เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดี ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 18 เมษายน 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,800
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,564
    ค่าพลัง:
    +26,403
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดี ๑๘ เมษายน ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,800
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,564
    ค่าพลัง:
    +26,403
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗ เมื่อคืนนี้กระผม/อาตมภาพถวายความรู้เกี่ยวกับเรื่องการธุดงค์ และถวายกำลังใจให้กับคณะพระวิปัสสนาจารย์ ๖๔ ซึ่งจัดโครงการธุดงค์ธรรมยาตราเฉลิมพระเกียรติในครั้งนี้ ส่วนใหญ่ก็คือการบอกกล่าวให้ทราบว่า เรื่องของการธุดงค์นั้นไม่ใช่การแบกกลด สะพายบาตร ออกเดินป่า

    การธุดงค์นั้นเป็นหลักการปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสรูปแบบหนึ่ง ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติเอาไว้ เกี่ยวข้องกับการกิน การอยู่ ตลอดจนกระทั่งการนุ่งห่ม มีอยู่ ๑๓ ข้อด้วยกัน

    เรื่องของการกินหรือการขบฉัน อย่างเช่นว่า การเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร การฉันอาสนะเดียวเป็นวัตร เป็นต้น ในเรื่องของที่อยู่ อย่างเช่นว่า อยู่โคนต้นไม้ อยู่กลางแจ้ง อยู่ป่าช้า เป็นต้น ในเรื่องของเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ การถือผ้าสามผืนเป็นวัตร สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อรวมกันเข้าไปแล้ว มีอยู่ ๑๓ ประการด้วยกัน ไม่มีข้อไหนที่กำหนดว่าให้แบกกลด สะพายบาตร ถือกาน้ำ แล้วออกเดินป่า

    การที่ออกเดินป่านั้นก็เพราะว่าครูบาอาจารย์รุ่นเก่าท่านเดินไปเพื่อแสวงหาความวิเวก ไม่ว่าจะเป็นการเดินไปภาวนาไปก็ดี หรือว่าเดินไปเพื่อหาสถานที่เหมาะแก่ใจของตน แล้วอยู่ภาวนาประจำที่นั่นก็ดี ทั้งสองรูปแบบนี้ล้วนแล้วแต่อาศัยความยากลำบากอย่างหนึ่ง ความน่ากลัวของสภาพป่าอีกอย่างหนึ่ง ในการบังคับให้ตัวเองอยู่กับการภาวนา เนื่องเพราะว่าถ้าหลุดออกจากการภาวนา จิตฟุ้งซ่านเมื่อไร ก็จะเริ่มกลัวเมื่อนั้น

    เพียงแต่ว่าเมื่อท่านทั้งหลายเหล่านั้นไปถึงที่พักแล้ว บางทีลูกศิษย์ก็อยากได้ภาพถ่ายของครูบาอาจารย์เป็นที่ระลึก ก็ขออนุญาตถ่ายรูปท่าน ครูบาอาจารย์นั้นด้วยความที่ท่านเป็นบุคคลที่เรียบร้อยตามสารูปในเสขิยวัตร ซึ่งเป็นศีลหมวดหนึ่งที่พระเราต้องปฏิบัติ ท่านจึงห่มดอง พาดสังฆาฏิ แบกกลด สะพายบาตร ถือกาน้ำ ให้ลูกศิษย์ได้ถ่ายรูป

