เรื่องเด่น เล่าขานตำนานไสยเวทย์ไทย ตอน " ดาบสรีกัญไชย " พระเวทย์สูงสุดแห่งแผ่นดินล้านนา

ในห้อง 'ประสบการณ์ เรื่องเล่า' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 19 พฤษภาคม 2017.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,555
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,444
    เล่าขานตำนานไสยเวทย์ไทย ตอน " ดาบสรีกัญไชย " พระเวทย์สูงสุดแห่งแผ่นดินล้านนา
    18486111_10213102370583587_5132228288765675688_n.jpg 18486111_10213102370583587_5132228288765675688_n.jpg
    สรีกัญไชย” คำนี้ เขียนตามอักษรธรรมล้านนา ออกเสียงว่า “สะ-หลี๋-กั๋น-ไจ” บางแห่งใช้ “สรีกัญชัย” ก็มี หมายถึงดาบวิเศษของพระโพธิสัตว์ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในนามของดาบศักดิ์สิทธิ์ ที่ครูบาอาจารย์พระเถระสังฆเจ้า ได้เมตตาสร้างไว้เป็นเครื่องรางทรงพุทธานุภาพ ปกป้องคุ้มครองบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ได้มีไว้สักการบูชา กล่าวได้ว่าเป็นที่สุดแห่งศาสตร์พระเวทย์ล้านนา เป็นวิชาชั้นสูงของภาคเหนือก็ว่าได้
    ดาบชื่อนี้ เป็น ๑ ใน ๕ อย่างของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ล้านนา มีรูปลักษณ์ต่างกันออกไป เช่น เป็นดาบยาววาก็มี เป็นดังมีดน้อยก็มี หรือมีด้ามยาวอย่างง้าว ที่ใช้เป็นเครื่องเทียมยศพระพุทธรูป ปักเรียงกับละแอบังสูรย์ ทั้งหมดต่างเรียกขานว่า ดาบสรีกัญไชย และหากจะเทียบศักดิ์แห่งดาบนี้ คงทำนองเดียวกับพระแสงขรรค์ชัยศรีของภาคกลาง รูปแบบดาบโดยละเอียดเป็นอย่างไร เนื้อเหล็กเป็นอย่างไร ในเอกสารล้านนาไม่ได้พรรณนาไว้ รู้แต่ว่าเป็นของวิเศษคู่บุญพระโพธิสัตว์

    หากจะพูดถึงที่มาที่ไปของดาบสรีกัญไชย คงต้องนับย้อนไปถึงตำนานความเชื่อตามโบราณกาล ที่เล่าสืบทอดกันมาว่าพญาอินทร์ (พระอินทร์) หรือสักกะเทวราช ได้มีบัญชาให้พระเวสสุกรรมเทวบุตร ซึ่งเทพผู้เชี่ยวชาญงานช่างของสวรรค์ ลงมาตีพระขรรค์ถวายพระเกตุมาลา ตามตำนานเล่าว่า พระเวสสุกรรมเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในงานช่าง ประกอบกับมีฤทธาอภินิหารพอตัว การตีดาบจึงไม่ใช่ธรรมดา ต้องใช้เหล็กถึงสี่หาบ นำมาผ่านพิธีการเผาตีไล่เนื้อเหล็ก และใช้ว่านยาซัด จนเหลือเป็นพระขรรค์เนื้อบริสุทธิ์เพียงเล่มเดียวมาถวายพระเกตุมาลา

