เรื่องเด่น พระอาจาร์ยเล็ก วัดท่าขนุน ให้ความเห็นด้วยกรณี พระใช้สกูตเตอร์ โดยพิจารณาจาก มหาปเทส ๔

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย WebSnow, 2 สิงหาคม 2021.

  1. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,695
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,020
    image008.png

    พระอาจารย์เล็ก เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน ให้ความเห็นด้วยกรณีพระใช้รถเข็นสกูตเตอร์ออกบิณฑบาต โดยพิจารณาจาก มหาปเทส ๔

    0F242740-A819-43DC-B954-F28DEE1F66D0.jpeg
    เมื่อวันอาคารที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน อาจารย์ประจำวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์ หรือ พระอาจารย์เล็ก พระเกจินักเทศน์ชื่อดังจากจังหวัดกาญจนบุรี ได้บรรยายถวายความรู้แก่พระนิสิต ในวิชา "พระพุทธศาสนากับสถานการณ์ปัจจุบัน" อันมีประเด็นสำคัญที่ได้ยกขึ้นมาอย่างน่าสนใจ ท่านได้ถวายข้อคิดให้แก่พระนิสิตนักศึกษาไว้ดังนี้

    1626422727459 (1).jpg
    "ประเด็นแรกที่อยากจะพูดคือ เรื่องที่หลวงพ่อรูปหนึ่ง ใช้รถเข็นสกูตเตอร์บิณฑบาต คาดว่าทุกท่านน่าจะได้เห็นคลิปกันหมดแล้ว เพราะว่าระยะทางบิณฑบาตของท่านคือ ๖ กิโลเมตร ก็ใกล้เคียงกับที่ผมเดิน คือ ผมเดินประมาณ ๕ กิโลเมตร แต่หลวงพ่อท่านอาจจะอายุมากกว่าผม แล้วก็ต้องใช้ระยะเวลาเดินมาก ญาติโยมถ้าหากว่ารีบไปทำงานก็ต้องรอนาน ท่านก็เลยให้ลูกศิษย์ดัดแปลงสกูตเตอร์ไฟฟ้าขึ้นมาใช้

    ผมดูจากคลิปหลาย ๆ คลิปที่มีคนบันทึกเอาไว้ ท่านไปแบบเรียบร้อยมากนะครับ
    พอเจอญาติโยมก็จอดรถ ถอดรองเท้ารับบาตร ให้พรเสร็จสรรพเรียบร้อย ก็สวมรองเท้า กลับขึ้นรถ
    กดไฟฟ้าให้ทำงาน ไปต่อ..ไปแบบนิ่ง ๆ หล่อ ๆ เลย

    แต่ความนี้ปรากฏว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอ่างทองไปขอให้ท่านเลิกใช้ ซึ่งในส่วนนี้ไม่ทราบเหมือนกันว่า
    นิสิตของเรามีความคิดเห็นว่าอย่างไร ? แต่ถ้าหากว่าเป็นผม ผมว่าใช้ได้นะครับ เหตุที่ใช้ได้ ก็อันดับแรกคือ

    ๑. สมณสารูปไม่ได้เสีย เพียงแต่เป็นภาพที่ไม่คุ้นชินเท่านั้น ประการที่ ๒. ญาติโยมทั้งหมดยอมรับ เท่าที่ผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์มา ไม่มีใครเลยที่กล่าวตำหนิท่านแม้แต่คนเดียว แต่ว่าในส่วนหนึ่งผมอยากจะใช้คำว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอ่างทอง น่าจะลืมดูว่าหน้าที่ของตนเองคืออะไร ? หน้าที่ของสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดก็คือ คอยดูแล สนับสนุน รับใช้การทำงานของพระสังฆาธิการในเขตจังหวัดนั้น ๆ ไม่ใช่มีหน้าที่ไปออกคำสั่งห้าม หรือออกคำสั่งไม่ให้พระทำอะไร


    แล้วในส่วนที่เราจะเอามาตัดสินว่า สิ่งที่พระภิกษุสามเณรทำนั้นถูกหรือผิด พระพุทธเจ้ามีให้ไว้ครบถ้วนแล้วครับ นิสิตทุกท่านน่าจะจำได้ มหาปเทส ๔
    สิ่งใดที่ไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร

    ท่านทั้งหลายจะต้องเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นสัพพัญญู รู้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่นอกเหนือพระธรรมวินัยที่พระองค์ท่านบัญญัติเอาไว้ จะต้องเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