    ในเมื่อมีรูปประเภทนี้ออกมา หรือว่ารูปประเภทที่ท่านนั่งภาวนาอยู่ในกลดบ้าง อยู่ภายใต้กลดที่รวบไว้บ้าง พวกเราท่านทั้งหลายก็ไปคิดว่า นั่นคือการธุดงค์ ความจริงนั่นเป็นการที่ท่านไปอาศัยสถานที่เหล่านั้นเพื่อการภาวนาเท่านั้น
    พระวิปัสสนาจารย์ของเราส่วนหนึ่ง จึงต้องมีภาระในการศึกษาเรียนรู้ให้ถ่องแท้ ถึงเวลาจะได้ชี้แจงให้กับญาติโยมเข้าใจได้ถูกต้อง
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,800
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,564
    ค่าพลัง:
    +26,403
    ในขณะเดียวกัน การธุดงค์ในปัจจุบันนี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ญาติโยมเสื่อมศรัทธาเกือบทั้งนั้น เท่าที่กระผม/อาตมภาพพบมาด้วยตนเอง บุคคลที่ออกธุดงค์นั้น ส่วนหนึ่งนั้นเพราะว่าอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ เป็นบุคคลที่ชอบทำอะไรตามใจตนเอง แม้แต่ครูบาอาจารย์ว่ากล่าวสั่งสอน ก็ทนรำคาญไม่ได้ ท้ายสุดก็แบกกลดสะพายบาตรหนีเข้าป่า..!

    บางท่านก็ออกธุดงค์เสียตั้งแต่วันแรกที่บวชเลย..! ซึ่งไม่ทราบว่าไปเอาแบบธรรมเนียมที่ไหนมา เพราะว่าความรู้อะไรก็ไม่มีสักอย่าง วิชาที่จะคุ้มตนเองก็ไม่มีสักอย่าง อาศัยเห็นภาพเขาแบกกลด สะพายบาตร มีกาน้ำ ก็ทำตามเขาไป แล้วท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็ไปทำผิดทำพลาด ให้คนเสื่อมศรัทธา

    กระผม/อาตมภาพเอง เจอบางคณะเข้าไปดูดยาบ้ากันในป่า..! เมื่อถึงเวลาโดน "ม้าดีด" ตามศัพท์ของผู้ดูดยาบ้า ก็วิ่งแข่งกันขึ้นเขาบ้าง ตกมันจนกระทั่งไม่รู้จะทำอะไร ก็เอามีดสปาตาร์ฟันหัวกันเองบ้าง จนพวกกระผม/อาตมภาพต้องหามร่องแร่งกันออกมาส่งโรงพยาบาล จะปล่อยให้ตายหรือก็เกรงใจ เพราะว่าอย่างน้อยก็เป็นนักบวชห่มเหลืองเช่นกัน แต่ความประพฤติปฏิบัติ
    ของท่านนั้น แทบจะไม่มีความเป็นนักบวชอยู่เลย

    บางท่านถึงขนาดมีฉายาเป็นที่รู้กันในวงการ อย่างเช่น "ท่านตั๊กม้อ" ต้องขออภัยที่เอ่ยถึง ท่านนี้รูปร่างล่ำสันอ้วนใหญ่มาก แล้วก็สักลายทั้งตัว หุ่นเหมือนกับหลวงจีนรบวัดเส้าหลิน เขาจึงให้ฉายาว่า "ท่านตั๊กม้อ" แต่ตอนนี้ท่านมรณภาพแล้ว เหตุเพราะว่าไปในห้วยขาแข้ง แล้วเห็นซากสัตว์ป่าที่เสือกัดล้มอยู่ในแหล่งน้ำ ก็ตรงไปเพื่อที่จะเถือเอาเนื้อมาทำภัตตาหาร

    แต่ว่าเสือนั้นไม่ได้หนีไกล เพียงแต่ว่าตกใจที่มีคนมา จึงหลบไปก่อน ครั้นเห็นท่านตั๊กม้อไปเชือดเนื้อสัตว์ที่ตัวเองล้มเอาไว้ ก็หวงของขึ้นมา จึงกระโดดกัด ทำให้ท่านตั๊กม้อคอหักตาย ภายใต้การกัดเพียงครั้งเดียวของเสือใหญ่ตัวนั้น..!

    อีกท่านหนึ่ง มีฉายาว่า "ท่านสันขวาน" ซึ่งตอนแรก กระผม/อาตมภาพก็ยังสงสัยว่าทำไมมีฉายาประหลาดแบบนี้ เพราะว่าสมัยที่กระผม/อาตมภาพเด็กอยู่นั้น ถ้าเรียกใครว่าไอ้สันขวาน แปลว่าโง่ทึบจนกระทั่งไม่รู้ภาษามนุษย์ ปรากฏว่าเจอหน้ากันครั้งแรก ท่านสันขวานก็มาลูบ ๆ คลำ ๆ บาตรของกระผม/อาตมภาพ แล้วก็บอกว่า "บาตรท่านสวยดี ขอผมเถอะ..!"