    ด้วยความไม่รู้ถึงพิธีกรรมที่พระเวสสุกรรมได้ตั้งอกตั้งใจทำพระขรรค์วิเศษเล่มนี้ขึ้น เมื่อพระเกตุมาลาเห็นดาบเล่มเดียวก็พาให้คิดว่าพระเวสสุกรรมมีจิตคิดไม่ซื่อ ฉ้อฉลเอาเนื้อเหล็กไปถึงสี่หาบแต่นำพระขรรค์เล่มเดียวมาถวายก็เลยออกปากต่อว่าพระเวสสุกรรม แม้พระเวสสุกรรมไม่ได้พูดตอบโต้อย่างไร แต่ก็บังเกิดความน้อยใจลุกขึ้นลากพระขรรค์เล่มนั้นไปบนท้องพระโรง เกิดเป็นอัศจรรย์ คมพระขรรค์นั้นกล้านัก ผ่าท้องพระโรงแยกออกเป็นสองซีกในทันที จากนั้นเวสสุกรรมก็โยนพระขรรค์เล่มนั้นทิ้งลงไปในทะเลสาบ ดาบสรีกัญไชย จึงจมอยู่ใต้ทะเลสาบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

    ตำนานต่อจากนี้ค่อนข้างจะสับสนและมีหลายกระแส ตามแต่ว่าผู้รจนาไว้เป็นชนชาติใด บ้างก็ว่าพระอินทร์ใช้อิทธิฤทธิ์เรียกเอาดาบสรีกัญไชยขึ้นมามอบให้กับเจ้าเมืองผู้มีบุญาธิการพระองค์หนึ่ง ซึ่งพระองค์ก็ได้ใช้เป็นอาวุธคู่พระวรกายจนสามารถรวบรวมผู้คนตั้งตนเป็นอาณาจักรขึ้นมา อาณาจักรที่ว่านี้ จะเป็นล้านนา ล้านช้าง จะเป็นชนชาติขอม มอญ พม่า ก็สุดจะเดาได้

    บางสำนวนก็ว่า พระเกตุมาลาเห็นปาฏิหาริย์ของดาบสรีกัญไชยจึงได้ไปงมขึ้นมาใช้คู่พระวรกาย และสืบทอดมาจนถึงคนรุ่นหลัง กลายเป็นดาบคู่บ้านคู่เมือง เป็นเครื่องแสดงพระเกียรติยศ หรือที่เรียกว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในที่สุด

    ตำนานมักจะเป็นเช่นนี้แล... เมื่อได้ฟังจากหลายแหล่ง จากผู้เล่าแตกต่างเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ กัน ก็มักจะได้เนื้อหาที่แตกต่างหลากหลาย เพราะผู้รจนาตำนานเหล่านี้ในอดีต ต่างปรารถนาจะสรรเสริญชนเผ่าของตนนั่นเอง แต่ไม่ว่าจะเป็นตำนานฉบับไหนก็ตาม ล้วนมีความเชื่อตรงกันว่า ดาบสรีกัญไชย เป็นดาบวิเศษที่พญาอินทร์ ท่านประธานให้ผู้มีบุญ เป็นของสูง เป็นเครื่องแสดงบุญาธิการ มีอิทธิฤทธิ์ในการปราบเหล่าร้ายศัตรู เป็นต้นตำนานดาบสรีกัญไชยกับพระขรรค์ไชยศรี ::

    ดาบสรีกัญไชยในส่วนที่เกี่ยวพันในแง่ของประวัติศาสตร์มีเล่าขานสืบทอดกันมานานตั้งแต่ยุคสมัยอยุธยากับแผ่นดินล้านนา เนื้อหารายละเอียดแตกต่างกันไปตามความเชื่อถือศรัทธาของผู้บันทึก แต่เนื้อหาหลักพอจะสรุปเป็นสังเขปได้ว่า

    ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการ ทรงแผ่พระราชอำนาจไปทั่วแคว้น พระองค์มีอาวุธวิเศษคู่พระวรกายคือ “พระขรรค์ไชยศรี” ยามเมื่ออกรบทัพจับศึกก็แสดงอานุภาพเอาชนะข้าศึกได้ทุกครั้งไป เป็นพระแสงดาบที่นอกจากจะเป็นอาวุธคู่พระวรกายแล้ว ยังเป็นขวัญกำลังใจให้กับเหล่าแม่ทัพนายกอง ทหารหาญทั้งหลายที่ร่วมทัพอีกด้วย