    ในเมื่อเป็นเช่นนั้นก็เลยทรงมอบกฎเกณฑ์ในการตีความ เรียกว่า มหาปเทส คือ ข้ออ้างใหญ่ไว้ ๔ ข้อ ก็คือ สิ่งใดไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร อย่างเช่นว่า พระภิกษุห้ามดื่มเหล้า สุราเมระยะปาเน ปาจิตติยัง ระบุไว้ชัดเจน แต่สมัยนั้นไม่ได้มีการห้ามเสพผงขาว ยาบ้า ยาไอซ์ เราจะไปอ้างว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามแล้วไปทำ ก็ตายแหงละครับ เพราะว่าสิ่งใดที่ไม่สมควร พิจารณาแล้วว่าไม่สมควร สิ่งนั้นย่อมไม่สมควร ชัดเจนนะครับ

    ข้อต่อไป คือ สิ่งใดไม่สมควร ถ้าพิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร

    อย่างเช่นว่า เทอมก่อนท่านทั้งหลายต้องเรียนหนังสือ คราวนี้การเรียนหนังสือของเราคร่อมอยู่ในพรรษา การที่เราจะใช้สัตตาหกรณียะ คือว่ามีกิจจำเป็นแล้วสามารถไปได้ในพรรษาแต่ต้องไม่เกิน ๗ วัน พระพุทธเจ้าทรงอนุญาติไว้แค่ว่า

    พ่อป่วย แม่ป่วย พระอุปัชฌาย์อาจารย์ป่วย ไปเพื่อรักษาพยาบาลได้
    เพื่อนต่างวัดกระสันจะสึก ไปเพื่อห้ามปรามได้
    วัดพัง ต้องไปหาทัพสมภาระมาซ่อมวัดไป ไปได้

    ทายกมีศรัทธานิมนต์ ไปเพื่อเจริญศรัทธาได้ แต่ทั้งหมดต้องไม่เกิน ๗ วัน

    ในเมื่อไม่ได้กล่าวถึงเรื่องของการเรียนแบบสมัยนี้ เราก็ต้องมาพิจารณาว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ แปลว่าไม่สมควร แต่เมื่อเราพิจารณาแล้วว่า
    การที่เราศึกษาเล่าเรียน ก็เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ช่วยส่งเสริมให้เราสามารถเผยแผ่พุทธศาสนาให้ดียิ่งขึ้น และขณะเดียวกัน
    ถ้าหากท่านที่เป็นพระสังฆาธิการ ตั้งแต่ผู้ช่วยเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส เจ้าอาวาสขึ้นไป ศึกษาแล้วก็สามารถบริหารกิจการคณะสงฆ์ได้ดียิ่งขึ้น เมื่อพิจารณาแล้วว่า เป็นการส่งเสริมเพื่อให้เกิดความดีความงามในพระพุทธศาสนา ก็ถือว่าเป็นเรื่องสมควร ดังนั้น สิ่งใดที่ไม่สมควร แต่พิจารณาแล้วว่าสมควร สิ่งนั้นย่อมสมควร


    ขอหยุดไว้แค่นี้ เพราะถ้าหากยกตัวอย่างครบ ๔ ข้อก็จะนานเกิน เพียงแต่ว่าหลวงพ่อท่านที่ใช้สกูตเตอร์บิณฑบาต ถ้าในความคิดของผมเอง เห็นว่าไม่น่าจะผิด เพราะว่าท่านไปโดยเรียบร้อย ยืนตัวตรง
    ไม่ได้มีอากัปกริยาอะไรในลักษณะที่เสียสมณสารูปเลย

    พิจารณาแล้วก็ไม่ผิด เพราะว่าในเรื่องของพระเรามีส่วนหนึ่งที่เรียกว่า "โลกวัชชะ" โลกติเตียน
    แต่คราวนี้ญาติโยมทั้งหมดเห็นด้วย นักข่าวไปสัมภาษณ์ตั้งแต่หัวถนนยันท้ายถนน ๖ กิโลเมตร ทุกคนเห็นด้วยทั้งหมด

    ในเรื่องของพระพุทธศาสนาของเรา เรียนถวายทุกท่านว่า เราต้องตัดสินกันด้วยพระธรรมวินัยก่อน
    ลำดับต่อไป ค่อยให้ความสำคัญกับกฎหมายบ้านเมือง แล้วท้ายสุดถึงจะเป็นจารีตประเพณี

    คราวนี้ผมพิจารณาดูแล้วในเรื่องของพระวินัย ท่านไม่ผิด
    กฎหมายบ้านเมือง ท่านก็ไม่ได้ห้ามเอาไว้ ก็เหลือว่าจารีตประเพณี คือ ค่านิยมในท้องถิ่นนั้น ๆ อนุญาตหรือไม่ ?