    กระผม/อาตมภาพก็อึ้งไปพักใหญ่ เข้าใจทันทีว่าทำไมพรรคพวกถึงได้เรียกท่านว่าสันขวาน เนื่องเพราะว่าบาตร จีวร สังฆาฏิ และสบงนั้น เป็น ๔ อย่างในอัฐบริขารที่พระเราขาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด ส่วนอื่นยังพอขาดได้ ถ้าหากว่าขาด ๔ อย่างนี้ พระอุปัชฌาย์ไม่สามารถที่จะบวชให้ได้ แต่ว่าพระอุปัชฌาย์ที่ท่านเมตตา บางทีท่านก็จัดหาให้จนครบถ้วน แล้วก็บวชให้เช่นกัน สรุปว่าเจอหน้าก็ขอเครื่องมือหากินกันเสียแล้ว โดยที่ไม่ได้คิดเลยว่ากระผม/อาตมภาพจะอยู่อย่างไร ถึงได้เข้าใจว่าทำไมท่านถึงได้ฉายาแบบนี้
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,800
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,564
    ค่าพลัง:
    +26,403
    อีกประเภทหนึ่งเป็นพระธุดงค์ถนนหลวง มีหน้าที่ในการโบกรถ ตอนแรกก็ทำท่าขอน้ำ แต่พอรถเขาหยุดมา ก็ขอให้ไปส่งที่นั่นที่นี่ ทันทีที่ขึ้นรถได้ก็ไม่ยอมลง จนกว่าจะได้รับถวายปัจจัยเท่านั้นเท่านี้จึงยอมลง ทำให้คนเสื่อมศรัทธาเป็นอย่างมาก

    กระผม/อาตมภาพนึกถึงหลวงพ่ออินทร์ สมัยที่ยังเด็กอยู่ หลวงพ่ออินทร์ วัดสระพังนั้น ถ้าหากว่าท่านรับกิจนิมนต์ แล้วญาติโยมเอาม้ามารับก็ดี หรือว่าเอารถมอเตอร์โซด์รุ่นเก่า ซึ่งก็คือรถฮอนด้าที่มีแฮนด์สูง ๆ ซึ่งเขาเรียกกันว่าม้ามีเขา มารับท่าน ท่านก็จะจดจำเอาไว้ว่าเดินทางไประยะทางกี่กิโลเมตร เมื่อกลับจากกิจนิมนต์แล้ว ท่านก็จะมาเดินจงกรมภาวนาชดเชยให้ อย่างเช่นว่าถ้าไป ๑๐ กิโลเมตร ท่านก็ต้องเดินจงกรม ๑๐ กิโลเมตร ไป ๒๐ กิโลเมตร คืนนั้นท่านก็ต้องเดินจงกรม ๒๐ กิโลเมตร เป็นต้น

    เหตุที่รู้เช่นนั้นก็เพราะว่าท่านให้เด็ก ๆ อย่างกระผม/อาตมภาพช่วยกันทำทางเดินจงกรม ยาว ๒๕ วา ก็คือ ๕๐ เมตรถ้วน ๆ ถ้าหากว่าเดินไปกลับก็คือ ๑๐๐ เมตร ถ้าหากว่าไปกลับ ๑๐ ครั้งก็คือ ๑ กิโลเมตรเป็นต้น ในเมื่อสามารถที่จะตรวจสอบได้ในลักษณะนั้น ท่านจึงเดินชดเชยได้
    ในเมื่อครูบาอาจารย์รุ่นเก่า ๆ ท่านเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติขนาดนั้น แต่ว่านักธุดงค์รุ่นใหม่กลับมาโบกรถขออาศัย ในเมื่อรูปแบบก็คือการเดินเพื่อภาวนา แล้วท่านไปอาศัยนั่งรถ ก็แปลว่าวัตถุประสงค์นั้นผิดพลาดไปแล้ว