    ในขณะเดียวกันนั้น อาณาจักรทางล้านนาก็มีพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่งนามว่าพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยเดชานุภาพทั้งในการรบ และการทำนุบำรุงบ้านเมือง พระศาสนาเป็นที่ร่ำลือไปทุกทิศ ยุคนั้นเป็นเสมือนยุคทองของเมืองเชียงใหม่ มีการขยายเขตแดนแสดงอานุภาพออกไปอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกับพระบรมไตรโลกนาถของทางอยุธยา
    การแย่งชิงหัวเมืองที่เป็นยุทธศาสตร์ทั้งด้านการค้าและการสงคราม ถือเป็นภารกิจหนึ่งของพระมหากษัตริย์ในยุคนั้น ซึ่งหนึ่งในหัวเมืองที่เป็นที่หมายปองของอาณาจักรใหญ่ในย่านอุษาคเณย์ นี้ก็คือเมืองเชลียง ด้วยว่าเป็นหัวเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ การแย่งชิงครอบครองเมืองเชลียงจึงเป็นเหตุให้เกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างกรุงศรีอยุธยากับอาณาจักรล้านนา
    สองอาณาจักรยกทัพขึ้นประลองกำลังกันเป็นสามารถ อยุธยามีของวิเศษ คือ พระขรรค์ไชยศรี ส่วนพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาก็ทรงมีดาบวิเศษคู่พระวรกาย คือ ดาบสรีกัญไชย จึงมิได้เกรงกลัวต่อทัพกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด ต่างก็ยกทัพเข้ารบพุ่งกันอยู่เนิ่นนานก็ไม่มีผู้ใดแพ้ชนะ ทำให้ขุนทหารทั้งสองฝ่ายบาดเจ็บล้มตายไปเป็นจำนวนมาก จนสุดท้ายก็ได้เลิกราทัพกลับไป ต่อมาเผ่าไทยทั้งสองหัวเมืองอ่อนแอลงเรื่อยๆ และเสียแก่พม่าทั้งสองอาณาจักรในที่สุด
    เรื่องดาบสรีกัญไชยของพระเจ้าติโลกราช มีข้อถกเถียงกันอยู่ในปัจจุบันหลายกระแส บ้างเชื่อว่าพระเจ้าติโลกราชได้รับดาบอาญาสิทธิ์วิเศษนี้ตกทอดมาจากยุคพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งนครเชียงใหม่ แต่บางตำนานกล่าวว่า ขณะกองทัพอยุธยายกมาถึงนั้น ทางล้านนาทราบถึงความวิเศษของพระขรรค์ไชยศรี จึงประชุมเสนาอำมาตย์ราชครู ผู้มีความรู้มนตราอาถรรพ์ ประกอบพิธีจัดสร้างดาบสรีกัญไชยขึ้น เพื่อรับมือกับพระขรรค์ไชยศรีโดยเฉพาะาลงดาบสรีกัญไชย :::
    ด้วยความเชื่อว่า ดาบสรีกัญไชย เป็นดาบที่ประทานมาจากสวรรค์ เป็นดาบพระอินทร์ การสร้างการเสกจึงต้องมีพระคาถาที่เกี่ยวพันกับพญาอินทร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดาบสรีกัญชัยที่จัดสร้างขึ้นกันในท้องถิ่นล้านนา จะมีการลงด้วยพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นตำราที่หวงแหนกันหนักหนา ซึ่งยันต์แต่ละลูกนับได้ว่าเป็นยันต์ชั้นสูงแทบทั้งสิ้น อาทิเช่น คาถาพญาอินทร์ คาถาจักรพรรดิราช คาถาจักรแก้วพระพุทธองค์ บทชุมนุมพระคาถา หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พ่อคาถา แม่คาถา และที่ขาดไม่ได้ก็คือ พระคาถาสรีกัญไชยที่แตกต่างกันไปแต่ละสำนัก เป็นต้น