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายเคยไปภาคเหนือ ภาคเหนือของเราเวลาจะบวชลูก เขาจะถามว่าจะกินมื้อเดียว หรือจะกินสองมื้อหรือว่าจะกินสามมื้อ..! ถ้ากินมื้อเดียวจะส่งไปบวชสายวัดป่า ถ้ากินสองมื้อก็จะส่งไปสายวัดเมืองทั่วไป

    ถ้ากินสามมื้อ วัดทั้งหลายที่เป็นอย่างนี้มีมากต่อมาก ชาวบ้านไม่ได้ติเตียน ชาวบ้านชอบด้วย เขาบอกว่า ถวายอาหารตอนพระเณรกำลังหิวย่อมได้บุญมาก จารีตประเพณีตรงนี้ของเขา ความจริงจะว่าไปแล้วก็สืบเนื่องมาจากฝั่งพม่า ภาคเหนือของเราโดยเฉพาะเชียงใหม่ ลำปาง พม่าปกครองอยู่ ๖๐ ปีได้นะครับ ก็เลยเอาพระธรรมวินัยแบบพม่ามาใช้กับบ้านเรา พระธรรมวินัยแบบพม่าตีความ ผมต้องบอกว่าเสมอกัน แต่บ้านเราตีความลักลั่นกันครับ

    ท่านทั้งหลายได้ยินแล้วอย่าตกใจนะครับ ผมไม่ได้ค้านพระธรรมวินัยบ้านเรา แต่ตามที่ผมไปศึกษาที่พม่ามา ๖ ปี คำว่า "เวลาวิกาล" พม่าตีความว่า "หลังพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว" ครับท่าน

    เพราะฉะนั้น..การฉันอาหารในเวลาวิกาลเขาก็จะว่ากันประมาณห้าโมงเย็น พระอาทิตย์ยังไม่ตกดินนะครับ เข้าบ้านในเวลาวิกาลของเขาก็คือ หลังพระอาทิตย์ตกดินแล้ว แต่บ้านเราห้ามเข้าบ้านในเวลาวิกาล เราไปตีว่าหลังพระอาทิตย์ตกดินแล้ว แต่ห้ามฉันอาหารในเวลาวิกาล เราไปตีความว่าหลังเที่ยงครับ ตรงนี้บ้านเราลักลั่นกันเองครับ

    เพราะฉะนั้น..ถ้าไปพม่าหรือไปทางเหนือ ถ้าเห็นพระฉันอาหารหรือข้าวในตอนเย็น อย่าเพิ่งไปตำหนิเขานะครับ เพียงแต่ว่านักปฏิบัติธรรมของบ้านเรานี่ค่อนข้างจะเคร่งคัดกว่า ถึงขนาดมีคำพูดว่า "สามมื้อเพื่อกาม สองมื้อเพื่องาน หนึ่งมื้อเพื่อพรหมจรรย์"

    แต่ผมเห็นว่า ถ้าหากว่าพระเณรของเราฉันสามมื้อ จะกังวลกับอาหารมากเกินไป แล้วร่างกายที่หนักด้วยอาหาร จะปฎิบัติภาวนาก็ยากครับ ไปนั่งหลับเสียเปล่า ๆ เหมือนกับท่านทั้งหลาย ถ้าเรียนชั่วโมงบ่ายเมื่อไหร่ก็จะตายให้ได้ คืออยากจะนอนมากกว่า..!

    ในเมื่อเขาเอาค่านิยมทางฝั่งพม่า ที่ตีความพระธรรมวินัยเสมอกันในเรื่องเวลาวิกาล ก็คือหลังพระอาทิตย์ตกดินไปแล้ว และภาคเหนือของเราปกครองโดยพม่ามาประมาณ ๖๐ ปี จารีตประเพณีและค่านิยมทางด้านนั้น ชาวบ้านเขาไม่ตำหนิติเตียนที่พระฉันอาหารในเวลาวิกาล ก็คือถ้าพระอาทิตย์ยังไม่ตกดินก็เป็นอันว่าฉันได้