    ขณะเดียวกันหลายท่านที่ออกธุดงค์ กระผม/อาตมภาพคิดว่าท่านอยู่วัดเสียยังดีกว่า เพราะว่าที่เจอมา ไม่อยากจะเอ่ยนาม เนื่องเพราะว่าท่านยังอยู่ นั่นก็คือท่านไปแล้วใช้ไม้คานสะพายบาตรธุดงค์ หรือเรียกง่าย ๆ ว่าหาบ หาบย่ามธุดงค์ไป ๔ ใบ..! ซึ่งพวกครกกระบากสากกะเบืออะไรของท่านอยู่ในย่ามธุดงค์ ๔ ใบนั้น กระผม/อาตมภาพก็ไม่ทราบ

    ถ้าหากว่าเป็นอย่างหลวงพ่อทวน โฆสโก วัดตีนตก ย่ามธุดงค์ท่านใบหนึ่ง จะหนักไม่ต่ำกว่า ๓๐ กิโลกรัม ถ้าหากว่าท่านนี้มีปฏิปทาใกล้เคียงกัน แล้วไปหาบย่ามธุดงค์ทีเดียว ๔ ใบ กระผม/อาตมภาพคิดถึงน้ำหนักแล้วก็ยังสยดสยองว่า สามารถแบกไปได้ ถึง ๑๐๐ กว่ากิโลกรัม..!
    ในเมื่อเอาข้าวของไปมากขนาดนั้น แล้วท่านจะไปธุดงค์เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อให้เกิดความมักน้อยสันโดษในลักษณะไหน ?
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,800
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,564
    ค่าพลัง:
    +26,403
    อีกส่วนหนึ่งที่ได้เตือนกับคณะธุดงค์ธรรมยาตราของพระวิปัสสนาจารย์ ๖๔ นี้ก็คือ เราเดินกันแบบสบายเกินไป ทำให้ขาดการฝึกฝนเรื่องความพากเพียรและความอดทน คำว่าสบายในทีนี้ก็คือสบายทั้งระยะทางเพราว่าเดินไม่มาก อย่างที่กระผม/อาตมภาพเดินนั้น ปกติก็คือวันละ ๔๐ กิโลเมตร แต่ท่านทั้งหลายเดินกัน ๗ กิโลเมตรบ้าง ๙ กิโลเมตร บ้าง ๑๐ กิโลเมตรบ้าง มีอยู่วันเดียวที่เดิน ๒๐ กิโลเมตร ก็เพียงครึ่งเดียวที่กระผม/อาตมภาพเคยเดิน

    แล้วก็ยังมีคณะเพื่อนฝูงสหธรรมิก ช่วยกันประสานงานกับวัดโน้นวัดนี้ในระหว่างทาง ขอที่พัก และรบกวนให้ทางวัดที่เราเข้าไปพักนั้นถวายภัตตาหารให้ด้วย ก็คือไม่ได้ลำบากด้วยการเดิน ไม่ได้ลำบากด้วยที่พัก ไม่ได้ลำบากด้วยภัตตาหาร แล้วอย่างนั้นเราจะขัดเกลาฝึกฝน โอกาสก็เป็นไปได้น้อยมาก

    อีกส่วนหนึ่งก็คือเราท่านทั้งหลายแบกคำว่าพระวิปัสสนาจารย์ประจำกองการวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทยมา ยิ่งทำให้การปฏิบัติตนของเราลำบากมาก เพราะว่าญาติโยมเมื่อได้ยิน ก็ตั้งความหวังไว้สูงมาก

    ดังนั้น..การที่ท่านทั้งหลายไปอยู่ที่ใดก็ตาม มีการสวดมนต์ทำวัตร มีการฟังครูบาอาจารย์บรรยายธรรม มีการเจริญสมาธิภาวนา แล้วท้ายที่สุดก็รวบรวมปัจจัยในลักษณะกองผ้าป่า ร่วมบุญกับสถานที่นั้น ๆ จึงเป็นสิ่งที่ท่านทั้งหลายสมควรที่จะต้องทำอยู่แล้ว