    ดาบสรีกัญไชยของครูบาขันแก้ว เมื่อถอดใจความพระคาถาที่จารลงดาบสรีกัญไชยของท่านได้ความดังนี้
    แถวที่หนึ่ง ลงว่า โย เว โว กะ ถัง ลา ลัง กะ โต๋
    แถวที่สอง ลงว่า ติ มะ หัง ตั๋ง มิ มะ นะ
    แถวที่สาม ลงว่า วะ โน โส ยะ เล ตวา ตะ ยะ เส
    วิธีการลงอักขระเป็นแบบค่ายกลบท ใช้สลับกันทั้งสามแถว
    ดาบสรีกัญไชยของครูบาขันแก้ว นับว่าได้รับความนิยมเสาะหากันมากที่สุด
    อีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นพระคาที่ใช้ลงดาบสรีกัญไชย ของหลวงปู่ครูบาอิน อินฺโท วัดคันธาวาส (ทุ่งปุย) จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระคาถาที่จารลงบนแผ่นเงิน และแผ่นทองเหลือง แล้วนำไปผนึกติดกับปลอกดาบ โดยที่ส่วนของใบมีดจะลง “นะชาลีติ” เท่านั้น ครูบาอินตา วัดวังทองจะลงใบมีดด้วยคาถาจ่ายมบาลเท่านั้น
    คาถาดาบสรีกันชัย (ดาบฟ้าหลั่ง)
    โอม ปัตโต เภตะสะหะจักกะวะโร พุทธะมังคะละ สักกัสสามิ ทะสะ เอเก จัมหิ ปะวุดฑิฆัง นะมามิหัง สวาหาย
    สิโลมัง สะเหเห กาเว ติสสันโต มัทธิญาโณ ยันโต ทัสสะ ธะนะสิทธิ สะวิสปะเร เอเตนะสัจจะ วัชเชนะ
    ไชยยะโสตถิ ภะวันตุสัปปะทา สวาหายะฯ
    พระคาถานี้ นอกจากจะเป็นคาถาที่จารแผ่นเงิน แผ่นทองแดงติดปลอกมีดแล้ว ยังเป็นพระคาถาที่ใช้อธิษฐานบูชาดาบสรีกัญไชยของหลวงปู่ครูบาอิน ซึ่งหากท่องบ่นบูชาเป็นประจำ ก็จะบังเกิดฤทธิ์ เช่น จะช่วยป้องกันสิ่งเลวร้ายได้ และยังเป็นวัตถุมงคลช่วยคุ้มครองให้แคล้วคลาดจากภัยอันตรายต่างๆ ป้องกันภูมิผีปีศาจไม่ให้เข้ามากล้ำกรายราวี (เอาแขวนหันออกหน้าบ้าน) ถ้าเจ็บป่วยก็ให้เอาดาบไปแช่ทำน้ำมนต์ แล้วเอาไปดื่ม-อาบ รักษาโรคได้ โดยการอธิษฐานขอบารมีหลวงปู่ครูบาอิน อินโท ท่านช่วยก่อนใช้ดาบ เป็นต้น