    ผมเห็นสามเณรเล็ก ๆ ปั่นจักรยานกลับบ้านตอนเย็นนะครับ สักพักหนึ่งก็ปั่นกลับมาพร้อมกับปิ่นโตสองเถา ถวายหลวงพ่อเจ้าอาวาสด้วย ของตัวเองด้วย ญาติโยมทำถวายไว้ครับ

    นี่คือจารีตประเพณีหรือค่านิยมในท้องถิ่น ซึ่งมีอิทธิพลมากนะครับ ถ้าหากว่าจารีตประเพณีไม่ยอมรับแล้ว พวกเราไปทำอะไรเข้านี่เป็นเรื่องเลยครับ แล้วก็ท่านท้ังหลายถ้าหากว่าเป็นชาวอีสาน จะได้ยินคำว่า "ฮีตสิบสองคองสิบสี่" เป็นจารีตหรือแบบอย่างคือค่านิยมท้องถิ่นอีสาน เขาทำกันมาอย่างนั้น อย่างเช่นว่า เข้าป่าอย่าพูดถึงเสือ เขาถือครับ เป็นประเพณี คือแบบอย่างที่เขาทำเอาไว้


    ในเมื่อเป็นเช่นนี้จารีตท้องถิ่นตรงนั้น เขาไม่ตำหนิหลวงพ่อที่ขี่สกูตเตอร์เลยครับ
    แล้วพิจารณาตาม มหาปเทส ๔ ผมก็ไม่เห็นข้อบกพร่องของท่าน มีปัญหาอยู่อย่างเดียวก็คือ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดอ่างทอง "เลยธง" ครับ ภาษาอังกฤษว่าออฟไซด์ (offside) ยิงประตูได้ก็ไม่ได้คะแนน..!

    ฉะนั้น..ถ้าเรื่องทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาของเรา ท่านทั้งหลายที่เป็นนักศึกษา โดยเฉพาะท่านที่เป็นพระสังฆธิการ ควรที่จะชี้แจงทำความกระจ่างให้กับชาวบ้านเขานะครับ บอกกล่าวกันโดยธรรมวินัย โดยเหตุโดยผล ไม่ใช่เถียงกันด้วยกิเลสเพื่อเอาชนะ ชี้แจงให้ชาวบ้านเขารู้ว่า ความเป็นจริงคืออะไร เราจะได้ทำหน้าที่ของพุทธบุตรที่แท้จริง..."

    ◕ ขอเชิญรับชมเต็ม ๆ ในคลิปวีดีโอการเรียนการสอนของพระอาจารย์เล็กในโพสต์ที่สอง ◕
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. WebSnow

    WebSnow ผู้ก่อตั้งเว็บพลังจิต ทีมงาน Administrator

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 เมษายน 2003
    โพสต์:
    8,695
    กระทู้เรื่องเด่น:
    129
    ค่าพลัง:
    +64,020


    พระพุทธศาสนากับสถานการณ์ปัจจุบัน
    บรรยายหัวข้อ พระพุทธศาสนากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดย พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร. เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน อาจารย์ประจำวิทยาลัยสงฆ์กาญจนบุรีศรีไพบูลย์

    บันทึกไว้ วันอังคารที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔ รายวิชา พระพุทธศาสนากับสถานการณ์ปัจจุบัน โดย พระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร.


    หลวงพ่อเล็กวัดท่าขนุน.png
    พระอาจารย์ให้ความรู้และถวายเงินช่วยการศึกษาสงฆ์แก่พระนิสิตรูปละ ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือน รวม ๒๖ รูป

    กราบขอบพระคุณ พระครูวิโรจน์กาญจนเขต, ดร. เจ้าอาวาสวัดบ้านห้วยน้ำขาว
    ผู้บรรยายรายวิชา พระพุทธศาสนากับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เอื้อเฟื้อคลิปวีดีโอนี้
     
  3. สักการะ

    สักการะ ชิวิตดั่งอาทิตย์อัศดง สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    6 กุมภาพันธ์ 2008
    โพสต์:
    4,712
    ค่าพลัง:
    +5,790
    แถวบ้านผมโยมอาสานิมนต์พาหลวงพ่อท่านหนึ่งซึ่งท่านอายุมากแล้วขี่ซาเล้งไปบิณฑบาตรตอนเช้าทุกเช้า เพราะระยะทางไกล ญาติโยมก็ใส่บาตรกันเป็นปกติทุกเช้า ไม่ต่างอะไรกับหลวงพ่อในข่าว
     

แชร์หน้านี้

Loading...