    เนื่องเพราะถ้าเราไม่ได้ทำ ก็ไม่ได้ชื่อว่าเราออกปฏิบัติธรรมในลักษณะการจาริกธุดงค์
    จึงเป็นภาระใหญ่ที่เราท่านทั้งหลายต้องแบกกิเลสตัวเอง ต้องแบกชื่อเสียงของคณะ และต้องแบกหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และแนวทางการปฏิบัติ ที่พระองค์ท่านวางไว้เพื่อขัดเกลา กาย วาจา และใจของตนเอง ให้เหลือกิเลสน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

    หลังจากนั้นเมื่อขัดเกลาตนเองไปถึงระดับหนึ่ง มีความมั่นใจในหลักธรรมที่ตนเองฝึกฝนอบรมมา แล้วเราก็นำไปเทศนาสั่งสอนแก่ญาติโยมต่อ ถ้าหากว่าทำในลักษณะนี้ สิ่งที่ท่านทั้งหลายพูดก็จะขลัง เนื่องเพราะว่าผ่านการเคี่ยวกรำมาด้วยตนเอง ญาติโยมที่ได้ฟัง ก็จะเกิดความเคารพ เกิดความเชื่อถือ และตั้งใจปฏิบัติตาม ถ้าอยู่ในลักษณะนี้ ท่านทั้งหลายก็จะได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาไปจนกว่าจะครบ ๕,๐๐๐ ปี
     
  6. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    19,800
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,564
    ค่าพลัง:
    +26,403
    เมื่อเสร็จสรรพเรียบร้อย กระผม/อาตมภาพก็ได้ถวายปัจจัย ๕,๐๐๐ บาท ร่วมกองบุญการกุศลกับทางคณะธุดงค์ธรรมยาตรา พระวิปัสสนาจารย์ ๖๔ รุ่นนี้ แล้วก็ขอตัวเข้าที่พัก ครั้นตี ๒ ก็ออกเดินทางจากวัดพระธาตุพนม วรมหาวิหาร กลับสู่ที่พักของตนเอง มาแวะฉันเช้าที่อำเภอเมืองพล จังหวัดขอนแก่น

    ยังคิดว่าพลขับของกระผม/อาตมภาพฝีมือดีมาก เพราะว่าขาไปก็ฉันเช้าที่เมืองพล ขอนแก่น ขากลับก็ฉันเช้าที่เมืองพล ขอนแก่น เหมือนอย่างกับว่าเมืองนี้อยู่กึ่งกลางทางพอดี จากนั้นก็เขย่าตะลอน ๆ กลับมาจนกระทั่งถึงที่พัก จนเกือบจะหลุดเป็นชิ้น ๆ..! พรุ่งนี้ก็ยังมีภารกิจต่ออีกตามวิสัยของตน

    ญาติโยมทั้งหลายอย่าเพิ่งว่ากล่าวว่า กระผม/อาตมภาพแก่แล้วไม่เจียมตัว ยังต้องเดินทางไปไกลขนาดนั้น ถ้าหากว่าท่านมายืนอยู่ในจุดที่กระผม/อาตมภาพยืนอยู่ ก็คือ
    เป็นครูบาอาจารย์ที่เขาเคารพ ที่เขาเชื่อฟัง แล้วท่านทั้งหลายจะไม่ไปให้กำลังใจบรรดาลูกศิษย์ลูกหา ไม่ไปแนะนำให้ท่านกระทำในสิ่งที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือ ?

    ในเมื่อเราต้องทำหน้าที่ให้สมกับการเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส การที่จะเหนื่อย จะหิว จะป่วยไข้ไม่สบาย ก็เป็นเรื่องปกติ เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ถึงเวลาจากไป ก็ไปอย่าง "แหงนหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน" ไปแบบที่เรียกภาษาชาวบ้านว่า "ตายตาหลับ..!"

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...