    ในส่วนของทางจังหวัดน่าน ก็มีบันทึกพระคาถายันต์สรีกัญไชยตำรับเมืองงาช้างดำ ไว้หลายรูปแบบหลายสำนัก อาทิเช่น ฉบับอารามนาท่อ ฉบับหัวเวียงเหนือ ฉบับฆาราวาสอุ๊ยหนานพญาวงศ์ต๊าวหลวง และ ฉบับสำนักป่าเมี้ยง (ต๋าแหวน) เป็นต้น
    ส่วนพระคาถาลงดาบตำรับเมืองงาช้างดำ ลงเป็นกลบทรูปยันต์ อ่านได้ว่า
    ธุ
    ปะ สิ สะ อิ สวา สุ วุท ธา นัง สวา หะ
    กะ ยะ วะ สะ นะ วะ หะ สะ
    อุ ฆิ ระ เต ว เร หิ สวา หะ
    โส
    รอบล้อมด้วยตัวอุณาโลมทั้งสี่ด้าน เป็นพระคาถาสำหรับลงดาบสรีกัญไชยของแถบจังหวัดน่านที่ได้รับความนิยมมากตำรับหนึ่ง ซึ่งจะเห็นว่าแตกต่างจากของเชียงใหม่และลำพูนอย่างสิ้นเชิง

