว่า ครูบาอาจารย์องค์นี้ท่านให้อรรถให้ธรรมอะไรบ้าง เพราะแต่ละองค์ก็จะอบรมสั่งสอนแบบเดียวกันทั้งนั้น คือ สอนให้คนมีปัญญา ​

    คนมีปัญญานี่ไม่ใช่คนมีปัญญานั้นจะเป็นคนเลิศประเสริฐเสมอไป ปัญญาถ้านำไปใช้ในทางที่ผิดก็เป็นคนชั่วได้เหมือนกัน ฉะนั้นการเข้าพบหาสมาคมกับครูบาอาจารย์หลายท่านหลายองค์จนแทบจะจำไม่ได้ ก็มีจุดมุ่งหมายคือว่า เราจะเอาประโยชน์คือความรู้ ความฉลาดที่จะนำมาประพฤติปฏิบัติให้เป็นอรรถเป็นธรรมโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ​

    ท่านพ่อลีโดยมากจะอบรมทั่วๆ ไป ที่ได้อยู่ปฏิบัติต่อท่านนั้น มีวันหนึ่งที่เห็นว่าท่านแปลก ตอนอยู่วัดสันติธรรม ประมาณ พ.ศ. 2503 หลังงานฉลองกึ่งพุทธศตวรรษ ท่านไม่สบายในยุคนั้นสมัยนั้นเกี่ยวกับโรคหัวใจโต ท่านไปพักรักษาตัวอยู่ที่เชียงใหม่ วัดสันติธรรม ท่านให้เรานำหลอดไฟกลมๆ มาให้ ให้ไปต่อแล้วเอามาแขวนไว้ที่ท่านนอนตะแคงนี่ ท่านจะเพ่งไฟอันนี้ ท่านเรียกว่าเพ่งกสิณของท่าน เราก็เข้าใจว่า ท่านเพ่งกสิณนั่นแหละ เพื่อจะบรรเทาเวทนาให้จิตมันวาง มันว่างจากอุปาทานในธาตุขันธ์ของท่าน ท่านอาจจะมีเวทนาในธาตุขันธ์แบบใดแบบหนึ่ง ท่านจึงสั่งให้เราหาหลอดไฟกลมๆ เล็กๆ มาให้ ท่านก็นอนภาวนาอยู่อย่างนั้น เราก็คอยหาน้ำร้อน น้ำเย็นมาคอยถวายท่าน มาไว้ท่านจะได้ใช้ ​

    สำหรับท่านพ่อลีนี่อยู่นี่ประมาณเดือนหนึ่งได้มั้ง ได้ปฏิบัติท่านอยู่นี่ จนท่านได้เข้าไปโรงพยาบาล หมอก็ไม่ให้ใครไปเยี่ยม ท่านก็สั่งไว้ว่าไม่ต้องไปเยี่ยม ก็เลยพอ ท่านไปอยู่โรงพยาบาลแล้ว จึงไม่ได้ตามไปปฏิบัติเพราะหมอเขาไม่ให้ใครวุ่นวายกับท่าน ก่อนหน้านั้นก็เจอกับท่านเป็นครั้งคราว เช่น พ.ศ. 2501 อยู่เมืองเถินบ้าง (ลำปาง) ท่านไปเยี่ยมลูกศิษย์ลูกหา จนกระทั่ง พ.ศ. 2503 นี่แน่นอนล่ะ ไปอยู่วัดสันติธรรม ท่านไปพักผ่อนอยู่ ท่านเคยฝึกอาณาปานสติที่ประเทศอินเดีย อยู่กับพวกฤาษี ฝึกสมาธิสมาบัตินั่นแหละ ท่านก็อาศัยกสิณนี่แหละ เป็น (บท) บาทของการประพฤติปฏิบัติ​




    <TABLE cellSpacing=0 cellPadding=0 width="94%" align=center border=0><TBODY><TR><TD class=postbody vAlign=top>คัดลอกมาจาก ::
    </TD></TR><TR><TD></TD></TR></TBODY></TABLE>​
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 6 สิงหาคม 2010
  2. ผู้ตามหา

    ผู้ตามหา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 กันยายน 2009
    โพสต์:
    408
    ค่าพลัง:
    +818
    สาธุ...อนุโมทามิ ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วเกิกความซาบซึ้งในใจ ถ้ามีอีกกรุณานำมาลงด้วยนะครับ
     
  3. ทิพย์ปทุโม

    ทิพย์ปทุโม เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 กุมภาพันธ์ 2010
    โพสต์:
    555
    ค่าพลัง:
    +2,472
    dannce_อ่านไม่หวาดไม่ไหว เก็บไว้อ่านยามว่างต่อ อนุโมทามิ คุณพระรักษาคุณธัชกร หาสิ่งดี ๆ มาให้ค่ะ
     
  4. วันมงคล

    วันมงคล เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 พฤษภาคม 2010
    โพสต์:
    414
    ค่าพลัง:
    +1,303
    อภิวาทวันทา อนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ.
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • IMG_0394.jpg
      IMG_0394.jpg
      ขนาดไฟล์:
      51.8 KB
      เปิดดู:
      114
  5. ธัมปฏิบัติ

    ธัมปฏิบัติ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    22 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    177
    ค่าพลัง:
    +1,019
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 9 สิงหาคม 2010
  6. arjan_anon

    arjan_anon ตามรอยพุทธ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    40
    ค่าพลัง:
    +39
    ขอยอมรับในความเพียรของท่านจรงๆ

    มันก็ดีมือนกันที่ทำให้กิเลสมันตายไปอย่างช้าๆเลยละ
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  7. CHAN99

    CHAN99 CHAN

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กรกฎาคม 2005
    โพสต์:
    102
    ค่าพลัง:
    +331
    ขออนุโมทนาบุญครับ นำเรื่องราวของพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมาให้อ่านกัน
     

แชร์หน้านี้

Loading...