    ในส่วนของพระเกจิอาจารย์จังหวัดเชียงใหม่ที่สร้างดาบสรีกัญไชยตามตำราโบราณที่เข้มขลัง เชื่อว่าจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือดาบสรีกัญไชย ของพระครูปัญญาวชิรธรรม (พระอาจารย์สุมินทร์) วัดต้นแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี อาจารย์ ปริญญา ณ เชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง พระคาถาดาบสรีกัญไชย ที่ใช้ลงบทแรกเรียกว่า “คาถาสรีกัญไชยพระเจ้า” อ่านว่า
    “ติวิตีธะนุเจต๋า ธะราอาวุธทา จักกาเกปินิกุกุ สังระยะนะจัง นัมปะโยโหนตุเมนิจัง
    เมตตัญจะสัพป๊ะ โลกัสสมิงสาพุทธาหับยะ”
    คาถาสรีกัญไชยพระเจ้านั้น ใช้ได้ทั้งมหาอำนาจปกครองคน ใช้เสริมชะตาชีวิตให้เป็นใหญ่เหนือผู้อื่น ปราบเหล่าข้าศึกศัตรู เด่นทางอำนาจวาสนา อุดมไปด้วยเดชอำนาจบารมี เป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา
    อีกบทหนึ่งเป็นพระ “คาถาบอกไฟแตก” ดีทางข่ามคง จากบันทึกของหลวงปู่คำหล้า ท่านเขียนเอาไว้ว่าให้ทดลองดู โดยเขียนคาถาบทนี้ แล้วเอาอุดลงรูบั้งไฟแล้วจุด บั้งไปจะแตก คือ มีฤทธิ์ห้ามดินปืนนั่นเอง หากเป็นปืนก็คงปืนแตก เพราะตามตำราเขียนไว้ดังนี้นั่นเอง
    พระคาถาทั้งสองบทมีคุณวิเศษ ตำราบอกว่ามีค่าควรเมือง โบราณจารย์มักหวงแหนพระคาถานี้ พระสังฆราชเจ้าลานนาได้บันทึกเอาไว้ในยุคของพระบรมราชาธิบดีที่หนึ่ง หรือพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่พระองค์แรกในวงศ์ทิพจักร (ทิพย์ช้าง)
    พระคาถาทั้งสองบท ลงเป็นตะกรุดบรรจุลงด้ามดาบสรีกัญไชย ของพระครูปัญญาวชิรธรรม (พระอาจารย์สุมินทร์) วัดต้นแก้ว พร้อมทั้งอุดผงวิเศษต่างๆ อีกมากมาย
    วิธีการบูชาดาบสรีกัญไชย:::
    อาจารย์ปริญญา ณ เชียงใหม่ ได้กล่าวถึงวิธีการบูชาดาบสรีกัญไชยของวัดต้นแก้วตามแบบโบราณไว้โดยละเอียดว่า
    ๑. ให้จัดที่บูชาดาบ ให้มีหิ้งบูชา หรือเก็บเอาไว้สูงเกินศีรษะของผู้เป็นเจ้าของ
    ๒. ห้ามนำดาบมาเล่น หรือชักดาบออกจากฝัก เว้นแต่ใช้ปราบผี ให้ชักออกจากฝักแล้วทำน้ำมนต์ ภาวนาด้วยคาถา “เวสสะธัมมะ ราชาสุวัณโณ กะระหิติ” ๗ ครั้ง ผีออกแล
    ๓. ปรารถนาความรุ่งเรือง ให้บูชาด้วยดอกมะลิ ๙ พวงทุกวันพระ
    ๔. ทุกวันพญาวัน ๑๕ เมษายน ของทุกปี หรือตามกำหนดปฏิทินล้านนา ควรมีน้ำส้มป่อยพรมดาบ ภาวนาคาถานวหรคุณ “อะสังวิสุโลปุสะภุพะ” ๗ ครั้ง ดาบจะมีอานุภาพไม่เสื่อมคลาย
    ๕. ดาบนี้อยู่ในเคหะหอเรือนใด อธิษฐานป้องกันคุณไสย คุณผี คุณคน ได้ทั้งปวง
    ๖. ดาบนี้ใช้ข่มอาถรรพ์ ตลอดจนล้างความข่ามคงของศัตรูผู้คิดร้ายได้
    ๗. หากปรารถนาพันช่วงเจริญรุ่งเรือง ให้ภาวนาด้วยบทสรีกัญไชยพระเจ้า ๓-๕-๗-๙ ครั้ง ดังนี้ “ติวิตีธะนุเจต๋า ธะราอาวุธทา จักกาเกปินิกุกุ สังระยะนะจัง นัมปะโยโหนตุเมนิจัง”
    สำหรับวิธีการอธิษฐานใช้ดาบของหลวงปู่ครูบาอิน ท่านให้แขวนหันออกหน้าบ้าน เพื่อป้องกันสิ่งอัปมงคลชั่วร้ายที่จะมากล้ำกลาย ไม่ว่าจะเป็นคุณไสยที่ถูกส่งมา หรือลมเพลมพัดที่มาตามอากาศก็ดี ถ้าเจ็บป่วยก็ให้เอาดาบไปแช่ทำน้ำมนต์ แล้วเอาไปดื่ม-อาบ พร้อมทั้งอธิษฐานขอบารมีหลวงปู่ครูบาอิน อินโท ท่านช่วยก่อนใช้ดาบ สำหรับผู้ที่ถูกภูตผี ให้อธิษฐานใช้ดาบทำน้ำมนต์ มารดราดผู้ถูกผี ถูกของ ก็จะได้ผล
    อธิษฐานเป็นประจำด้วยคาถา “โอม ปัตโต เภตะสะหะจักกะวะโร พุทธะมังคะละ สักกัสสามิ ทะสะ เอเก จัมหิ ปะวุดฑิฆัง นะมามิหัง สวาหาย สิโลมัง สะเหเห กาเว ติสสันโต มัทธิญาโณ ยันโต ทัสสะ ธะนะสิทธิ สะวิสปะเร เอเตนะสัจจะ วัชเชนะ ไชยยะโสตถิ ภะวันตุสัปปะทา สวาหายะฯ” เพื่อเพิ่มพุทธคุณแก่ดาบที่สักการบูชา วันศีลวันพระบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน และประพรมด้วยน้ำขมิ้นส้มป่อย ในวันพญาวัน ๑๕ เมษายน ของทุกปี ซึ่งถือว่าเป็นวันมงคลมหาฤกษ์แห่งปี ควรแก่การสระสรงพระเครื่องวัตถุมงคล ให้มีความศักดิ์สิทธิ์คงทน ตลอดไป
    เมื่อพูดถึงดาบสรีกัญไชย คนเหนือรู้จักกันดี แต่สำหรับเรื่องราวของดาบสรีกัญไชยที่นำมาเสนอนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงที่มาที่ไปในเชิงลึก อุปเท่ห์การสร้าง เสก และสักการบูชาเพื่อให้เกิดผลต่อผู้ใช้อย่างสมบูรณ์ที่สุด แต่ทั้งนี้ ขอให้พึงทราบไว้ประการหนึ่งว่า ของดีสิ่งวิเศษตลอดคุณพระต่างๆ จะดีได้ก็ต่อเมื่อ ผู้ครอบครองมีความเชื่อมั่น และดำรงตนอยู่ในคุณความดีเท่านั้น หากไม่ปฏิบัติรักษาศีล วัตถุมงคลใดๆ ก็ ไม่อาจจะคุ้มครองรักษาเจ้าของได้ จงหมั่นสักการบูชาด้วยความเชื่อมั่นนับถือ และรักษาตนให้ห่างไกลจากสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ดาบสรีกัญไชย สิ่งสูงสุดแห่งพระเวทย์ล้านนานี้ก็จะปกปักรักษา เสริมดวงชะตาของผู้ใช้ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างแน่นอน
    ยันต์ดาบสรี๋กัญชัย คือหนึ่งในพญาแห่งยันต์....(ครูบาขันแก้วว่า..ถ้าเอายันต์นี้ลงพระขรรค์ จะเรียกว่า พระแสงขรรค์ชัยศรี)

    นับย้อนกลับมาถึงการสร้างดาบสรี๋กัญชัย ที่ว่ามีตำราสืบทอด(ถ้าไม่นับของครูบาขันแก้ว ที่รับการสืบทอดยันต์ดาบสรี๋กัญชัย จากตำราของพ่อขุนผาเมืองที่พ่อขุนเม็งรายนำมาซ่อนไว้)จากปั๊บสาหลายฉบับทำให้รู้ว่า อักขระ และยันต์ใดๆก็ตามที่ลงไว้ในดาบ ไม่ว่าจะด้วยพุทธคุณใดๆก็ตาม จะปราบผี ข่มคุณไสย มหาอำนาจ กันสิ่งไม่ดี เพื่อความร่มเย็นเป็นสุข ทางภาคเหนือจะเรียกว่าดาบสรี๋กัญชัย ทั้งสิ้น เพราะด้วยตำราต้นฉบับ(ของพ่อขุนผาเมือง)ได้หายสาบสูญจนกลายเป็นตำนานเรื่องดาบวิเศษ เลยทำให้หลายๆที่จึงคิดค้น และรจนามาผูกเป็นยันต์ดาบสรี๋กัญชัยใหม่ ที่เห็นๆปั๊บสาของทางภาคเหนือและค้นคว้ามาน่าจะมีไม่ต่ำกว่า30ตำราที่ว่าด้วยการสร้างยันต์ดาบสรี๋กัญชัย ทั้งเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ตาก พะเยา เชียงราย อุตรดิตถ์(บางบ้านที่สืบตำรามาก็มี) และการลงอักขระจะแตกต่างกัน ส่วนบทเสกพระคาถาที่หลายๆครูบาอาจารย์ท่านก็ได้นำบทสวดมนต์ของผูกธรรมชื่อ บทไชยะสังคหะคาถา ในพระธรรมคาถานี้ท่านก็ได้กล่าวถึงดาบวิเศษสรี๋กัญชัยเช่นกัน และบางตำรางก็ว่าด้วย หนึ่งในพระคาถา ปโชตา บทที่9,12,14 ที่เป็นพระเวทย์ใช้เสกดาบวิเศษ

    การลงยันต์อาจจะลงยันต์เช่น จั๋กขะวุธหลวง หรือลงคาถาดาบพระเจ้า อาวุธพระอินทร์ บางตำราจะลงคาถาอื่นแตกต่างกันออกไป อักขระที่ลงในดาบอาจจะเพี้ยนกันไปตามพื้นแตกต่างกันไม่กี่ตัวเช่น

    1.ปะติสะ อิสวาสุ อิทานังฯ – ปะติสะ อิสวาสุ อินตานังฯ

    2.โยเวติวาวัง กังละลาก๊ะโต๋ฯ – โยเวโววะกัง ก๋าลังก๊ะโต๋ฯ

    3.อมสัปเปเวสสุวัณโณ อาวุธธา วุธิธัง สัปเปเตวา ปิศาเตวา อัปป๋ะรายันตุ๋ฯ

    – อมสัปป๊ะเวสสุวัณโณ อาวุธธัง วุธธิยัง สัปเปเตวา จ๋ะ ปิศาต๋า อัปป๋ะรายันตุ๋ฯ

    4.เวสสุวัณโณ มหาราจา จ๊ะตุ๋โลก๋า อาวุธธานัง กัสสะ อ๋ะมุมหิ๋ โอก๋าเสติ ถาหิ๋

    – เวสสุวัณโณ มหาราจา จ๊ะตุ๋โลเก๋ อาวุธธะนัง กัสสะ อ๋ะอุ่งหิ๋ โอก๋าเสติ ถาหิ๋

    ถ้ามาลองวิเคราะห์กันจริงๆแล้วคาถาลงดาบอาจจะเพี้ยนกันไปตามที่สืบทอดกันมาด้วยเหตุเพราะการคัดลอกนั่นเอง และนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญของดาบสรี๋กัญชัย หากแต่อยู่ที่อำนาจจิต และพิธีที่บริสุทธิ์

    นี่เป็นแค่ตัวอย่างบางคาถาที่ลงในดาบ สรี๋กัญชัย

    แม้กระทั่งพระเจ้าติโลกราชพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ด้วยพระบารมีแห่งล้านนาเองก็เคยได้ยินตำนานเรื่องดาบวิเศษ ท่านก็เลยให้พระเถรานุเถระพระอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษในสมัยนั้นแต่งพระยันต์ดาบสรี๋กัญชัยนี้ขึ้นมาใหม่

    การสร้างดาบสรี๋กัญชัย

    นับเป็นเรื่องที่ใหญ่มากเวลาจะสร้างดาบ สรี๋กญชัย หรือ พระแสงขรรค์ชัยศรี ต้องหาฤกษ์ ยามงามดี วันแข็ง เช่นวันพญาวัน หรือ ขึ้น15ค่ำเดือน8(เหนือ) หรือวันเสาร์5(เป็นต้น) ต้องมีการบอกกล่าวครูบาอาจารย์และสิ่งศักสิทธิ์ผู้เป็นใหญ่ก่อน มีเครื่องบายศรีตามตำราท่านระบุไว้ และบางตำราท่านกล่าวว่าจะทำครั้งละไม่เกิน1เล่ม(แต่ยุคหลังมีการจ้างโรงงานทำ แล้วมาให้หลวงพ่อเข้าพิธีปลุกเสก)เพราะว่าเป็นอาวุธวิเศษและฤกษ์ในการทำปลุกเสกท่านมีเวลาจำกัด

    ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บกายสิทธิ์และอ.กบ สำนักพยนต์ล้านนาที่ให้ข้อมูลครับ
     
  2. เพชรฉลูกัน

    เพชรฉลูกัน ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ สมาชิก Premium

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    18,441
    กระทู้เรื่องเด่น:
    24
    ค่าพลัง:
    +23,181
    ดาบสะหรี๋กัญไจย.....ยังดีเรื่องปราบโรครักษาโรคที่รักษาไม่หายก็ได้หายอย่างอัศจรรย์ด้วยนะครับ
     
  3. นะมัตถุ โพธิยา

    นะมัตถุ โพธิยา เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    618
    ค่าพลัง:
    +2,269
    สุดยอด...ดาบศักดิ์สิทธิ์ ครับ

    กราบ กราบ กราบ
     

แชร์หน้านี้

Loading...